974 05 May 2021
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงาน กสทช.เมื่อ 20 เม.ย.64 หลังพิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดัง ได้หวนกลับคืนสู่หน้าจอโทรทัศน์อีกครั้ง ทั้งๆที่ยังไม่พ้นโทษเพียงแต่ถูกพักโทษให้ออกจากเรือนจำ แต่ยังติดกำไลอีเอ็มที่ข้อเท้าไปอีก 14 เดือนและต้องรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติไปจนกว่าจะพ้นโทษ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อกฎหมายและหรือขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์นั้น
การร้องเรียนดังกล่าวสำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมายังสมาคมฯว่า ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมสื่อมวลชนนั้น สำนักงาน กสทช.มีอำนาจดำเนินการตาม พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ม.40 ที่ระบุว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากรายการที่ออกอากาศเป็นเท็จหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการฯ ให้คณะกรรมการส่งเรื่องพร้อมความเห็นของคณะกรรมการให้องค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตาม ม.39 เพื่อให้ดำเนินการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายโดยเร็ว และให้คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการขององค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตาม ม.39 เมื่อองค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตาม ม.39 ได้แจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบแล้ว ให้แจ้งผู้ร้องเรียนทราบผลการดำเนินการโดยเร็ว
การนี้ สำนักงาน กสทช.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทต้นสังกัดของนักเล่าข่าวชื่อดังดังกล่าว และองค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พิจารณาและดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของสมาคมฯต่อไป
ทั้งนี้ ตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ 2553 ประกอบธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 2563 ได้กำหนดความรับผิดทางจริยธรรมไว้ว่า เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสังกัดสมาชิกละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ต้นสังกัดสมาชิกที่ถูกร้องเรียน ลงตีพิมพ์หรือประกาศเพื่อเผยแพร่คำวินิจฉัยหรือประกาศเพื่อเผยแพร่ข้อความคำขอโทษต่อผู้เสียหายตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ และให้ส่งคำวินิจฉัยไปยังต้นสังกัดของผู้นั้น เพื่อดำเนินการลงโทษ แล้วแจ้งผลให้สภาการสื่อมวลชนทราบโดยเร็ว
ในกรณีที่เห็นสมควร สภาการสื่อมวลชนอาจตักเตือน เป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากแจ้งผลการพิจารณาให้แก่ผู้ถูกร้องเรียนทราบแล้ว ให้สภาการสื่อมวลชนเผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะต่อไป ส่วนความรับผิดชอบที่นอกเหนือไปจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับนักเล่าข่าวชื่อดังและต้นสังกัดจะแสดงความสำนึกมากน้อยเพียงใด ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้ายเอง เพราะสำนึกแห่งจริยธรรมนั้นอยู่เหนือกฎหมาย ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกชั่วดีของแต่ละคน เพราะบางคนบางบริษัทอาจไม่สนใจในเรื่องเหล่านี้หวังเพียงแค่ให้มีเรตติ้งเยอะๆ มีโฆษณาเข้ามากๆเท่านั้น ไม่สนใจเรื่องจริยธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคมเลยก็ได้ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
16 Jan 2025
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
16 Jan 2025
16 Jan 2025
16 Jan 2025
16 Jan 2025
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม