SEALECT ทูน่า …ทราบแล้วเปลี่ยน! เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อแรงงาน และมหาสมุทร

4271 16 Oct 2015

ทูน่ากระป๋องที่เรากินอาจไม่ได้ดีต่อสุขภาพของคน (แรงงานบนเรือประมง) และท้องทะเลดังคำโฆษณา และหนึ่งในแบรนด์ทูน่ากระป๋องชื่อดังอย่าง ซีเล็ค ทูน่า ของเครือไทยยูเนี่ยน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เคยเกี่ยวข้องและยังคงเพิกเฉยกับวิธีการประมงแบบทำลายล้าง  และคร่าชีวิตสัตว์ทะเล อย่างฉลาม รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้อย่างไม่เป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทาน แต่หากไทยยูเนี่ยนหันมาเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างความเป็นธรรมต่อแรงงานและมหาสมุทร อุตสาหกรรมปลาทูน่าทั่วโลกก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงตามได้ ด้วยการยกระดับมาตรฐานและหลักการปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรมจากบทบาทผู้นำระดับโลกของไทยยูเนี่ยน

แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่คนชอบกินปลาทูน่าจะต้องหันมาใส่ใจ และตั้งคำถามว่าปลาทูน่ากระป๋องที่เราหาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น มีที่มาที่ทำร้ายแรงงานบนเรือประมงและท้องทะเลหรือไม่

รู้จักกับไทยยูเนี่ยน และบทบาทความเป็นอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ไทยยูเนี่ยน เป็นผู้ผลิตทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก ทูน่ากระป๋องทุก 5  กระป๋องที่ส่งสู่ตลาดโลก จะมี 1 กระป๋องมาจากไทยยูเนี่ยน และถูกนำมาจำหน่ายเป็นทูน่ากระป๋องที่หาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป นอกจากซีเล็ค ทูน่า ของไทยแล้ว ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ชื่อดังอื่นๆ ทั่วโลก อาทิ Petit Navire, John West, Chicken of the Sea, Century Tuna, และ Mareblu ในห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์เหล่านี้มีเบื้องหลังที่เชื่อมโยงกับการทำประมงอย่างไม่รับผิดชอบต่อมหาสมุทร และต่อแรงงานบนเรือประมง ซึ่งกรีนพีซได้ทำการสำรวจภาคสนามในหลายประเทศ และจัดอันดับทูน่ากระป๋องแบรนด์ต่างๆ พบว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องส่วนใหญ่ของไทยยูเนี่ยนที่ขายยังขาดหลักการพื้นฐานว่าด้วยความยั่งยืนและเป็นธรรม (ดูการจัดอันดับผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องทั่วโลกได้ที่นี่ และของประเทศไทยที่นี่) ไม่เพียงแค่แบรนด์ที่ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของ อย่างเช่น ซีเล็ค ทูน่า และ โอเชี่ยนเวฟ เท่านั้น แต่ยังมีแบรนด์ที่ไทยยูเนี่ยนจัดหาวัตถุดิบให้ อย่าง ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี และโฮมเฟรช มาร์ท ซึ่งนั่นหมายความว่าห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์เหล่านี้เคยเกี่ยวข้องและยังคงเพิกเฉยกับการกระทำอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างเช่นกัน

ซีเล็ค ทูน่ามีสัดส่วนการจำหน่ายถึงร้อยละ 43 ของตลาดทูน่ากระป๋องในประเทศ โดยจากการสอบถามเพื่อทำการจัดอันดับผลิตภัณฑ์กับแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋อง  ซีเล็ค ทูน่ามีจุดแข็งตรงที่การเลือกใช้ปลาทูน่าท้องแถบที่เป็นสายพันธุ์ที่ยังมีปริมาณอุดมสมบูรณ์มากสุด แต่กลับพบว่าได้มาจากวิธีการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน คือการจับโดยใช้อวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา (FADs) ในปริมาณมากถึง 3 ใน 4

ในฐานะที่ซีเล็ค ทูน่า มีส่วนสำคัญหลักในการยกระดับอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องตลอดห่วงโซ่การผลิตของผู้ค้าปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทย และยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการการทำประมง การซื้อและจำหน่ายปลาทูน่าด้วยวิธีที่ถูกกฎหมาย ยั่งยืนและมีความเสมอภาค โอกาสนี้กรีนพีซจึงรณรงค์และผลักดันซีเล็ค ทูน่า เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะได้มั่นใจว่าปลาทูน่าเรากินกันนั้นไม่ได้มาจากการทำประมงแบบ IUU หรือเป็นปลาที่ถูกจับด้วยวิธีที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ และสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล 

ทูน่ากระป๋องของประเทศไทย กับสายพันธุ์ที่เรากินในทูน่ากระป๋อง

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก โดยสามารถสร้างรายได้ จากการส่งออกปลาทูน่าปีละหลายหมื่นล้านบาท และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในไทยมีการนำเข้าปลาทูน่าท้องแถบมาใช้เป็นวัตถุดิบมากที่สุด และอันดับสองคือปลาทูน่าครีบเหลือง รองลงมาคือปลาทูน่าครีบยาว ส่วนสายพันธุ์ที่พบได้ในประเทศไทย คือ ปลาโอดำ และปลาโอลาย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปลาทูน่าในประเทศไทยได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการส่องออกของอุตสาหกรรมปลาทูน่าในประเทศไทยได้ที่นี่ 

วิธีการประมงแบบทำลายล้างในห่วงโซ่อุปทานที่ไทยยูเนี่ยนมีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเชื่อมโยงกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม  การประมงผิดกฎหมาย และการทำลายระบบนิเวศทางทะเล โดยทางไทยยูเนี่ยนออกมากล่าวว่า “ปริมาณปลาของไทยจัดอยู่ในขั้นวิกฤต ถึงแม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางทรัพยากรในอ่าวไทยและทะเลอันดามันก็ตาม” วิธีการทำประมงปลาทูน่าของไทยยูเนี่ยน

แม้ว่าสายพันธุ์หลักที่เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องในแบรนด์ต่างๆ ของไทยยูเนี่ยน คือพันธุ์ปลาทูน่าท้องแถบ แต่ยังมีการประมงปลาทูน่าสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย คือ ปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาทูน่าครีบยาว ปลาทูน่าตาโต และปลาโอดำ ซึ่งบางส่วนนั้นมาจากการประมงเกินขนาด และการประมงด้วยเครื่องมือที่ทำลายล้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้อวนล้อมควบคู่กับอุปกรณ์ล่อปลา (FADs) และเบ็ดราว โดยปลาทูน่าตาโตนั้น สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดอยู่ในสายพันธุ์ที่เสี่ยง ส่วนปลาทูน่าครีบเหลือง และปลาทูน่าครีบยาว ถูกจัดไว้ในข่ายใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) หากไทยยูเนี่ยนซึ่งเป็นอุตสหกรรมทูน่าอันดับหนึ่งของโลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดหาวัตถุดิบของตน อาจเป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุที่ปลาทูน่าสายพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้หมดสิ้นไปได้

วิธีการประมงแบบทำลายล้างเช่นนี้ ทำให้นอกจากปลาทูน่าเป้าหมายแล้ว ยังมีสัตว์ทะเลชนิดอื่น เช่น ฉลาม เต่า และกระเบน ถูกคร่าชีวิตไปด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้นการประมงปลาทูน่าอย่างไร้ความรับผิดชอบ ยังเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากใช้วิธีหลบเลี่ยงด้วยการขนถ่ายกลางทะเล (Transshipment)

แต่อุตสาหกรรมปลาทูน่าที่เป็นปัญหานี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แรงงานบนเรือประมงและในสายพานการผลิตต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ทะเลและมหาสมุทรจำต้องได้รับการปกป้อง ผู้บริโภคทุกคนควรมีข้อมูลที่โปร่งใสและชัดเจนเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง  แทนที่จะเพิกเฉยต่อความจริง นี่คือโอกาสของซีเล็ค ทูน่า และไทยยูเนี่ยน ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อความเป็นธรรมต่อแรงงานและปกป้องมหาสมุทร

หากไทย ยูเนี่ยนสร้างความโปร่งใสและมีภาระรับผิดตลอดห่วงโซ่อุปทานของตน เรือประมงทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงทำลายล้าง รวมถึงการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมก็ไม่อาจเข้าถึงตลาดชั้นนำในอเมริกาเหนือ และยุโรปได้

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์ระดับโลก และสร้างความเป็นธรรมต่อแรงงานและปกป้องมหาสมุทร

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/sealect/blog/54388/

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม