โอกาสจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ

3436 13 May 2018

โอกาสจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ

ทวีศักดิ์ ตั้งปฐมวงศ์
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดราชบุรี สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

บทนำ
เขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง (Guangxi Zhuang Autonomous Region) ถือเป็นมณฑลทางภาคตะวันตกแห่งเดียวที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลในทิศตะวันออก แม้จะมีอาณาเขตติดต่อกับทะเล แต่นับเป็นพื้นที่ได้รับผลสำเร็จจากการพัฒนา ในระยะแรกของการเปิดประเทศ ปี ค.ศ.1978 น้อยกว่า มณฑลกวางตง หรือ มณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เนื่องด้วยเป็นภูมิภาคชายแดนและไม่ได้เป็นเมืองท่าที่ถูกจัดให้เป็นประตูสู่การค้าระหว่างประเทศ

ทิศทางการพัฒนาเป็นรูปธรรมขึ้น เมื่อรัฐบาลจีนได้เริ่มดำเนิน "นโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก" (Go West Policy) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม” (Socialist Market Economy) ในปี ค.ศ. 2000 รัฐบาลกลางได้ยกร่างเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความเจริญและส่งเสริมการพัฒนาของพื้นที่ตอนใน ทางภาคตะวันตกให้ทัดเทียมกับมณฑลทางภาคตะวันออก รวมทั้งตระเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาค ตะวันออก ปรากฏผลการดำเนินการในแผนการพัฒนาเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง ซึ่งถูกบรรจุเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี นับตั้งแต่ ฉบับที่ 10 -13 ระหว่างปี ค.ศ. 2001-2020 โดยมุ่งใช้ศักยภาพของเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง ซึ่งอยู่ระหว่าง มณฑลยูนนานด่านหน้าในการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมณฑลกวางตงซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างประเทศ โดยวางยุทธศาสตร์ให้นครหนานหนิง เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ"ประตูสู่อาเซียน" ศูนย์กลางในการติดต่อและขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน

ทิศทางการพัฒนา ฯ ดังกล่าว ได้ถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่องในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 ระหว่างปี ค.ศ. 2016-2020 ซึ่งมุ่งพัฒนานครหนานหนิงเป็น “จุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน” ผ่านกลไก ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมทางบก ผ่านระเบียงเศรษฐกิจหนานนิง-กรุงเทพ ฯ (Economic Corridor Nanning – Bangkok)

นครหนานหนิงประตูสู่อาเซียน

เพื่อตอบสนองกับการเป็น ”ประตูสู่อาเซียน” นครหนานหนิงได้มีการประกาศแผนงานสร้าง “เขตธุรกิจระหว่างประเทศจีน-อาเซียน” (China-ASEAN International Business District) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า กับกลุ่มประเทศอาเซียน โครงการสำคัญหนึ่งในความพยายามสร้างความเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมนานาชาติ ผ่านการจัดงานถาวร คือ งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ณ นครหนานหนิง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ประเทศแถบอาเซียนและจีนได้แลกเปลี่ยนการแสดงสินค้า ทั้งอุปโภคและบริโภค เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การศึกษา และการบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน

ด้านการคมนาคมขนส่งในระบบรางของนครหนานหนิง คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง “สถานีรถไฟหนานหนิงฝั่งตะวันออก” ตั้งอยู่ด้านเหนือของเขตเฟิ่งหลิ่ง มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สายนครหนานหนิง-เมืองหลิ่วโจว-เมืองกุ้ยหลิน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงกรุงปักกิ่ง และนครฉางซา เมืองสำคัญทางเหนือของประเทศได้ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงหนานกว่าง สายนครหนานนิง-นครกวางโจว ทำความเร็วเฉลี่ย 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเส้นทางรถไฟด่วนสายยูนนาน – กวางสี ถูกวางให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมแบบบูรณการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งระบบราง รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถยนต์บริการอื่น ๆ โดยคาดว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 จะมีปริมาณผู้โดยสาร 33.48 ล้านคน และคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มเป็นประมาณ 47.79 ล้าน ในระยะยาว สถานีรถไฟแห่งนี้จะมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง พื้นที่ภาคตะวันตกวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และจะเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-อาเซียนแผนงานสำคัญในการสร้างความเป็นศูนย์กลางของนครหนานหนิง ดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเส้นทางคมนาคมทางบก โดยมีโครงการที่สำคัญได้แก่

ศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งนครหนานหนิง (Nanning Bonded Logistic Center) ถือเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนภายในแห่งแรกของเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงที่มีบทบาทสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ รัฐบาลกลางทยอยประกาศอนุมัติการจัดตั้ง เขตคลังท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแบบบูรณการผิงเสียง และเขตแปรรูปเพื่อการส่งออกเป๋ยไห่ ปัจจุบัน ได้เพิ่ม ศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนฝางเฉิงก่าง พร้อมกับ“ศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งนครหนานหนิง” ด้วยเหตุนี้ เขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงจึงได้เสนอแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับการสร้างเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนในเขตอ่าวเป่ยปู้ให้เป็นระบบโครงข่ายเชื่อมโยงกัน ผ่านความร่วมมือเมืองท่าจีน-อาเซียน' (China-ASEAN Port Cities Network) เพื่อกระชับความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีนกับอาเซียน และในเวลาต่อมา เครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวได้รับการกำหนดให้เป็นโครงการสนับสนุนจาก กองทุนความร่วมมือทางทะเลจีน-อาเซียน (China-ASEAN Maritime Cooperation Fund)

รูปแบบการดำเนินการดังกล่าว คือ การใช้เมืองริมชายฝั่งทะเลและเมืองด่านชายแดนเป็นจุดเชื่อมต่อ ผ่านศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งนครหนานหนิงซึ่งเป็นศูนย์กลางเครือข่าย เพื่อให้บริการด้านโลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนโดยตรงแก่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยนครหนานหนิงอาศัย 3 เมืองชายฝั่งทะเล คือ เมืองเป๋ยไห่ เมืองชินโจว และเมืองฝางเฉิงก่าง กับเมืองด่านชายแดน คือ ด่านโหย่วอี้ เมืองผิงเสียง และด่านตงซิง เป็น “เมืองริมชายฝั่งทะเลที่ไม่ได้อยู่ริมชายฝั่งทะเล” และ “เมืองชายแดนที่ไม่ได้อยู่ริมชายแดน” อันเป็นก้าวต่อไปของการสร้าง “ท่าเรือไร้น้ำ” ซึ่งการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายดังกล่าวมีส่วนช่วยผลักดันให้นครหนานหนิงพัฒนาและเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม รัฐบาลเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงผลักดันให้เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City) เป็น ศูนย์กลางการขนส่งทางถนนสู่อาเซียนผ่าน ยุทธศาสตร์เหลียวมองฉงจั่วประตูสู่อาเซียน (Turn Your Eyes to Chongzuo – Land Access to ASEAN) โดยฉงจั่ว ถือเป็นเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญที่สุดจากตำแหน่งที่ตั้งติดกับเวียดนาม และสนับสนุนโครงการความร่วมมือต้นแบบผ่าน นิคมอุตสาหกรรมจีน- ไทยซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฉงจั่ว (เมืองฉงจั่วได้ลงนามความร่วมมือระหว่างเมืองกับเทศบาลนครพิษณุโลก เมื่อปี ค.ศ. 2013) โดยมีบริษัท น้ำตาลมิตรผลของไทย ได้ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลอยู่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมนี้ มุ่งหวังสู่การเป็นฐานการผลิตและแปรรูปน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน เป็นเขตนิคมที่มีความทันสมัยของเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี และเป็นฐานความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการผลักดันร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศบนแนวระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์ และที่สำคัญคือ เป็นนิคมแม่แบบความร่วมมือจีน-ไทย ในลักษณะเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมจีน(ซูโจว)-สิงคโปร์ และเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน (ชินโจว)-มาเลเซีย ซึ่งได้ดำเนินมาก่อน

แนวคิดการสร้างระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ

เมื่อปี ค.ศ. 2004 เพื่อพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งทางบกให้เข้าถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน แนวคิดการสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ” (Nanning-Bangkok Economic Corridor) ได้ถูกนำเสนอโดยนักวิชาการจากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี (Guangxi Academy of Social Science) ต่อจากนั้นในปี ค.ศ.2006 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมถึงท่าเรือสำคัญอย่างสิงคโปร์ คณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงได้เสนอการจัดตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์” (Nanning-Singapore Economic Corridor) ขึ้นในงานประชุมและเวทีหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 1 (Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation Forum) ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้การผลักดันของรัฐบาลกลางของจีนให้ เขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง เป็นศูนย์กลางในการติดต่อ ค้าขายกับกลุ่มประเทศอาเซียน นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 11 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง และศักยภาพในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการขนส่งทางทะเลเพื่อเชื่อมโยงกับเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ซึ่งเป็นมณฑลตะวันตกของจีนเพียงแห่งเดียว ที่มีทางออกทะเล และมีท่าเรือน้ำลึกที่สามารถเชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับระบบรางรถไฟ เพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังจีนตะวันตกอื่นๆ อีก 10 กว่ามณฑล

 

จวบจนมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 (ระหว่างปี 2016-2020) กำหนดชัดเจนถึงโครงการก่อสร้างระบบการขนส่งต่อสินค้า (Transshipment Port System) และระบบการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้าประเภทน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่เหล็กนำเข้า รวมทั้งถ่านหินตามท่าเรือริมทะเลในเมืองต่างๆเชื่อมแนวพื้นที่เศรษฐกิจเส้นทางสายไหม สวมบทการเป็น "ข้อต่อ" ระหว่างยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกกับเส้นทางสายไหมทางทะเล อาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง เพื่อพัฒนาบทบาทการเป็น "ข้อต่อ" ที่สำคัญในกรอบยุทธศาสตร์ One Belt One Road โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพื้นที่ตอนเหนือกับตอนใต้ กล่าวคือ การกำหนดให้ "นครหนานหนิง" เป็นศูนย์กลาง โดยการเชื่อมกับหัวเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ "แนวพื้นที่เศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก" (One Belt) เช่น นครกุ้ยหยาง นครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครซีอาน นครหลาน โจว และนครอูรุมฉีร์ และมุ่งลงใต้เพื่อเชื่อมกับคาบสมุทรอินโดจีนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ "เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21" (One Road) จากนครหนานหนิงไปยังเวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นำไปสู่การประกาศ ข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน" (A proposal on developing a China-Indochina Peninsular Economic Corridor) ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ครั้งที่ 9 แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ที่จีนเป็นผู้ริเริ่ม ตามแผนงานดังกล่าว รัฐบาลเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง ได้กำหนดให้ 4 เมืองหลักของเป็น "เขตพัฒนาเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้" (Guangxi Beibu Gulf Economic Zone: BGEZ) ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิง และเมืองเป๋ยไห่ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจร่วมกันเป็นมูลค่า 1 ใน 3 ของมณฑล จึงเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจ อีกทั้งภูมิรัฐศาสตร์ มีความใกล้ชิดกับภูมิภาคอาเซียนมากกว่ามณฑลกวางตง ซึ่งเป็นเมืองท่าหลักที่เริ่มหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ต้นทุนการเปิดเมืองท่าแห่งใหม่ก็มีความจำเป็นในแง่ช่วยลดความหนาแน่นของการใช้ท่าเรือในกวางตง

 

บทสรุป

นครหนานหนิง มุ่งหวังการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางในการติดต่อและขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ผ่านโครงการ กรอบความร่วมมือในสาขาต่างๆ มีการออกมาตรการและนโยบายพิเศษเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และเร่งสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงโครงข่ายการคมนาคม เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย เส้นทางตามระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาการเชื่อมต่อไปถึงระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง – สิงคโปร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม