คุยกับชีวิตคนเมืองมือแตก ในทำนอง “แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา”

3997 03 Nov 2018

ผมนั่งมองภาพหญิงสาวชาวเมืองที่หันหน้ามุ่งสู่หมู่บ้านชนบท หมู่บ้านที่ไม่ได้ฉาบทาด้วยภาพโรมันติคสวยงาม แต่กลับกัน เป็นหมู่บ้านที่กำลังลุกร้อนเป็นไฟคุกรุ่นไปด้วยแววตาปวดร้าว เจ็บแค้น ระแวงกลัวและตื่นตัว แววตาที่หยัดสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิต ปกป้องสิทธิตนเองจากผู้มากระทำทุกวิถีทาง ภาพเธอจด เสียงเธอถาม และเธอเขียนเธอเก็บภาพทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราว สรุปออกเป็นประเด็นเพื่อสื่อสารออกไปสู่โลกภายนอก ผมนึกคะเนเลาๆตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็น เธอน่าจะเคยทำงานสื่อสารมวลชนและเป็นนักเขียน

แม้น หรือ แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา คือชื่อจริงๆของเธอที่ผมมารู้ทีหลัง หลายปีที่ปักหลักเคียงข้างชาวบ้านแห่งหนึ่งในอำเภอวังสะพุง จ.เลย  จนผมแอบทึ่งในความแข็งแกร่งและทรหดกับภาระหน้าที่ที่เธอเลือกทำ หลายปีต่อมาก็ยังทราบข่าวอีกว่าเธอมีความรักและเลือกหนทางที่ยากนักที่ใครจะตัดสินใจทำคือ การตัดสินใจเลือกหนทางเป็นเกษตรกร

นั่นคือความกล้าหาญที่มนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่คิดลงมือทำ อย่างท้าทาย ทวนกระแสชีวิตคนส่วนใหญ่ที่มองทางเลือกที่ดีกว่า และผมก็ยังเฝ้ามองชีวิตเธอต่อไปอีกในบทบาทเพื่อปากท้องที่ใครๆ ก็อยากผันหน้าหนี คือ“ชีวิตเกษตรกร”
และแล้วชื่อไร่เพราะๆ ก็เป็นที่รู้จักในแวดวงนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ  "ไร่คำโฮม" ( Come Home) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายเกษตรกรที่ชื่อ "กลุ่มเกษตรธรรม" แม้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของเธอ แต่สำหรับผมนั้น นี่มากพอทำให้ผมต้องติดตาม เฝ้ามองเธออีกต่อไป ตราบที่ยังหายใจอยู่



Thaingo  :  ถามจริงๆ ณ ตอนนี้ คิดว่าชีวิตที่โตมา กับ งานที่ทำอยู่ มันหักมุมหรือว่า ชัดเจนตั้งใจมานานแล้ว
แม้นวาด :  เราโตมาแบบใช้ชีวิตทั้งในเมืองและชนบท มันเห็นชีวิตคนที่แตกต่างแบบหน้ามือกับหลังมือ หลังเรียนจบเราอยากหาประสบการณ์ขึ้นไปเป็นอาสาสมัครทำงานบนดอย บ่อเกลือเหนือ จ.น่าน ทั้งตำบลมีคนอ่านออกเขียนได้ไม่ถึง 10 คน และครึ่งนึงเป็นหนุ่มสาวที่จบประถมหรือ ม.3 แล้วออกจากหมู่บ้านไปทำงานก่อสร้างในเมือง ยุคนั้น อบต.กำลังเกิดใหม่ในพื้นที่ชายขอบ การเลือกตั้งสมาชิก อบต. ลงเสียงโดยให้ชาวบ้านถือเม็ดละหุ่งหย่อนใส่กระป๋องหน้าคนที่จะเลือก อบต.เกิดขึ้นมาก็รับนโยบายรัฐมาเป็นทอดๆ ลงไปสั่งชาวบ้านให้ทำตาม ชาวบ้านก็ทำตามอย่างดี อย่างไม่มีคำถาม ไม่มีการขัดขืน การใช้ชีวิตในพื้นที่แบบนั้นมันเห็นชัดเจนว่าคนมันไม่เท่ากัน  รู้สึกเจ็บปวด และย้อนมารู้สึกรันทดกับตัวเองที่เป็นชนชั้นกลาง เป็นคนเมือง มีการศึกษา ก่นด่าในใจ อ๋อ ปัญญาชน ที่เคยเรียกกันมันรู้สึกแบบนี้ใช่มั้ย มีปัญญาทำอะไรได้บ้างล่ะ

                พอลงจากดอยก็ตั้งใจอยากจะไปเป็นนักข่าวหรือนักเขียน มันรู้สึกว่าเป็นทางที่ต้องไป เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่พอเป็นนักข่าวก็อยู่ได้ไม่นานอย่างที่คิด มันเหมือนทำอาชีพเซลแมนที่ทุกวันจะต้องคิดเหลี่ยมมุมในประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านเพื่อขายให้ บก. (บรรณาธิการ) ซื้อ ถ้าขายได้ก็ได้ทำ ขายไม่ได้ก็ต้องวิ่งไปทำข่าวตามกระแสที่ไม่ได้มีคุณค่าของข่าวต่อสังคมเลย เป็นธรรมดาเมื่ออยู่ที่ไหนนานหน่อยเราก็เห็นวิธีคิดเห็นวัฒนธรรมเห็นชีวิตของกลุ่มคนนั้นๆ  ความรู้สึกในวัยกำลังร้อนรุ่มมันก็ใกล้เคียงกับคำว่าเสื่อมศรัทธาต่อวิชาชีพ ขยับตัวใหม่อีกครั้งก็ชวนเพื่อนเปิดสำนักพิมพ์ เน้นงานเขียนด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับชาวบ้าน คนยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เพราะรู้สึกว่าเราจะมีอิสระในการสื่อสารที่ลงลึกเกาะติดได้ทั้งในระดับโครงสร้างนโยบายและในระดับพื้นที่ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีเพื่อนเป็นเอ็นจีโอทำงานประเด็นปัญหาต่างๆ เยอะขึ้น
ได้ใกล้ชิด ได้แลกเปลี่ยนกัน หนุนเสริมกันตามทรัพยากรที่แต่ละคนมี ตามทักษะที่แต่ละคนถนัดกันคนละอย่าง การทำงานเริ่มเกาะเกี่ยวไปด้วยกันได้มากขึ้น รู้สึกสนุกท้าทายกับการทำงาน มีความหวังกับการเปลี่ยนแปลง  จะเรียกว่าความตั้งใจที่จะทำอะไรชัดเจนมาตั้งแต่ต้นก็ชัดเจนนะ ตามประสาของหนุ่มสาวสมัยนั้นที่ยังได้รับอิทธิพลมาจากขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในรุ่นก่อน

ThaiNGO:  ก็ดูสนุกดี แล้วทำไมถึงเลือกเส้นทางการทำงานนี้ งานที่ต้องยืนข้างคนทุกข์คนยาก งานที่ค่อนข้างเครียด อันตราย และกดดันมากๆ อย่างกรณีพี่น้องที่เลย
แม้นวาด  :  เรารู้จักพี่เลิศ (เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์) กับพี่สุวิทย์ (สุวิทย์ กุหลาบวงษ์) ตอนตามประเด็นการจัดการน้ำในอีสาน การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมันก็ขยายมาเรื่องผลกระทบจากเหมืองแร่ที่หนักมากขึ้น  เราก็เข้าไปช่วยพี่เลิศทำข้อมูลในช่วงที่พี่ๆ อยากสร้างเครือข่ายชาวบ้าน ในประเด็นนี้ หลังจากนั้นสถานการณ์เหมืองทองเมืองเลยแรงขึ้น ในพื้นที่มีพี่โก (โกวิทย์ บุญเจือ) จัดตั้งอยู่ มีน้องๆ ดาวดินที่สัมพันธ์อยู่ในพื้นที่ ตรงส่วนกลางกรุงเทพมีทีมอีกหลายคนที่ชวนกันมาเพื่อจะช่วยกันเกาะติดเรื่องนี้ เพราะคาดว่ามันอาจจะแรงถึงขั้นชีวิตก็ได้ เราตัดสินใจหยุดงานสำนักพิมพ์ 1 ปีเพื่อลงไปอยู่ในพื้นที่ทำงานข้อมูลการสื่อสารกับชาวบ้านและสื่อสารกันระหว่างทีมงานส่วนกลางกับพื้นที่ด้วย ตอนนั้นรู้แต่ว่ามันเป็นงานร้อนนะ แต่ถ้าคิดทำอะไรได้มันอาจจะช่วยชาวบ้านได้จริงๆ อาจจะปิดเหมืองแบบถาวรไปได้เลยนะ แต่ไม่รู้หรอกว่าจะเสี่ยงอันตรายขนาดไหน งานจะเครียด กดดัน หรือหนักขนาดไหน เพราะไม่เคยลงไปเกาะติดอยู่ยาวในพื้นที่ที่สถานการณ์ร้อนแรงขนาดนี้มาก่อน แล้วมันก็แรงขึ้นอย่างที่คาดกันไว้ การอยู่ในหมู่บ้านในช่วงเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายด้วยกัน ดูแลกันและกัน รู้ทุกข์รู้สุขด้วยกัน มันเกิดความผูกพันที่ไม่ได้แบ่งคนในคนนอกแล้ว เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่น การทำงานอาสามันเลยลากยาวออกไป จากการหนุนเสริมด้วยทักษะด้านงานข้อมูลการสื่อสารที่เรามีก็กลายเป็นชวนกันคิดชวนกันทำเหมือนเป็นคนหนึ่งในหมู่บ้าน ถึงขึ้นตัดสินใจว่าจะทิ้งทุกอย่างที่กรุงเทพมาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านในฐานะชาวบ้านค้านเหมืองคนหนึ่งด้วย

 

                การตัดสินใจเลือกในแต่ละช่วงของชีวิตมันเหมือนใช้ความท้าทายในการผลักดันเพื่อเปลี่ยนมาตลอด ถามว่าทำไมเลือกทางสายนี้ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน รู้แต่ว่าทำงานประจำมันน่าเบื่อ งานที่ทำเหมือนมันจะมีคุณค่ามีความหมายน้อยลงไปเรื่อยๆ การมีทุกอย่างที่อยากมีอยากได้วันนึงมันกลายเป็นว่างเปล่าเหมือนหลุมดำที่ไม่รู้จะหาอะไรมาเติมให้เต็ม ชีวิตที่ใครมองว่าสมบูรณ์แล้วมันกลับน่าอึดอัดและอยากจะหนีไปไกลๆ

 

ThaiNGO  :  แล้วรู้สึกว่าสมหวังไหม ?  กับการทำงานตรงนี้ ทำให้เราค้นพบตัวเรา หรือ อะไร ในตัวเองบ้าง
แม้นวาด 
:   เหมืองทองเมืองเลยสอนหลายอย่าง อย่างที่บอกว่าเวลาเราอยู่ที่ไหนนานหน่อยเราจะเห็นอะไรๆ ลึกขึ้นและกว้างขึ้น ความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนสายต่างๆ ในพื้นที่ประเด็นร้อนให้ทั้งประสบการณ์ ความรู้ บทเรียน และบาดแผล บทบาท สถานการณ์ทางสังคม ความแตกต่างระหว่างคนในกับคนนอกเป็นกับดักใหญ่ที่ทุกคนข้ามไม่พ้น ความเสมอภาคเท่าเทียมไม่มีอยู่จริงแม้แต่ในพื้นที่และกลุ่มคนที่เราคิดว่ามีอุดมการณ์เรื่องนี้อย่างเข้มข้น มากไปกว่านั้นคือวิธีการในการจัดการกับความขัดแย้งหรือการเห็นต่างอาจจะใช้วิธีการที่โหดร้ายเจ็บปวดมากกว่าในเมื่อเรารู้สึกว่าเราคือเพื่อนกัน แต่อีกด้านเราก็ได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของกระบวนการในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ต้องมาจากหลายกลุ่ม หลายทักษะวิชาชีพ ที่จะต้องหนุนเสริมกันตามความเชี่ยวชาญแต่ละด้านที่ทุกคนมี มันสะท้อนได้จากเสียงของชาวบ้านเป็นที่รับรู้ของสาธารณะและสามารถสะเทือนรัฐและทุนได้อย่างเห็นรูปธรรม อย่างงานข้อมูลการสื่อสารที่เราเคยทำมาทั้งชีวิตเทียบไม่ได้เลยกับการทำงานในพื้นที่แค่ช่วงเวลาสั้นๆ แล้วเกิดผลกระทบต่อสังคมได้ในเวลาที่ชาวบ้านกำลังต้องการ

 

                หลังจากช่วงพีคที่สุดของสถานการณ์ผ่านไป สถานการณ์แรงบีบคั้นรอบตัวทำให้เราต้องถอนออกมาจากพื้นที่ บังคับลากพี่โกที่พบรักกันในหมู่บ้านร่วมเป็นร่วมตายกันมาออกมาด้วย พอถอนตัวออกมาปรับตัวปรับใจได้ระยะหนึ่งก็มองเห็นอะไรได้อีกมุมหนึ่ง คือในพื้นที่ประเด็นร้อนมีคนอยากจะพุ่งเข้าใส่ในนามความช่วยเหลือ ในนามการหนุนเสริม หรือด้วยเหตุผลต่างๆ มากมาย แต่ละคนก็แบกชุดคิดการบ้านของตัวเองเข้าไปใช้พื้นที่ทั้งนั้น เราคิดว่ามันเป็นกระแสคลื่นที่กระทบกับชาวบ้านไปอีกทางหนึ่งด้วย คือ มันสูญเสียวิถีชีวิตการทำมาหากินแบบคนปกติจนเรียกคืนกลับมาไม่ได้ การต่อสู้ในเชิงประเด็นมันเรียกร้องกำลังทรัพยากรทุกด้านที่ชาวบ้านมีจนไม่สามารถขยับไปสร้างความเข้มแข็งในมิติอื่นๆ ให้ฐานครอบครัวหรือฐานชุมชนได้เลย ในขณะที่พื้นที่ชนบทอื่นๆ ก็มีปัญหาไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ไม่ได้ถูกนิยามให้เป็นพื้นที่ร้อนทั้งๆ ที่ชีวิต ที่ดิน สิ่งแวดล้อม สุขภาพกำลังล่มสลาย ทยอยกันเจ็บตายไปเป็นแหล่งๆ แบบเงียบๆ แล้วทำไมพื้นที่แบบนี้ไม่มีคนลงไปจัดตั้ง เกาะติด ทำงานหล่ะ ความคิดแบบนี้ก็ทำให้เราเลือกอีกครั้งมาลงหลักปักฐานเป็นชาวบ้าน ทำงานทุกสิ่งอย่างที่ทำได้ในที่ดินที่พี่โกซื้อไว้สมัยเป็นหนุ่ม คิดว่ามันจะเป็นชีวิตที่เหมาะกับพี่โกและเหมาะกับเราได้ ทิ้งสำนักพิมพ์ทิ้งทุกอย่างที่กรุงเทพแล้วก็มาเริ่มต้นชีวิตคู่ในที่ปัจจุบันนี้

ThaiNGO  :  ใช่.. แอบมองการมาทำเป็นเกษตร ราวๆสัก 2-3 ปีมานี้ เหมือนจะเห็นผันตัวเองมาเป็นชาวบ้าน มาเป็นเกษตรกรจริงๆ จังๆ นะ อยากรู้ว่าทำไมถึงอยาก ทำไมเลือกอาชีพนี้
แม้นวาด 
:   อยากเป็นชาวบ้านเพราะไม่อยากเป็นปัญญาชน ไม่อยากเป็นสื่อ ไม่อยากเป็นเอ็นจีโอ ไม่อยากเป็นนักวิชาการ หรือมีสถานบทบาททางสังคม คนเมืองผู้มีอภิสิทธิ์ อยากเสมอภาคเท่าเทียมกับชาวนาชาวไร่ มีเท่ากัน ทำเท่ากัน เหนื่อยเหมือนกัน ใช้ชีวิตเหมือนกัน ชวนกันคุย ชวนกันคิด ชวนกันทำ อย่างเท่าเทียม  อยากฟื้นวิธีการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาอาชีพที่เอ็นจีโอสมัยก่อนทำไม่สำเร็จเอากลับมาทำใหม่ ทำไมคนเมืองมีที่บนดาดฟ้าปลูกผักขายได้ ทำไมการทำเกษตรแบบคนเมืองไปได้ ทำไมเศรษฐกิจการเกษตรเติบโตได้กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่เกษตรกร เราอยากหาคำตอบออกมา เมื่อเราอยากทำก็ลงมือปฏิบัติ ไม่ทำก็ไม่รู้ ทำนา ทำไร่ เลี้ยงวัว ขุดบ่อ เลี้ยงปลา หาอยู่หากินตามธรรมชาติ เก็บผักแปรรูปผลิตผลไปขายในตลาดเขียว  พยายามเป็นคนกลางเชื่อมผลผลิตในหมู่บ้านไปขายในตลาด เรียนรู้กับสิ่งที่ทำ สิ่งที่ชาวบ้านเป็น สิ่งที่ชาวบ้านรู้สึก ถึงจะไม่ได้มีภูมิปัญญาที่รับทอดมาจากปู่ย่าตายายเหมือนชาวบ้าน แต่อาศัยใจรักใจสู้สองสามปีเราก็อยู่กันมาแบบนี้ 

 

ThaiNGO  :   อยากมีชีวิตแบบชาวบ้าน ( ฮ่าๆๆ  ขออนุญาตขำแพ้พ )   ทำไมอยากมีชีวิตแบบชาวบ้าน เอาจริงๆ นะ ลำบากไหม สัมผัส สุข ทุกข์ ยังไงบ้าง
แม้นวาด  :   ลำบากนะ เราก็เลยวัยหนุ่มสาวบ้าพลังกันมาระยะหนึ่งแล้วด้วย มือก็ไม่เคยจับจอบจับเสียม ตีนบางไม่เคยได้ย่ำโคลนย่ำดิน ช่วงแรกๆ มือแตกตีนแตกอยู่พักใหญ่ ตากแดดอาบเหงื่อต่างน้ำ ทั้งหน้าทั้งตัวไหม้แล้วไหม้อีกลอกแล้วลอกอีก งานเกษตรเป็นงานหนักไม่มีใครไม่รู้ แต่ทำนาทำไร่เลี้ยงวัวปลูกผักว่าหนักแล้ว การปรับตัวให้อยู่ได้กับไร่กับนา และการหาช่องทางสร้างรายได้หนักกว่า หลายครั้งต้องคิดว่าค่าไฟจะมาแล้วจะต้องหาเงินที่ไหนมาจ่าย เคยคิดว่า เฮ้ย! ลำบากขนาดนี้เลยหรือ พอเพียงเพียงพอเรียบง่ายง่ายงาม ใครหนอพูดออกมาได้ เคยมาทำจริงๆ กันหรือเปล่า เคยเหนื่อยมาทั้งวันจะไปไม่รอดแล้วแต่ต้องวิ่งไปเก็บผักเก็บหญ้าหุงฟืนทำกับข้าวกินทุกมื้อมั้ย หน้าฝนเคยหิวข้าวจะเป็นลมแต่จุดฟืนเปียกไม่ติดมั้ย เคยปลูกผักสามเดือนเก็บไปตั้งแผงวางขายกำละ 10 บาทจากที่เคยมีรายได้ เดือนละเป็นหมื่นแบบนั่งสบายๆ ทุกเดือนมั้ย พอมาย้อนดูตัวเองอีกครั้ง เออ เราคิดเรารู้สึกเหมือนกับที่ชาวบ้านคิดชาวบ้านรู้สึกแล้วแหละ เรามีคำประชดประชันไว้ในใจสำหรับคนทำงานมีเงินเดือนมีรายได้ประจำที่มาพูดว่าเกษตรกรจะต้องปรับตัวอย่างนั้นอย่างนี้ พอชีวิตเราทำนาทำไร่เหมือนกัน ดิ้นรนเหมือนกัน รับรู้ทุกข์ด้วยกัน ความเข้าใจหัวอกเดียวกันมันก็กลายเป็นความสุขไปอีกอย่าง สังคมในหมู่บ้านถึงจะเปลี่ยนไปมากแต่ก็ยังมีการดูแลสารทุกข์สุขดิบกันตามวัฒนธรรมหรือระบบเครือญาติ และเอาเข้าจริงๆ สิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่ก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย  กินอิ่ม นอนหลับ มีบ้านคุ้มลมคุ้มฝน มีน้อยใช้น้อยก็ไม่ต้องหามาก ลดภาระการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้ได้มากที่สุด ลดความอยาก ลดความทะเยอทะยาน ลดอัตตา มันก็เห็นความสุขในชีวิตดิบๆ ไปอีกอย่าง ส่วนแก่เฒ่ากว่านี้ไม่มีแรงพอจะทำเกษตรได้แล้วชีวิตจะต้องปรับอย่างไรอีกก็ค่อยว่ากัน เวลานี้แค่อยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุดก็พอ

 

ThaiNGO :   มีน้องๆ เอ็นจีโอรุ่นใหม่ๆ หลายคน กำลังวาดฝันอยากมาทำเกษตร พอเพียง มีชีวิตสงบงามง่าย อยากจะแนะนำอะไรบ้างไหม
แม้นวาด  :   คงไม่มีคำแนะนำดีๆ แต่จะมีคำท้าทายมากกว่าว่า คุณกล้ามั้ยที่จะเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนความเป็นอยู่ นิสัยที่เคยชิน และไม่รู้ว่าจะหาเงินกินเงินใช้จากที่ไหน เพราะอย่างเราไม่ใช่แค่ต้องดิ้นรนเพื่อที่จะอยู่ให้ได้ หารายได้ให้ได้ แต่ยังแบกอุดมคติที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตด้วย เพราะมันหมายความว่าคุณอาจจะล่ม ไปไม่รอด ต้องเริ่มใหม่ โดยไม่รู้ว่าที่ยืนเก่าจะมีที่ว่างให้คุณกลับไปหรือเปล่า

 

                คุณมีความอดทนกับความเหนื่อยยาก อดทนสู้ใหม่กับการลองผิดลองถูกมากน้อยแค่ไหน เพราะการทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำเกษตรไม่ได้ง่ายเหมือนการปลูกดอกไม้ในกระถาง การขายผลผลิตก็ไม่ง่ายที่คุณจะต้องไปเป็นพ่อค้าแม่ค้าหาตลาดทั้งๆ ที่เหนื่อยมาแล้วกับการทำเกษตรตากแดดตากฝน

                เราคิดว่าการเปลี่ยนชีวิตมาทำเกษตรอย่างเดียวมันก็ฝันกันได้และเป็นไปได้นะในลักษณะของปัจเจกชนที่ต้องการจะปลีกวิเวก ถ้าคุณไม่มีหนี้สิน ไม่มีภาระครอบครัวที่จะต้องดูแล ชีวิตแบบนี้ก็คงให้ความหมายกับตัวเองไปอีกอย่าง เหมือนกระแสนิยมตอนนี้ที่คนรุ่นใหม่เริ่มคิดถึงการไม่สร้างภาระ ไม่สะสม ซึ่งเราเองก็มองไม่ออกว่าในเวลายาวนานมันจะได้ข้อสรุปออกมาอย่างไร

 

                สำหรับเราถ้าจะใช้ชีวิตเป็นปัจเจก ถ้าลงมือทำจนอยู่ตัวได้ นิ่งแล้ว วันหนึ่งเราจะคิดถึงความท้าทายใหม่ๆ อีกหรือเปล่า ความง่ายงามที่ว่ามันจะจำเจน่าเบื่อหรือเปล่า  จะมีคำถามมั้ยว่าคุณค่าในชีวิตคืออะไรถ้าเราไม่ได้อินังขังขอบกับความเป็นไปของสังคม แต่ถ้าจะเอาทุกอย่างที่เป็นเราไปด้วยกันให้ได้ทั้งหมด ทางนี้ก็พยายามอยู่ ไปเรื่อยๆ นะ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าระยะยาวกว่านี้จะออกมาอย่างไร

.


เรียบเรียง โดย อัฎธิชัย  ศิริเทศ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม