180 20 Sep 2024
เมื่อวานมีน้องทักแซวเล่นๆ เรื่องผมกำลังนั่งเหลาเบ็ด ว่า “กะอีแค่ปลา จะมัวใส่ให้ลำบากทำไม อยากกินปลาอะไรก็ไปซื้อเอา..” ซึ่งความจริงก็ถูก นะครับ ยุคปัจจุบันนี้ ชีวิตคนมีต้นทุน หรือมีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยๆ ก็ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอื่นๆ ที่ต้องจ่ายทุกวันทุกเดือน ฉะนั้น การคิดจะทำอะไร แต่ละอย่าง ต้องคำนวณ ความคุ้มทุน หรือ รายรับรายจ่าย คำนวณค่าแรง หรือค่าตอบแทน ขั้นต่ำ เพราะชีวิตจริงๆ คนปัจจุบันนี้ มีค่า... อย่ามาโลกสวย ชีวิตพอเพียง ซึ่งไม่มีอยู่จริง มีแต่ชีวิตพอจ่าย หรือ ไม่พอจ่าย ?
กระนั้น ชีวิตคนเรา ถ้าคิดทำอะไร ต้องมีค่าตอบแทน คุ้มเหนื่อย โลกใบนี้จะมีอะไรน่าอยู่ บางครั้ง ความสุข ความสงบ ความอบอุ่นย้อนกลับไปหาวัยเยาว์ ไปสัมผัสมโนภาพชีวิต เก่าๆ ตอนเด็กๆ สภาวะแบบนี้ เราจะซื้อมาด้วยราคาเท่าไหร่ ?
ชีวิตมนุษย์ ถ้าปรารถนาจะรักษา ความเป็นมนุษย์ไว้กับตัว จะต้องไม่สนใจแค่วัตถุ เงินทอง หรือค่าตอบแทน หากแต่ความมนุษย์นั้น เป็นทั้งสัตว์สังคม และ เป็นสิ่งมีชีวิตที่จินตภาพนำทาง มองยอดหญ้าไหว เป็นบทกวี มองแสงแรกแห่งอรุณเป็นความหวังเป็นรอยยิ้มของคนรัก มองทุ่งนาเป็นฉากรักหวานๆ และคำสัญญาในวันเกี่ยวข้าว มนุษย์ การมีชีวิตของมนุษย์ มีความหมายหลากหลายมิติ
เบ็ด ไม่ใช่แค่ ปลา เบ็ดมาจากไผ่ ก่อหนึ่งที่หลายคนใช้ด้วยกัน ไผ่เมื่อเหล่าลงไป กลายเป็นเครื่องจักรสาน กลายเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงภูมิปัญญา การสืบทอด จากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเป็นเบ็ด จะต้องหมายถึง เหยื่อ และเหยื่ออะไร ใส่ตอนไหน ฤดูไหน ใส่แบบไหน ใส่เอาปลาอะไร เพราะปลาแต่ละชนิด ชอบกินเหยื่อไม่เหมือนกัน ไส้เดือน ไส้ไก่ ลูกกบ ลูกปลาหมอ ลูกอ๊อด ลูกปู ฯลฯ ได้ปลามาแล้ว จะทำอะไร เมนูไหนอร่อย หรือจะขาย หรือจะแบ่งปัน เพื่อนบ้าน
การออกไปละครั้ง หรืออย่างผม คือ 2-3 ปี ออกไปครั้ง มันทำให้เราได้ไปเห็น ไปสัมผัส ว่า แผ่นดินบ้านเรา มีอะไรอยู่ อะไรหายไป ต้นไม้ หุบห้วย บึง หนอง หรือแม้แต่ พืชผัก กบ เขียด ปู ปลา ล้วนเปลี่ยนแต่แปลง หลายที่เคยมีน้ำ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว หลายที่เคยมีปลาชุกชุม ตอนนี้สักตัวก็ไม่มี เหมือนการได้ออกไปสำรวจ ภูมิประเทศ สำรวจทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร และบันทึกการมีอยู่การหายไป ตลอดกาล ของหลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่ในความทรงจำของเรา
ปลา เองก็มีหลายอย่างให้สั่งสอน อบรมบ่มนิสัยลูกหลาน อาทิ มีนิทานเรื่องหนึ่ง สอนลูกหลานว่า มีปลาช่อนใหญ่ 1 ตัว ทำอย่างไรถึงจะได้กินนาน ๆ ลูกบางคนว่า ทำแล้วแบ่งแช่ตู้เย็น บ้างว่าทำน้ำพริก (เพราะใช้เนื้อปลาน้อย) อีกคนว่าทำปลาร้า ทำเค็ม บ้างว่า ทำแดดเดียว และอีกคนว่า แบ่งเพื่อนบ้านกิน ได้นาน เพราะวันหน้าเพื่อนบ้านก็แบ่งเราคืน ไม่จบไม่สิ้น!!
ชีวิตคนเรา ควรมีอยู่เพื่อเป็นเบ้าหลอม เพื่อสร้างการสืบสานวิถี สืบสานภูมิปัญญา วัฒนธรรม หรือเพื่อฝึกฝนทักษะการช่วยเหลือตัวเองในการดำรงชีพ การตัดไผ่ก็ดี การเหลาไผ่ การทำเบ็ด การหาปลา การทำอาหาร และการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน ทั้งหมดคือ การภาพการมีชีวิตของคนชนบท มาแต่โบราณ
ผมชอบออกไปหาปลาบ้าง ไม่ใช่เพราะ อยากกินปลา แต่อยากออกไปทบทวนปรัชญาการมีชีวิตของผม ออกไปเล่นหัว พูดคุย เฮฮากับเด็กๆ ในหมู่บ้าน ทำไมผมต้องออกไปเฮฮา เพราะคนเดียวนี้ ต่างคนต่างอยู่ กลายเป็น 1 ชุมชน 2 วิถี คนใช้ชีวิตแบบเมืองก็เยอะ และคนใช้ชีวิตแบบคนชนบท ก็ยังมี และที่ผมเลือก คือแบบหลัง นั่นเพราะผม รู้ตัวมาตลอด ว่า ผมเดินพาตัวเอง ไปตายบนเมรุไม่ได้ หรือ ตายแล้วผมลุกมาเผาตัวเอง เก็บอัฐิ เอาไปทิ้งเอาไปฝังเองไม่ได้ ผมต้องอาศัยคนอื่น อาศัยลูกหลาน รุ่นหลัง อาศัย น้ำจิตน้ำใจ คนในชุมชน ร่วมแรงร่วมใจกันมาจัดการธุระให้ ประกอบพิธีให้
สิ่งที่ผมคิดนี้เอง ที่ทำให้ผมกลับบ้าน เลือกที่จะมาแก่ตายที่บ้านเกิด ไม่ใช่ในเมือง และคิดเสมอว่า การเกิดมาเป็นคน อย่าสนใจแค่ตัวเอง เพราะชีวิต สักวันหนึ่งไม่ว่ายังไง เราต้องพึ่งพาคนอื่น
ยามนี้ และฤดู นี้ จึงเป็นห้วงยามที่ผมมีเวลา อยู่กับเด็กๆ ได้ต่อเติมความรักความผูกพันกับคนในหมู่บ้าน ซะบ้าง... นี่แหละคือ เหตุผลว่าทำไม ผมต้องออกไปใส่เบ็ด ที่ไม่ใช่เพราะ อยากกินปลา!!
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
20 Sep 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม