1475 26 Oct 2021
พื้นที่นา 1 ไร่ ของชาวบ้านบ้านกล้วยเภา ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นแปลงทดลองเพื่อศึกษารูปแบบการจัดการนาผสมผสานระบบอินทรีย์เลี้ยงปลาในนาข้าว โดยทีมวิจัยของสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อได้ผลการวิจัยแล้วจึงนำกลับคืนความรู้สู่ชุมชน องค์ความรู้นี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยและนักวิจัยชุมชน ซึ่งทำงานร่วมกันทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มพัฒนาแปลงทดลอง ดูแลรักษา เก็บข้อมูลเพื่อการวิจัย เก็บเกี่ยวผลิตและทดลองแปรรูปจำหน่าย สมาชิกชุมชนจึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของผืนนาแห่งนี้ สนใจติดตามผลจากการศึกษาวิจัย
นางสาวจิตรา จันโสด หัวหน้าทีมวิจัยให้ข้อมูลว่า รูปแบบการจัดการนานี้ใช้ชื่อว่า “โมเดลนาสร้างสุข” ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียงบนพื้นที่นา 1 ไร่ มีการทำนาข้าวสังข์หยดอินทรีย์ร่วมกับการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย 10,000 ตัว ได้ผลผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์ 400 กก./ไร่ เนื่องจากปัญหาอุทกภัยซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาบนผืนนาแปลงเดียวกันทำได้ 700 กก./ไร่ วิธีการปักดำด้วยจำนวนต้นกล้า 3 ต้นต่อกอระยะห่าง 25x25 ซม. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์สูตร ICOFIS ในช่วงข้าวอายุ 30 วันหลังปักดำครั้งเดียว ทำให้ต้นข้าวเติบโตได้ดี วิธีการนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ส่วนปลาดุกมีอัตราการรอดร้อยละ 80 ได้น้ำหนักปลารวม 1,314 กก. ได้นำผลผลิตไปตรวจหาสารสำคัญแสดงปริมาณคุณค่าทางโภชนาการ และคำณวนต้นทุนการผลิต เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตจริงของชุมชน เช่น ใช้เพื่อวางแผนการควบคุมต้นทุน และการประเมินความคุ้มทุนในระยะต่างๆ
นางสาวพิมพ์ชนก แก้วอุดม นักวิชาการที่ดูแลด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ได้ทดลองแปรรูปปลาดุกเป็นปลาดุกแดดเดียวเพื่อจัดจำหน่าย “สถาบันฯ ได้ถ่ายทอดกระบวนการแปรรูป ขั้นตอน สูตรและอธิบายความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ของปัจจัยที่มีต่อคุณภาพผลผลิตให้ชุมชนเข้าใจ แนะนำโอกาสในการเพิ่มมูลมูลค่า เช่น การสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้า การแสดงคุณค่าทางโภชนาการ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยในเรื่องการเก็บรักษาและนำไปเป็นของฝากได้ เป็นต้น”
นายพนม อินทรีย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านกล้วยเภา ได้เป็นตัวแทนของชุมชนขอบคุณมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่พัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้ชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์ และในปีนี้ก็จะนำระบบการจัดการนานี้ไปใช้ในครัวเรือนของตนเองด้วย นอกจากนี้ผู้ใหญ่พนมยังให้ข้อมูลว่าสถานการณ์ของการจำหน่ายข้าวอินทรีย์ยังคงขึ้นอยู่กับกลไกทางสังคม การพัฒนาระบบกลุ่มที่เข้มแข็ง เช่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ในมิติด้านความสุขชุมชนเห็นพ้องต้องการว่าโมเดลนาสร้างสุขเป็นการนำศาสตร์พระราชาผนวกกับศาสตร์สากลมาใช้สร้างความมั่นคงทางอาหาร มีความสุขจากการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวและในชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชนและมีกิจกรรมต่อเนื่อง ทำให้ในระยะเวลาที่ผ่านมาชุมชนบ้านกล้วยเภาเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ผู้ที่สนใจข้อมูลการทำนาผสมผสานระบบอินทรีย์ สามารถติดต่อสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (นางสาวจิตรา จันโสด หัวหน้าโครงการ) Facebook : Icofis Tsu
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม