2954 16 Apr 2023
ขอบคุณภาพ จาก : https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/20148
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ในช่วง วันที่ 11-21 เมษายนนี้ เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยมุสลิมและมุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอดใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และไม่วันที่ 21หรือ 22 เมษายนนี้ จะเป็นวันอีดิลฟิตรี(ฉลองหลังถือศีลอด)
การถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในช่วงนี้ จะมีความเข้มข้นทั้งกลางวันและกลางคืน(โดยเฉพาะกลางคืน) หลายๆ กิจกรรมหากองค์กรของรัฐและหน่วยความมั่นคงไม่เข้าใจและไม่ทราบหลักปฏิบัติของชุมชนมุสลิมชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในพื้นที่ประกาศกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ อาจจะนำไปสู่การจับผิดและอาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวอันนำไปสู่ความรุนแรงได้ในขณะเดียวกันผู้ที่คิดร้าย(ส่วนน้อยของชุมชน)อาจจะฉวยโอกาสช่วงนี้สร้างสถานการณ์ได้เช่นกัน
หลักปฏิบัติช่วงท้ายของเดือนรอมฎอน
1.การเอี๊ยะติกาฟ (การพำนักในมัสยิด) หมายถึง การพำนักอยู่ในมัสยิดโดยมีเจตนาปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลลอฮฺเจ้ากล่าวคือการอดกลั้นในแง่ของการกักตัวในที่ๆจำกัด ไม่สามารถออกมาจากมัสยิด และไม่สามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างที่สามารถทำได้ถ้าหากอยู่นอกการอิอฺติก้าฟ ในจำนวนนั้นคือ การหลับนอนกับภรรยา ถ้าหากการถือศีลอดไม่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น แต่อิอฺติก้าฟห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาตลอดช่วงเวลาสิบวันไม่ว่าทั้งกลางวันหรือกลางคืนดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า
พวกเจ้าอย่าได้แนบเนื้อพวกนาง ในขณะที่พวกเจ้าเก็บตัวอยู่ในมัสยิด (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 187)
เป้าหมายสำคัญก็คือ
- เพื่อปลีกตัวออกจากภารกิจทางโลก สู่การแสวงความผ่องแผ้วแห่งจิตวิญญาณเสริมสร้างพลังและศักยภาพเพื่อเป็นกลไก ที่จะเอื้ออำนวยให้กิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่นและดียิ่งขึ้นในอนาคต
- เพื่อทดสอบความอดทนทั้งกาย วาจา ใจ ตลอด 10 วัน
- เพื่อพยายามแสวงหาคืนอัล-ก็อดร์(ค่ำคืนที่พระเจ้าประทานผลบุญทวีคืนเทียบเท่าหนึ่งพันเดือน) ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ มีใจความว่า ... "(การประกอบความดีในค่ำคืน) อัล-ก็อดรฺดีกว่า (การประกอบ ความดี) หนึ่งพันเดือน (ในค่ำคืนอื่นจากค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ)" (ซูเราะห์อัลกอดัร อายะห์ที่ 3) ท่านศาสดากล่าวไว้มีใจความว่าและผู้ใดที่ดำรงไว้ (อิบาดะห์) ในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺด้วยความศรัทธาต่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น แท้จริงเขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปทั้งหลายที่ผ่านมา (มุตตะฟะกุนอะลัยห์ : เศาะเฮี๊ยะห์ อัลบุคอรี 2/253 และเศาะเฮี๊ยะห์มุสลิมเลขที่ 760 (1/524))
- เพื่อปฏิบัติตามแบบอย่างและวิถีชีวิตที่ท่าน ศาสดาเคยปฏิบัติเพราะศาสดาไม่เคยละทิ้งศาสนกิจดังกล่าวนับตั้งแต่ท่านเริ่มเข้ามายังนครมาดีนะห์จวบจนกระทั่งท่านเสียชีวิตท่านหญิงอะอีชะเราะฏิยัลลอฮุอันฮาภรรยาศาสดา กล่าวว่า ท่านศาสดาเมื่อเข้าสิบวันสุดท้ายจากเดือนรอมฏอนท่านจะมีความจริงจังในการประกอบศาสนกิจ (ที่มัสยิด) และนางยังกล่าวอีกว่าท่านศาสดาเอาจริงเอาจัง (ประกอบศาสนกิจ) ในช่วงสิบวันสุดท้ายรอมฏอนมากกว่า (การประกอบ ศาสนกิจ) ในช่วงอื่น ๆ"
- ทบทวนพฤติกรรมตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาอย่างสงบ เพราะมุสลิมเชื่อว่าการเอียะติกาฟสามารถ ทบทวนตน และการสร้างจิตใจภายใต้หลังคามัสยิดอันเป็นบ้านของอัลลอฮ คงสามารถจะบีบคั้นน้ำตาให้รินออกมาชำระล้างความโสมมในหัวใจและสร้างพลังแห่งศรัทธาขึ้นใหม่ได้
ในจังหวัดชายแดนใต้จะมีหลายมัสยิดจัดกิจกรรมดังกล่าว เช่น ที่มัสยิดอิบาดุรเราะมาน บ้านปูยุด อ.เมืองปัตตานี ภายใต้การอำนวยการโดย อ.ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา (อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและอดีตกรรมการสมานฉันท์) และมัสยิดศูนย์ดะห์วะฮฺยะลา เพราะมีการจัดการอย่างเป็นระบบทั้งให้ความรู้ด้านวิชาการ การปฏิบัติศาสนกิจ และระบบสาธารณูปโภค
ทั้งสองแห่งนี้จะมีผู้มาร่วมไม่ต่ำกว่าหมื่นคนจากทุกจังหวัดและผู้คนทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ข้าราชการมุสลิมยอมใช้สิทธิลาพักร้อนในช่วงนี้
2.การละหมาด ช่วง 10 วันสุดท้ายจะมีอยู่ 2 ช่วงที่สำคัญคือ
ละหมาดตะรอเวี๊ยะ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30 -20.30 น.(ความเป็นจริงการละหมาดดังกล่าวกระทำมาตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอน แต่จะเข้มข้นมากขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้าย ถูกบัญญัติให้ละหมาดรวมกันเป็นญะมาอะฮฺ (รวมกันที่มัสยิด)
ละหมาดตะฮัจยุด ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00น. - 04.30 น.(ช่วงกลางดึกถึงรุ่งอรุณ) ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะไปละหมาดและปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดอีกครั้งหนึ่ง การละหมาดทั้งสองช่วงจะมีผู้คนมากที่สุดในคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอน
3. การจ่าย ซะกาตฟิตเราะฮฺ(ทานบังคับ) คือ ซะกาตที่จำเป็นจะต้องจ่ายอันเนื่องจากหมดภาระถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เพียงแต่ผู้ที่จะเป็นผู้จ่ายนั้นจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว และผู้อุปการะผู้อื่นโดยจ่ายเพื่อตัวเขา และเพื่อคนที่อยู่ในครอบครัวทุกคน และคนที่ต้องรับผิดชอบด้วย
สำหรับปริมาณที่ต้องจ่าย คนละ 1 ศออฺ (ในภาษาอาหรับ) หรือประมาณเกือบ 4 ลิตรของอาหารหลักในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ในประเทศไทยคือข้าวสาร เป็นต้นโดยจะจ่ายให้คนยากจน หรือให้เจ้าหน้าที่เก็บซะกาตของมัสญิดก็ได้ เพื่อจะได้แจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตต่อไป
เพราะฉะนั้นจะเห็นชาวบ้านจำนวนมากจะออกจากบ้านในคืนสุดท้ายหรือช่วงเช้าของวันอีด(ฮารีรายอ)ไปหาคนยากจนหรือเจ้าหน้าที่มัสยิด
นี่คือหลักปฏิบัติของอิสลามพอสังเขปซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมภาคใต้ซึ่งอยากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าใจและนำเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติในพื้นที่ เพราะหลายๆกิจกรรมเป็นช่วงกลางคืนและดึกดื่น
ในขณะเดียวกันการเรียกร้องให้องค์กรของรัฐและสังคมอื่นเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ได้อย่างสมบูรณ์นั้น มุสลิมเองต้องมีคุณลักษณะ และแสดงความเป็นมุสลิมที่ดีตามแนวทางศาสดาทุกอริยะบทของการดำเนินชีวิต รวมทั้งเข้าใจ เข้าถึงและร่วมมือกับสังคมอื่นตามกรอบที่ศาสนาได้กำหนดไว้เช่นกัน
หากทุกฝ่ายยึดตามแนวทางที่ถูกต้องและเข้าใจซึ่งกันสังคมไทยจะอยู่ร่วมอย่างสมานฉันท์
สุดท้ายขอประณามเหตุการณ์ร้ายต่างๆที่ผู้ที่ฆ่าพระทำลายทรัพย์สินของวัด ผู้บริสุทธิในนามศาสนาเพราะเป็นการขัดคำสั่งท่านศาสดาที่ได้เน้นย้ำไว้อย่างมากคือ อย่าฆ่าสตรี เด็ก คนแก่ หรือนักบวชที่อยู่ในโบสถ์ของเขา และห้ามตัดต้นไม้
หวังว่าศาสนธรรมและสันติธรรมไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นวิถีทางที่สำคัญในการอยู่ร่วมอย่างสันติ และขอดุอาอ์(พร)จากอัลลอฮซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลาโปรดทรงรวมพลังของพวกเราให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเราอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง รวมทั้งขอให้ความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดี
ขอให้พระองค์ทรงทำให้วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน ให้พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้ และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้
หมายเหตุ
สำหรับกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับคือ 1. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศในอำเภอและจังหวัดชายแดนอยู่แต่เดิมแล้ว 2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ในพื้นที่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปัจจุบันประกอบด้วย 33 อำเภอ ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไปแล้ว 9 อำเภอ รวม อ.ยะหริ่ง คงเหลือพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อเนื่องรวม 24 อำเภอ เผยขยายเวลามาแล้ว 68 ครั้ง ตลอด 17 ปี (อ้างอิงวันที่ 2 มิ.ย.65)
3. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บังคับใช้ในพื้นที่ 9 อำเภอในข้อสอง (เช่นอ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ของ จังหวัดสงขลา รวมทั้งอ.แม่ลาน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อ.สุคิริน จังหวัดนราธิวาส)
“กฎหมายพิเศษ” ที่ว่านี้หมายถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “เป็นพิเศษ” ในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง สอบสวน และตรวจสอบหาหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ทั้งนี้เพื่อแก้ไข ควบคุม หรือยุติปัญหาหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งโดยนัยยะที่ถูกต้องย่อมหมายถึงความมั่นคงของประชาชน)
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม