1038 16 Apr 2023
ภาคประชาสังคมย้ำ นโยบายพรรคการเมืองต้องรับรองสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย รวมถึงสิทธิพลเมือง
สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ
เด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและกลุ่มชาติพันธุ์ ในประเทศไทย
กรุงเทพฯ, 4 เมษายน 2566 - ภาคประชาสังคมจัดงานแถลงข่าว “เลือกตั้ง 2566 : ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society's Agenda for the 2023 Thailand Election)” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลายประเด็น ครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก สตรี ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ต่อตัวแทนพรรคการเมืองและสาธารณชน
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ซึ่งให้วันที่ประกาศ
ราชกิจจานุเบกษา การยุบสภา ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างช้าที่สุด 45-60 วัน นับตั้งแต่วันยุบสภา ซึ่งต่อมา กกต. มีมติให้วันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมต่างได้จัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อนำเสนอต่อผู้สมัครพรรคการเมือง เพื่อกระตุ้นให้การจัดทำนโยบายต่าง ๆ ของพรรคการเมืองควรมาจากการฟังเสียงของประชาชน และให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่าง ๆ ที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่ทำวิจัยประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาหลายปี เห็นว่าการละเมิดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในหลายประเด็น โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทไทยเข้าไปลงทุนหรือรับซื้อผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านที่กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอ่อนแอหรือไม่มีเลย ในยุคที่การเคารพสิทธิมนุษยชนกำลังกลายเป็น "จรรยาบรรณสากล" ในการประกอบธุรกิจ
“จึงอยากให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอนโยบายกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจที่วางอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เพื่อยกระดับความรับผิดชอบของธุรกิจ เพิ่มความโปร่งใสซึ่งก็จะเพิ่มพลังของผู้บริโภคในการติดตามตรวจสอบธุรกิจ สร้างความเท่าเทียมในสนามแข่งขัน อีกทัั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้บริษัทไทยสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าหลายประเทศที่มีแนวโน้มจะใส่ข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามามากขึ้น เช่น เราควรออกกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติ และออกกฎหมายบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตามหลักการชี้แนะ UNGP ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรามีกฎหมายนี้ บริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรก็ต้องตรวจสอบว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดกับการเผาแปลงปลูกไม่ว่าจะในที่ราบหรือบนดอยในห่วงโซ่อุปทานของตน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของวิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5 ในประเทศ และชี้แจงว่าบริษัทมีมาตรการลดแรงจูงใจในการเผาของเกษตรกรอย่างไร เป็นต้น"
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ ไม่ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดขายของพรรคการเมืองต่าง ๆ หรือไม่อย่างไร แต่หากไร้ซึ่งการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to a healthy environment) ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน นโยบายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นก็ถูกใช้เป็นกลไกในการฟอกเขียว ขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้น และสร้างความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“กรีนพีซเชื่อว่าการเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคมและประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางความคิดและเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายอย่างแข็งขันและมีความหมาย”
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สิทธิมนุษยชน คือ เรื่องของทุกคน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่พวกเขาอยู่ในประเทศไทย พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของก้าวต่อไปของประเทศไทยทั้งสิ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับรองพันธกิจสำคัญที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งการเคารพ ปกป้องคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
"การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงหมุดหมายของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลหรือการทำงานของรัฐสภาเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้แทนของประชาชนจะใช้กลไกในรัฐสภาอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งถูกจำกัดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่ให้คุณค่าประชาชน คือ พรรคที่พัฒนานโยบายเพื่อสังคมโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน แม้ว่าพวกคุณจะได้เป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้เลยก็ตาม”
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เผยว่า ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในประเทศแห่งนี้ถูกกล่อมเกลาจากชนชั้นนำระบอบอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่ ให้เชื่องเชื่อจนมันกลายเป็นสิ่งปกติ คนจน 4.4 ล้านคน รายได้ต่ำกว่า 2,803 บาทต่อเดือน ในขณะที่คนรวย 40 ตระกูล มีมูลค่าทรัพย์สิน 143,595 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 28.5 ของ GDP ที่ดินอยู่ในมือคนมั่งมีกว่า 6 แสนไร่ เท่ากับจังหวัดสมุทรปราการ แต่มีคนไร้ที่ดินคนไร้บ้านจำนวนมาก เด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1.2 ล้านคน เด็กครอบครัวยากจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยเพียง 11% ผู้สูงอายุและคนพิการได้รับเบี้ยยังชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-5 เท่า
“การเลือกตั้ง 2566 ในครั้งนี้ จึงมีเดิมพันระหว่างสังคมไทยที่มีความหวังกับความสิ้นหวัง ประชาธิปไตยกับเผด็จการขวาจัด รัฐเผด็จการอำนาจนิยมกับรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนกับอาวุธยุทธภัณฑ์เพื่อความมั่นคงกองทัพ โอกาสการศึกษาที่เท่าเทียมกับธุรกิจการศึกษาที่สร้างหนี้สิน การเข้าถึงสิทธิเสมอกันถ้วนหน้ากับระบบสงเคราะห์ตีตราคนจนแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยกับการคงอยู่ของระบบอำนาจนิยม”
อธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถอำนวยให้คนพิการสามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้จริง เช่น บางหน่วยสถานที่ไม่อำนวยในการช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก ควรเน้นการออกแบบให้รองรับคนทุกรูปแบบ
“คนพิการต่างตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ และต้องการให้พรรคการเมืองต่าง ๆ มีนโยบายด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ต้องมีกลไกสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ โดยนโยบายต่าง ๆ ต้องไม่มาจากทัศนคติด้านการสงเคราะห์ ควรเพิ่มค่าจ้างคนพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เกิดผู้ช่วยคนพิการมากขึ้น ด้านกลไกผู้ดูแลคนพิการไม่ควรขึ้นอยู่กับ อสม. เพียงอย่างเดียว และต้องพัฒนากองทุนคนพิการให้ใช้งานตอบโจทย์คนพิการอย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่สำคัญการเลือกตั้งต้องเคารพสิทธิและเสียงของคนพิการ”
นัสรี พุ่มเกื้อ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ เผยว่า ในตอนนี้สังคมไทยได้กลายเป็นสังคมที่เยาวชนไร้ความหวัง เด็กเเละเยาวชนหลายคนถูกผลักออกจากระบบการศึกษา สถิติการเกิดขึ้นของปัญหาสุขภาพจิตในเด็กเเละเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มิหนำซ้ำเด็กเเละเยาวชนในประเทศนี้ยังรู้สึกว่าตนเองไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง เเละการเเสดงออกทางการเมืองมักลงเอยด้วยการตอบโต้ที่ใช้ความรุนเเรงเเละการถูกดำเนินคดี
“ตอนนี้ความหวังของพวกเรานั้นริบหรี่ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงเเค่การเลือกตั้งทั่วไป เเต่ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ หากเราชนะ เเละข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมสัมฤทธิ์ผล นี่จะเป็นตัวจุดชนวนความหวัง เเละ เป็นเชื้อไฟให้กับเด็กเเละเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เติบโตในสังคมไทย หากผู้นำประเทศคาดหวังที่จะให้เราเติบโตที่นี่ ต้องสร้างสภาพเเวดล้อมเเละสังคมที่ดีสำหรับการเติบโตของพวกเราด้วย”
ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมย้ำว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และขอให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองทุกพรรคยึดมั่นในการพัฒนาสถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ตามที่ภาคประชาสังคมนำเสนอต่อพรรคการเมืองด้วย
หมายเหตุ
[1]ข้อเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ประเทศไทย ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย
โทร. 081 929 5747 อีเมล. spanasud@greenpeace.org
เนาวรัตน์ เสือสอาด หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
โทร 089-922-9585 อีเมล media@amnesty.or.th
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม