407 16 Apr 2023
ขอบคุณภาพจาก : https://ilaw.or.th/node/5366
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66
รายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2565/66 เชื่อมโยงให้เห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตลอดปี 2565 ใน 156 ประเทศ และยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการ นำเสนอขั้นตอนที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้และพัฒนาชีวิตของผู้คนทั่วโลก ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้นำรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้สนับสนุน นักกิจกรรม และผู้ที่มีความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย
สามารถดูรายงานและข้อเรียกร้องฉบับเต็มได้ที่นี่
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกน่ากังวล-ยื่นแอมเนสตี้ 7 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย
นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่ารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำถึงภาวะสองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความล้มเหลวของประชาคมโลกที่จะรวมตัวสนับสนุนการนำหลักสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นสากลมาใช้อย่างต่อเนื่อง ท่าทีแข็งกร้าวของชาติตะวันตกต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นภาพที่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับพันธมิตรบางประเทศ อาทิ ในอิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ซึ่งไม่ได้มีปฏิบัติการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขการละเมิดที่ร้ายแรงเลย
นอกจากนั้นยังมีการคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในการชุมนุมประท้วง ในขณะที่รัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองและเคารพสิทธิในประเทศตนเองได้ และในโอกาสครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนยันว่า ต้องมีการจัดตั้งระบบสากลตามหลักนิติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และต้องถูกนำมาใช้กับทุกคน และในทุกที่
“วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มแรงกดดันต่อบริการสุขภาพและบริการทางสังคมอื่นๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ บุคคลชายขอบ ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้หญิง เด็กผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติบนฐานเพศสภาวะ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลล้มเหลวในการสนับสนุนประชาชนเนื่องจากสถานะของพวกเขาย่ำแย่ลง”
“สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และการใช้อาวุธและกำลังทางการทหาร ซึ่งตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐหรือบริษัทต่างๆ มีผลอย่างมากต่อการละเมิด รวมถึงผลกระทบต่ออัลกอริทึมของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กระทบต่อการสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ” ฐิติรัตน์กล่าว
ด้าน นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธิในเสรีภาพการสมาคม การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ และการเลือกปฏิบัติ
“สิทธิในเสรีภาพด้านการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบถูกโจมตีอีกครั้ง กฎหมายใหม่เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายยังไม่พอที่จะคุ้มครองบุคคลจากอาชญากรรมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากเมียนมายังคงถูกจับกุม ควบคุมตัว และถูกรีดไถโดยเจ้าหน้าที่ไทยบริเวณพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังตกเป็นเป้าหมายของการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอในวงกว้างและถูกเลือกปฏิบัติ”
โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยจำนวน 7 ข้อ คือ 1.สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ ให้สอบสวนเจ้าหน้าที่ที่กระทำมิชอบด้วยกฎหมายในการสลายการชุมนุม และขอให้จัดอบรมแก่เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการการชุมนุม ให้มีการกำกับการใช้กระสุนยาง โดยห้ามใช้แบบเหมารวมและต้องเป็นเครื่องมือสุดท้ายเท่านั้น ให้มีการเยียวยาผู้ชุมนุมที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการใช้กำลังโดยมิชอบ และจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการชุมนุมโดยสงบ 2. สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่ใช้ปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพการแสดงออก ให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่างๆ งดเว้นการกำหนดโทษทางอาญาและการห้ามแบบเหมารวมต่อการเผยแพร่ข้อมูล และให้ดำเนินการสอบสวนการใช้สปายแวร์เพกาซัส
3. สิทธิในเสรีภาพการสมาคม ให้ประกันสิทธิการจัดตั้งและรวมตัวเป็นสมาคมว่าจะไม่ถูกควบคุมและจำกัด รวมถึงให้ถอนร่างพ.ร.บ.เอ็นจีโอ 4. เรื่องการทรมานและบังคับสูญหาย ขอให้ทบทวน มติ ครม. ที่ให้เลื่อนใช้มาตรา 22-25 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหาย ให้ดำเนินการสอบสวนโดยพลันอย่างอิสระและรอบด้านเมื่อมีข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและบังคับสูญหาย และให้สัตยาบันทันทีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหาย 5. สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและประกันให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงขั้นตอนการลี้ภัย ไม่ให้ถูกส่งกลับ และให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว 6. สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ให้นำตัวผู้สังหาร พอละจี รักจงเจริญ มาลงโทษ และประกันสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง 7. การเลือกปฏิบัติ ให้ยุติการเก็บดีเอ็นเอในวงกว้างและเลือกปฏิบัติ เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่เลือกปฏิบัติ และบังคับลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อการสอดแนมข้อมูล โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้
“เรารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเพื่อการรับรู้ร่วมกัน เพื่อจะมีพื้นที่พูดคุยปรึกษาว่าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกันอย่างไรได้บ้าง” ปิยนุชกล่าว
ในช่วงท้ายแอมเนสตี้ ประเทศไทยได้มอบรายงานฉบับดังกล่าวพร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย โดยมี นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับและข้อเรียกร้องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
เลือกตั้งจะมีความหมาย หาก ส.ว. เคารพเจตนารมณ์ประชาชน
จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เลือกตั้ง 66: อนาคตประเทศไทยและก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชน” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเห็นว่าจากรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีปัญหาน่ากังวลใจมากมาย แต่การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากเรื่องสำคัญ ปัญหาใหญ่สุดของประเทศไทยขณะนี้คือเรื่องกระบวนการยุติธรรม
“รัฐธรรมนูญไทยยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติเราใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด เช่นที่ตาม ป.วิอาญา การให้ประกันตัวผู้ต้องหาใช้คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” ไม่ใช่ “ขังชั่วคราว” ซึ่งขัดกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ เป็นเพราะหลักนี้เริ่มเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2492 และในทุกรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น แต่ก็ไม่เคยมีการแก้ ป.วิอาญา ซึ่งสร้างวิธีคิดที่จะทำให้ผู้พิพากษามีแนวโน้มไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหา ตัวอย่างกรณีที่ศาลบอกว่าไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพราะคดีมีอัตราโทษสูงนั้น ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะไม่ปล่อยชั่วคราวตามที่กฎหมายระบุ
“นอกจากนี้คือเรื่องความไม่เป็นอิสระของศาล ในทางปฏิบัติหลายกรณีเชื่อได้ว่ามีการแทรกแซงโดยผู้บริหารศาล จนเกิดกรณีการฆ่าตัวตายของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และเร็วๆ นี้ ส.ส.รังสิมันต์ โรม ออกมาพูดถึงกรณี ส.ว. คนหนึ่ง ซึ่งมีการออกหมายจับโดยตำรวจ แต่วันเดียวกันนั้นผู้บริหารศาลอาญาเรียกตำรวจและผู้อนุมัติหมายจับมาบอกว่า ส.ว. เป็นบุคคลสำคัญจะออกหมายจับเช่นนี้ไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้กระทบเรื่องความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ”
ปริญญา ยังกล่าวถึงการสลายการชุมนุมที่มีการใช้กระสุนยางโดยผิดหลักการ และไม่ทำตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องใช้อำนาจศาลในการอนุมัติการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่แล้ว หลังการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตำรวจก็ยังสลายการชุมนุมโดยไม่ขออำนาจศาล ซึ่งผิดกฎหมาย
“เรื่องการบังคับสูญหาย มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย แต่มีการใช้ พ.ร.ก. ให้เลื่อนการบังคับใช้เรื่องการติดกล้องของตำรวจไปเป็น 1 ต.ค. 2566 ด้วยเหตุผลว่าจัดซื้อกล้องไม่ทัน ซึ่งมีการส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เหตุผลจริงที่มีการเลื่อนการบังคับใช้ เพราะ ผบ.ตร. จะเกษียณวันที่ 30 ก.ย. และหากมีการเลือกตั้งเสร็จแล้ว สภาใหม่จะต้องกลับมาพิจารณาเรื่อง พ.ร.ก. ฉบับนี้อีก
“ถามว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผมเห็นว่ายังมีปัญหาอยู่ เพราะมีเสียง ส.ว. มากำหนดนายกฯ และไทยยังมีปัญหาเรื่อง ส.ส.งูเห่า เพราะการเลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่แล้วพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้อย่างไร ปัญหาเรื่องการใช้เงินทางการเมืองจึงหนักกว่าช่วงก่อนการรัฐประหาร ภาพที่เกิดเมื่อ 4 ปีที่แล้วก็จะยังเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้อีก ทางออกคือ ส.ว. ต้องโหวตตามเจตนารมณ์ของประชาชน” ปริญญากล่าว
ดูเอกสารประกอบทั้งหมดและรูปภาพวันงานได้ที่นี่
https://drive.google.com/drive/folders/1qgyr9rRgPXp79lRSiAlDtA0ELmospgRT?usp=sharing
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม