มาช่วยกันเบิ่งเมืองอุดร ให้มันคักๆ

1034 13 Dec 2012

คอลัมน์…เบิ่งคักๆ วันที่ 24 พ.ย.52 เรื่อง...มาช่วยกันเบิ่งเมืองอุดร ให้มันคักๆ โดย...ปราณ ป้องถิ่น สายลมหนาวปลายเดือนพฤศจิกายนโหมพัดผ่านผิวกาย และใบหน้าอันหยาบกร้านของพี่น้องหมู่เฮาชาวนา ซึ่งยังได้หอบเอาความหวังจากเมล็ดข้าวสีทองหน้าฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวมาพร้อมด้วย ทั้งนี้ราคาข้าวเปลือกได้ทะยานสูงขึ้นกว่าทุกปีถึงตันละประมาณ 1.4-1.5 หมื่นบาท แต่ถึงแม้ว่าราคาข้าวที่ทำนามาทั้งปีจะต่ำกว่าราคาทองคำหนัก 1 บาท ซึ่งอยู่ที่ราว 1.8 หมื่นบาทก็ตาม และนั่งคิด คำนวณเล่นๆ ดูว่า ชาวนาต้องขายข้าวถึงประมาณ 1.3 ตัน ถึงจะได้ทองหนัก 1 บาท 1 เส้น ก็เพราะชาวนาผู้ผลิตข้าวเพื่อให้คน (รวมทั้งสัตว์ด้วย) กินแท้ๆ แต่ไม่สามารถกำหนดราคาได้เองเหมือนพ่อค้าทองคำ เฮ้อ! อย่างไรก็ดีหากว่าปีไหนน้ำท่าดี ข้าวงาม ชาวนาก็ยิ้มหน้าบานกันถ้วนทั่ว และมีความสุขได้เหมียนกัน! รุ่งเช้าพระอาทิตย์ยังไม่โผล่ขึ้นจากขอบฟ้าเสียงไก่โต้งขันเจื้อยแจ้ว ก็จะได้ยินเสียงรถอีแต๊กค่อยๆ ทยอยวิ่งออกไปสู่ท้องทุ่งนา พร้อมขนข้าวของอุปกรณ์ทำนาพะรุงพะรัง พอยังไม่ถึงสองโมงเช้าดีนักในหมู่บ้านก็จะเงียบกริบ แต่ทุ่งนากลับคลาคล่ำไปด้วยเสียงเพลงอันเพลิดเพลินจากลำโพงของวิทยุทรานซิสเตอร์ นานาสาระจากผู้จัดทำรายการวิทยุชุมชนคนฮักถิ่น และก็มีเสียงเกราะที่ห้อยอยู่บนคอของเจ้าทุย ซึ่งปีนี้พี่น้องชาวนาในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี นอกจากจะหน้าชื่นตาบานกับข้าวในนาแล้ว ก็ยังมีความสุขกับการเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวอย่างมีความสงบสุข คงยังพอจำกันได้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาเดียวกันนี้ในพื้นที่เหมืองโปแตชอุดรฯ เกิดเป็นข่าวคราวครึกโครม จากการพยายามของฝ่ายข้าราชการกรมเหมืองแร่ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ร่วมกับบริษัทผู้ขอสัมปทานทำเหมือง (บริษัท เอเชียแปซิกฟิก โปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด ปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเมนต์จำกัด (มหาชน)) ได้ลักลอบเข้าพื้นที่ชาวบ้านเพื่อทำการรังวัด ปักหมุดเขตเหมือง (รวมเนื้อที่กว่า 2 หมื่นไร่) และการอาศัยช่องทางตามกฎหมายเพื่อผลักดันให้เกิดเวทีการชี้แจงตามขั้นตอนประทานบัตรเดินหน้าให้จงได้ จากสถานการณ์เหล่านี้ทำให้พี่น้องต้องวางเคียวและมัดข้าวเสียสละเวลาอันมีค่าออกมาคัดค้าน และขับไล่กระบวนการที่ไม่มีความชอบธรรมนี้ จนกระทั่งเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องชาวบ้าน 5 คน แต่เดชะบุญ! ฟ้ามีตาเมื่อศาลตัดสินยกฟ้อง (เดือนธันวาคม ปี2549) พร้อมเหตุผลสนับสนุนว่าการกระทำของชาวบ้านเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ (ปี 2540) เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น ที่ผ่านมาฝ่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีก็ยังได้เรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้ทำการศึกษายุทธศาสตร์แร่โปแตช ซึ่งเนื้อที่แล้วกว่า 6.5 แสนไร่ อย่างรอบด้าน (ได้แก่ที่จังหวัด สกลนคร ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานี) ควรมีการประเมินหรือวิเคราะห์ถึงผลดี ผลเสียที่จะได้รับ ตลอดจนการเสนอทางเลือกให้แก่การพัฒนา สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ที่โปร่งใส และเป็นธรรม หรือที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Strategic Environmental Assessment : SEA โดยเฉพาะเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ ชาวบ้านก็ได้มีข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ เพื่อให้ทำการศึกษา SEA ระดับจังหวัด เพราะหากเกิดเหมืองโปแตชที่อุดรฯ ขึ้นจริง ก็จะเป็นแบบอย่าง หรือบรรทัดฐานให้กับเหมืองโปแตช รวมทั้งเหมืองแร่ในที่อื่นๆ อีก เราจึงต้องช่วยกันเบิ่งให้คักๆ ก่อนตัดสินใจว่าการทำเหมืองโปแตชคือคำตอบของคนอุดร หรือทางเลือกของการพัฒนาเมืองอุดรฯ แล้วหรือไร? และชาวบ้านเองก็เชื่อว่าหากผู้ว่าฯ ยอมทุ่มงบสักก้อนลงมาเพื่อให้ทำการศึกษา SEA ระดับจังหวัด ก็รับรองว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าการผลาญเอางบประมาณแผ่นดินหลายล้านบาทเพื่อไปดูเหมืองร้างที่ประเทศเยอรมันของคณะผู้ว่าฯ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแน่นอน เมื่อนั่งรถเข้าเมืองอุดรฯ ก็จะแลเห็นป้ายขนาดใหญ่ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการผลิตข้าวเหนียวหอมเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารและการแปรรูป จังหวัดอุดรธานี ปี 2552 โดยมีผู้ว่าฯ นายอำนาจ ผการัตน์ ยืนยิ้มแป้นใส่เสื้อย้อมครามผูกผ้าขาวม้า หาบมัดกล้า ยืนเด่นเป็นพรีเซ็นเตอร์อยู่ตามแยกต่างๆ ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานเกษตร จ.อุดรธานี ระบุว่า จ.อุดรธานี ถือเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ในปีการผลิต 2551/52 นี้ มีพื้นที่ปลูกข้าวเหนียว 1,652,266 ไร่ มีชาวนาหรือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 147,896 ครัวเรือน มีค่าใช้จ่ายในการผลิต 2,515 บาทต่อไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 420 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวรวมประมาณ 693,951 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ทางจังหวัดจึงได้จัดสรรงบประมาณกว่า 33 ล้านบาทให้สำนักเกษตร จ.อุดรธานี ดำเนินโครงการดังกล่าว ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ควรจะนำมาศึกษาทางเลือกการพัฒนาเมืองอุดร ซึ่งคนอุดรต้องช่วยกันเบิ่งให้คักๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม ให้มีองค์ความรู้และก้าวไปให้พ้นจากมุมมองการพัฒนาเดิมๆ เพราะคนอุดรจะต้องกำหนดอนาคตของเมืองอุดรด้วยตนเอง... //-/-/-/---/-/--/-//-/-/-/-/-//-/-/-/---/-/-/

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม