593 16 Apr 2023
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
จากการสำรวจจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ปี 66
ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้(จ.ปัตตานี, จ.ยะลา, จ.นราธิวาส, 4 อำเภอ จ.สงขลา)
มีจำนวนรวม 1,694,343 คนแต่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใหม่รวม 194,633 ฅน มีสส.จำนวน 15 ฅนได้แก่ จ.ปัตตานี 5 ฅน จ.ยะลา 3 ฅน
จ.นราธิวาส 5 ฅนและ 4 อำเภอ จ.สงขลา เขต7, เขต8 2 ฅน (ข้อมูล : สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองข้อมูลแยกตามจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เดือนกุมภาพันธ์ 2566)
อย่างไรก็แล้วแต่บรรยายกาศการหาเสียงเลือกตั้งที่ชายแดนภาคใต้อาจไม่ปกติเหมือนที่อื่นๆเพราะต้องภายใต้กฎหมาย(ความมั่นคง)พิเศษถึง 3 ฉบับ ซึ่งไม่สอดคล้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่อิสระ เป็นธรรมและตรวจสอบได้
สำหรับกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับคือ 1. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศในอำเภอและจังหวัดชายแดนอยู่แต่เดิมแล้ว 2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ในพื้นที่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปัจจุบันประกอบด้วย 33 อำเภอ ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไปแล้ว 9 อำเภอ รวม อ.ยะหริ่ง คงเหลือพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อเนื่องรวม 24 อำเภอ เผยขยายเวลามาแล้ว 68 ครั้ง ตลอด 17 ปี (อ้างอิงวันที่ 2 มิ.ย.65)
3. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บังคับใช้ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ของ จังหวัดสงขลา รวมทั้งอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อ.สุคิริน จังหวัดนราธิวาส
“กฎหมายพิเศษ” ที่ว่านี้หมายถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “เป็นพิเศษ” ในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง สอบสวน และตรวจสอบหาหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ทั้งนี้เพื่อแก้ไข ควบคุม หรือยุติปัญหาหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งโดยนัยยะที่ถูกต้องย่อมหมายถึงความมั่นคงของประชาชน)
-ตีความว่าพรรคการเมือง นักการเมืองนำเสนอ
นโยบายกระทบความมั่นคง
ที่ผ่านมา “กฎหมายพิเศษ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แนวปฏิบัติ” ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วนไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และละเมิดสิทธิของประชาชน จนเกิดปัญหาบานปลายประเภท “น้ำผึ้งหยดเดียว” หลายกรณีได้?
มีการออกมากล่าวหาผู้สมัคร และพรรคการเมืองบางพรรคที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐในอดีตโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาสังคมที่ใช้ช่องทางการเมืองลงเลือกตั้งนำเสนอนโยบายกระทบความมั่นคง เช่นนโยบายพาทหารกลับบ้าน ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยกเลิก กอ.รมน. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจโพลทางวิชาการ Projek Sama Sama ผู้ช่วยผู้สมัครสส.พรรคเป็นธรรมท่านหนึ่งเปิดเผยว่า “มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงท่านหนึ่งไปขอข้อมูลผู้สมัครพรรคเป็นธรรมจากกกต.แต่กกต.ไม่ให้”ซึ่งภาคประชาชน นักวิชาการและสื่อที่ชายแดนใต้ทราบดีว่า “พรรคเป็นธรรมและก้าวไกลถูกจับตามองพิเศษจากหน่วยความมั่นคง”
ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐบาลรักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมดูแลความมั่นคง
ให้ วางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายพิเศษคุกคามแต่กลับไปเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคการเมืองใด
-ผลสำรวจโพล Projek Sama Sama
.
Projek Sama Sama และองค์กรร่วม ได้แก่ We Watch, THE LOOKER, WARTANI และ THE MOTIVE เผยแพร่ผลสำรวจแบบสอบถามออนไลน์ ในประเด็นคำถามเกี่ยวกับต้นแบบผู้แทนราษฎร ที่คนชายแดนใต้ อยากเลือกให้เข้าไปทำงานในสภาฯ และคำถามอยากให้รัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาเรื่องอะไรที่เร่งด่วน ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 2565 - 3 ม.ค. 2566
.
คำถามเป็นความคิดเห็น ท่านอยากได้ ส.ส. แบบใด เพื่อเข้าไปทำงานแทนในสภาฯ ในการเลือกตั้งปี 2566 พบว่า การแสดงความคิดเห็น โดยรวมแล้ว มี 7 คุณลักษณะ ได้แก่
- รับฟังเสียงประชาชน ทำเพื่อประชาชน
- มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ รับผิดรับชอบ มีอามานะห์
- เป็นคนกล้า เก่ง
- เข้าใจในหลักการศาสนาอิสลาม
- มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา
- เป็นคนรุ่นใหม่
- มีความเป็นประชาธิปไตย
.
สำหรับประเด็นปัญหา ที่ประชาชนชายแดนใต้ อยากให้รัฐบาลใหม่แก้ไขโดยเร่งด่วน สรุปได้ 8 ประเด็นปัญหา ได้แก่
1. เศรษฐกิจ ปากท้อง
2. กฎหมายพิเศษ และสิทธิมนุษยชน
3. การศึกษา
4. การกระจายอำนาจ
5. กระบวนการสันติภาพ
6. ยาเสพติด
7. ยกเลิก กอ.รมน. และ ศอ.บต.
8. คอรัปชั่น
ในขณะที่ประชาชนชายแดนใต้อยากให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) เป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 ร้อยละ 46.1 อันดับ 2 เห็นว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เป็นนายกฯ ด้วยผลร้อยละ 21 อันดับ 3 น.ส. แพทองธาร ชินวัตร (หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย) ร้อยละ 14
ส่วนพลเอกประยุทธ์ (0.5%)รั้งท้าย สอดคล้องกับพรรคการเมืองอันดับ 1 ร้อยละ 62.3 ระบุว่าจะเลือกพรรคประชาชาติ อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 15.9 อันดับ 3 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 10.9 อันดับ 4 ไม่สนับสนุนพรรคใด ร้อยละ 6.5 อันดับ 5 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.9 อันดับ 6 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.2 อันดับ 7 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 0.7 อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 0.2 อันดับ 9 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 0.2
- จุดยืนความมั่นคงในการหาเสียงเลือกตั้ง
พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ออกมาย้ำหลังมีนักวิชาการและสื่อตั้งข้อสังเกตการวางตัวของหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ ว่า
"กองทัพไม่ได้ปิดกั้นพรรคการเมือง เข้ามาหาเสียงในค่ายทหาร เพียงแต่ขอให้นัดวันเวลา เข้ามาพร้อมกัน เพื่อทุกพรรคจะได้รับสิทธิ์เท่าเทียม และไม่เป็นการเอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" ????????
ในขณะที่เมื่อนโยบายของบางพรรคที่เสนอยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้มาในพื้นที่เกือบ 20 ปีโดยเฉพาะกฎอัยการศึกที่เป็นกฎหมายในปี
พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ก็ออกมาปกป้องกฎหมายพิเศษโดยอ้างว่า
“✨"...หากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ยุติการใช้ความรุนแรง
กฎหมายพิเศษก็จะหมดความจำเป็น และถูกยกเลิกไปในที่สุด..."✨
สางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ นักสิมธิมนุษยชนในพื้นที่ให้ทัศนะต่อเรื่องว่า “เหมือนไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกัน ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นไม่มา กฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชนแต่ทหารอ้างการกระทำของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง แสดงว่าประชาชนเป็นตัวประกันไม่ใช่การใช้กฎหมายเพื่อปกป้อง”
นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม สะท้อนว่า "นโยบายพาทหารกลับบ้าน โครงการนี้ของพรรคเป็นธรรมเราเสนอตามที่ท่าน
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์รองแม่ทัพภาคที่ 4
เสนอไว้ในวันแถลงข่าว 24 ก.พ.66
ร่วมกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขท่านบอกเองนะครับว่าพี่ๆที่ฟังอยู่ช่วยทำโครงการ
พาทหารกลับบ้านหน่อยครับ วันนั้น ผม นล-กัณวีร์ สืบแสงและพี่น้องๆภาคประชาสังคมไปฟังกันหลายคนเลยครับเราจึงคิดว่าตรงกับนโยบายของเราในการสร้างสันติภาพกินได้และจังหวัดจัดการตนเอง ให้มนุษยธรรมนำการเมือง ยกเลิกกฏหมายพิเศษแค่นี้ล่ะครับ พี่น้องทหารก็จะได้กลับบ้านแล้ว"(สามารถชมคลิปย้อนหลังดูได้ใน https://fb.watch/jPdnv3g1pw/?
mibextid=uat9xN)
นอกจากนี้บางพรรคนำเสนอนโยบายมลายูนิยม ในเรื่องอัตลักษณ์เชื้อชาติและภาษาเป็น Soft Power และมีข่าวดังทางสื่อที่เด็ก คนในพื้นที่แต่งชุดมลายู ทำกิจกรรมเดินรณรงค์ ด้วยการชูหนึ่งนิ้วกลับถูกมองว่ากระทบความมั่นคง จนพลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ต้องออกมาแก้ข่าวและกล่าวว่า “บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ระบุว่ารัฐต้องดูแลพี่น้องประชาชน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการแสดงออกทางอัตลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงาม โดยรัฐจะไม่เข้ามาขัดขวางและแทรกแซงอย่างแน่นอน”
-อาสาสมัครจับตาการเลือกตั้ง คืออีกทางออก
ภารกิจ “จับตา” ตรวจสอบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส่หรือไม่ หรือมีการทุจริต มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อ “โกง” การเลือกตั้งหรือไม่ เป็นภารกิจสำคัญ ที่ต้องอาศัยพลังจากประชาชนที่อยู่ทุกที่ทุกหนแห่งช่วยกันจับตาตรวจสอบ อาจจะผ่านเครือข่ายภาคประชาชนกับวิชาการเช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฟาฏอนีหรือร่วมกับส่วนกลางเช่น iLaw โดย iLaw ได้เสนอดังนี้
-จับตาการทุจริต
การทุจริตหรือการโกงในระดับในพื้นที่ด้วยเทคนิควิธีที่ทำกันมานาน เช่น การซื้อเสียง การข่มขู่หลอกลวง การใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนไปทางใดทางหนึ่ง เป็นเงื่อนไขที่อาจเปลี่ยนแปลงผลแพ้-ชนะ ในแต่ละเขตเลือกตั้งได้ และหากเกิดขึ้นมากๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในภาพรวมได้ หากประชาชนที่ประสบเหตุเองหรือพบเห็นนิ่งเฉยก็ยากที่คนกระทำความผิดจะถูกลงโทษได้ และพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในระบบการเมืองไทย
ซึ่งผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดมีภาระหน้าที่มากพอสมควรที่จะต้องเป็นคนเก็บรวบรวมพยานหลักฐานให้เป็นระบบ และกล้าออกตัวรายงานข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งสามารถรายงานไปที่ กกต. โดยตรง หรือสามารถรายงานไปยังเว็บไซต์ electionwatchthailand.org หรือรายงานผ่านมาทาง iLaw ให้ช่วยกันกลั่นกรองข้อมูลก่อนได้
ในการเลือกตั้งปี 2566 ทางกกต. เองก็ออกระเบียบมาเพื่อชักจูงใจให้ประชาชนที่พบเห็นกล้ารายงานเปิดโปงการทุจริตมากขึ้น โดยมีระเบียบสำหรับการคุ้มครองพยานที่กล้าชี้เบาะแส เช่น การจัดหาเซฟเฮ้าส์ให้ หรือหางานให้ทำ หาสถานที่เรียนต่อให้ และยังมีระเบียบที่จะจ่ายรางวัลเป็นเงินสำหรับผู้กล้าชี้เบาะแสสำคัญได้ด้วย
-จับตาการนับคะแนน
เรามีบทเรียนมามากจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่กระบวนการนับคะแนน และรวมคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งมีปัญหา พบข้อผิดพลาดจำนวนมาก และผลรวมคะแนนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ส่วนกลางรายงานต่อสาธารณะก็ล่าช้าและเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด โดยมี “คนกลาง” เข้าไปจัดการแก้ไขคะแนนที่รายงานสดจากหน้าหน่วยเลือกตั้งได้ก่อนการประกาศต่อสาธารณะ และในการเลือกตั้งปี 2566 กกต.ก็ไม่มีความชัดเจนในวิธีการรายงานผลคะแนนสดเพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่อาจไว้ใจผลคะแนนที่ กกต. รวบรวมและรายงานแต่เพียงลำพังได้ ซึ่งประชาชนสามารถร่วมกันลงมือแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยอาศัยเว็บไซต์ vote62.com เป็นสื่อกลาง ทุกคนสามารถเข้าไปสมัครเป็นอาสาสมัครจับตาการนับคะแนน และเลือกจุดที่จะไปจับตาได้ หากมีประชาชนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมากกว่า 100,000 คนขึ้นไป และครอบคลุมหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด ประชาชนก็จะช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนนได้ทั้งประเทศ และถ่ายภาพผลการนับคะแนนมารวมกัน เพื่อรายงานคะแนนกันเอง โดยไม่ต้องรอผลจากกกต.
ขณะเดียวกัน ขอให้ กกต. จัดการเลือกตั้งด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และตรวจสอบได้ โดยสนับสนุนให้ทุกภาค ส่วนของสังคมมีส่วนร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งและตรวจสอบการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ โดยการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้มีอาสาสมัครภาคประชาชนรายงานผลการลงคะแนนแต่ละคูหาคู่ขนานไปกับการรายงานผลของ กกต. ที่ตรงไปตรงมาและตรงกัน
ทั้งนี้ กกต. ต้องรีบรับรองผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชน เพราะการชะลอเวลาออกไปจนนานมากไปอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยแต่มีอำนาจในรัฐบาลรักษาการใช้อำนาจต่อรองพรรคการเมืองต่างๆ ให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยใช้ ส.ว.เป็นฐานต่อรองอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เหมือนการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562
ท้ายขอเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ให้ทุกพรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความขัดแย้งเพื่อส่งเสริมความรุนแรงหรือสร้างความเกลียดชัง และควรมีนโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ตามที่ผลสำรวจทางวิชาการโดยเฉพาะการกระจายอำนาจทางการเมืองและงบประมาณเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมิใช่รัฐซ้อนรัฐ
เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาไทยสามารถเป็นทางออกจากความขัดแย้ง
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม