เสวนา การรวมกลุ่มของประชาชน ในสายตาพรรคการเมือง

986 31 Mar 2023

ตัวแทน 12 พรรคการเมืองส่งเสียงพ้อง เสรีภาพในการรวมกลุ่มต้องเป็นของประชาชน การออกกฎหมายหมายหรือนโยบายต้องสนับสนุนไม่ใช่ปิดกั้นควบคุม


 

31 มี.ค. 2566 ไทยแอ็ค ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “การรวมกลุ่มของประชาชน ในสายตาพรรคการเมือง” โดยมี ทศ ลิ้มสดใส  ผู้สื่อข่าว The Reporters เป็นผู้ดำเนินรายการ

“ถ้าคุณคิดจะลบองค์กรภาคประชาชนไม่ให้มีสิทธิ์มีเสียงออกจากแผนที่ประเทศไทย  แผนที่ประเทศไทยนั่นแหละที่จะถูกลบออกจากแผนที่โลก” ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก ในการที่ประชาชนจะรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้อง รณรงค์หรือเคลื่อนไหวทางสังคม โดยปิยนุชได้ตั้งคำถามถึงความพยายามของรัฐบาลในการจะออก พระราชบัญญัติการดำนเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร ซึ่งคล้ายต้องการจำกัด และควบคุมการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมของของประชาชน และบั่นทอนการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร

  “ขออย่าได้พยายามที่จะผลักดันกฎหมายมาปิดปากประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม แม้ว่าพวกเขาจะส่งเสียงที่แตกต่างจากผู้นำประเทศก็ตาม”

โดยเธอกล่าวต่อว่า หากภาครัฐพยายามที่จะทำลายองค์กรภาคประชาสังคมจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ ที่ตอนนี้ประเทศไทยเป็นเหมือนความหวังในภูมิภาคขององค์กรภาคประชาสังคม ท่ามกลางประเทศพื้นบ้านที่กีดกันการทำงานขององค์กรเหล่านี้ โดยปิยนุชมีความหวังว่า

“ขอให้รัฐบาลชุดใหม่ปัดกฎหมายนี้ตกไป ประเทศไทยเป็นความหวังของภูมิภาค ถ้าเกิดมีข้อจำกัดเหล่านี้ ภูมิภาคก็ไม่มีความหวัง เราหวังว่าแผ่นดินไทยจะเป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทองของภาคประชาสังคม”

ในขณะที่สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การคุกคามการรวมกลุ่มทางสังคม ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเมือง ตั้งแต่ยุค คสช. 2557 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก แม้จะสิ้นสุดยุค คสช. ไปแล้ว แต่รัฐบาลที่สืบอำนาจ ก็ยังมีการร่างกฎหมายออกมาเพื่อคุกคาม โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

“ความสวยงามของประชาธิปไตย คือการเปิดพื้นที่ให้กับคนคิดและแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมไทยถูกกล่าวหามาอย่างยาวนาน”

โดย หนึ่งในข้อครหาที่ฝ่ายต่อต้าน มักหยิบยกวาทกรรมมาทำลายองค์กรภาคประชาสังคมคือประเด็นเรื่องการรับเงินจากองค์กรต่างชาติ ซึ่งสมบูรณ์ได้อธิบายประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องปกติขององค์กรภาคประชาสังคม เพราะงบประมาณในประเทศไทยนั้นมีอย่างจำกัด ขณะเดียวกันของรัฐก็ไม่ได้มีแนวทางชัดเจนในการสนับสนุนทรัพยากรสำหรับแก้ปัญหาที่มีอยากหลากหลาย รวมทั้งอาจไม่ได้มองภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาประเทศด้วยซ้ำในส่วนความคิดเห็นของพรรคการเมืองทั้ง 11 พรรคนั้น เป็นไปในทิศทางใกล้เคียง หือสอดคล้องกันคือ สนับสนุนการรวมกลุ่มของภาคประชาชน แต่แตกต่างกันออกไปตามนโยบายของพรรค 

 

เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อธิบายถึงความพยายามจะออกกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมว่า “ไม่ได้ออกมาเพื่อกดขี่ หรืออริดรอนเสรีภาพ ไม่ได้จำกัดการทำงานของประชาสังคม แต่ออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครอง โดยเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาการฟอกเงิน แต่การออกแบบกฎหมายมาให้มีขอบเขตที่กว้างก็เพื่อจะได้เพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนสำหรับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะนั้น ก็มีไว้เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงจากการชุมนุมออกมาซ้ำรอย”

 

ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารพื้นที่ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า “การรวมกลุ่มของประชาชนสามารถทำได้ และควรให้การสนับสนุนพวกเขา แต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมานั้นเป็นเผด็จการซ่อนรูป ที่ใช้กฎหมายมาปิดปากประชาชน และหากนักการเมืองในวันนี้ให้ความสำคัญจริง ๆ กับเสรีภาพของประชาชน ก็ควรจะทำให้ได้ตามที่พูด”

 

ขณะที่ แทนคุณ จิตอิสระ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ เน้นว่าทางพรรคให้ความสำคัญกับการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง เขากล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยร่วมกับการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะมันคือการใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง แม้ ความพยายามออกกฎหมายการดำนเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่มีตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งพรรคเห็นด้วย ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสงสัยไปถึง นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ว่าอาจได้รับคำสั่งมาจากนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนนอกพรรคอีกทีเช่นกัน ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอ 3 เรื่องสำคัญคือการมีส่วนร่วมและการรวมตัว คืออุดมการณ์หลักของพรรคก้าวไกล และพรรคมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของประชาชนอยู่ 30 ข้อ ประเด็นหลักอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, สิทธิของชุมชน, การแก้ไขกฎหมาย SLAPP (ฟ้องปิดปาก) และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่สำคัญคือย้ำว่า พรรคก้าวไกล ไม่รับกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าพรรคจะได้เป็นรัฐบาลก็ตาม

 

ต่อมา สุรพงษ์ พรมท้าว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ได้แถลงอย่างชัดเจน ไปในทิศทางเดียวกันว่า “พรรคสนับสนุน สองเรื่องคือประชาชนควรมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อจิตสำนึกประชาธิปไตย และให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม เพื่อเป็นการปฏิรูปองค์การทางการเมืองให้มีความเข้มแข็ง”

 

เช่นกันกับ ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่า “การมีภาคประชาสังคมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา เป็นหัวใจสำคัญ และประชาสังคมคือ Think Thank และต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ ถ้าหากภาคประชาสังคมเข้มแข็ง แต่ปัญหาในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาคือกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็เชื่อมโยงกับการที่พรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากได้เป็นรัฐบาล”

 

ขณะที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองที่เหลือก็มีความเห็นสอดคลอ้งกัน คือ สูฮัยมี ลือเเบซา ตัวแทนพรรคประชาชาติ ที่พยายามชี้ให้เห็นปัญหาของกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม ซึ่งพรรคของเขาจะไม่ยอมให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาโดยเด็ดขาด เพราะมองว่า จะยิ่งทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจสามารถควบคุมภาคประชาสังคมให้อยู่ภายใต้พวกเขา โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ภาคประชาสังคมคือกลไกสำคัญในการเข้าถึงคนในพื้นที่

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า มองว่าการชุมนุมของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเสรี และไม่ก่อให้เกิดปัญหาทุนผูกขาด ในขณะเดียวกันรัฐควรเปิดรับข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม ไม่ใช่ไปควบคุมแต่ควรที่จะสนับสนุนการทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

วสันต์ พานเงิน เลขาธิการพรรคแรงงานสร้างชาติ มองประเด็นนี้ว่า องค์กรภาคประชาสังคม มีส่วนสำคัญในการรวมกลุ่มของประชาชน ดังนั้นเราจึงควรมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ถึงจะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้

สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายควบคุม การรวมกลุ่มของประชาชน และพรรคสนับสนุนการรวมตัวกันของประชาชนในทุกรูปแบบ

ฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวชัดเจนว่า พรรคของตนต้องการแก้ไขร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม ให้เป็นการสนับสนุนและ ให้เสรีภาพต่อองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสามารถทำงานร่วมกับองค์กรต่างประเทศได้ง่ายขึ้น รวมทิ้งเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคม ระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ปิดท้ายการแถลงนโยบายโดย รศ.ดร. รงค์  บุญสวยขวัญ กรรมการบริหาร พรรคพลังประชา

รัฐ  ที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นว่า สนับสนุนหรือต่อต้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม และร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของประชาชน ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐบอกเพียงว่า  “เราต้องการก้าวข้ามความขัดแย้ง และทางพรรคเห็นคุณค่าของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและประชาสังคม  โดยที่ผ่านมาในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนนำเสนอ

ร่างกฎหมายเข้าไปสู่ในสภา แต่จะผ่านหรือไม่นั้นก็เป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคม ที่จะต้องโน้มน้าวพรรคการเมืองอื่นด้วยตนเอง”

 

ทั้งนี้ กิจกรรมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “การรวมกลุ่มของประชาชน ในสายตาพรรคการเมือง” ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิดเพื่อรับฟังการนำเสนอนโยบายด้านต่าง ๆ ของพรรคการเมือง โดยจัดมาต่อเนื่องตลอดทุกวันศุกร์เดือนมีนาคม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม(สสป.) ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือรับชมย้อนหลังได้ที่แฟนเพจไทยแอ็ค 

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม