1220 30 Sep 2022
ขอบคุณภาพ จาก : https://theisaanrecord.co/2021/02/11/jatuporn-cha-ueng-section-112/
สืบเนื่องจากคำพิพากษาตัดสินจำคุก จตุพร แซ่อึง (นิว) เป็นเวลา 2 ปีจากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์เมื่อเดือนตุลาคม 2563
ไคลด์ วอร์ด รองเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า กิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์นั้นเป็นการตีความสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศในเชิงเสียดสี โดยเป็นงานสาธารณะซึ่งจัดขึ้นโดยสงบ ไม่ต่างจากงานเทศกาลตามท้องถนนทั่วๆ ไปที่มีการแสดงดนตรี ออกร้านขายอาหาร และการเต้นรำ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่ควรต้องถูกตัดสินลงโทษ เพียงเพราะการมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มกันโดยสงบเช่นนี้
“คำพิพากษาในคดีนี้ นับเป็นการตัดสินลงโทษในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นคดีที่ 10 ตั้งแต่ปี 2564 การตัดสินลงโทษครั้งนี้เป็นปฐมบทอันน่ากลัวของทิศทางการบังคับใช้กฎหมายในอนาคตอันใกล้ ตั้งแต่การชุมนุมโดยสงบเป็นส่วนใหญ่ที่เริ่มขึ้นในปี 2563 มีนักกิจกรรมและผู้ชุมนุม 210 คนถูกฟ้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์”
“เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการดำเนินคดีทั้งหมดต่อบุคคลผู้เพียงใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยทันที พร้อมปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังอย่างไม่ชอบธรรม”
“จากการที่กระแสการชุมนุมประท้วงในประเทศไทยมีความเข้มข้นขึ้น คำตัดสินลงโทษในคดีล่าสุดนี้สะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการปราบปรามผู้เห็นต่างที่ไม่ใช้ความรุนแรง”
“แม้ว่ารัฐไทยมีหน้าที่ในการคุ้มครองการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ แต่เจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยหลายรายเป็นเยาวชนหรือแม้แต่เด็ก พวกเขาควรมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนในการสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงในการถูกจำคุกและถูกบันทึกประวัติอาชญากรรมอย่างไม่เป็นธรรม”
ข้อมูลพื้นฐาน
ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกผู้ชุมนุมชื่อ จตุพร แซ่อึง (นิว) เป็นเวลา 2 ปีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ฟ้องดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ตามมาตรา 112 ต่อนิว กฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 3 ถึง 15 ปี สำหรับบุคคลใดที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ศาลได้ลดโทษของนิวเป็นจำนวน 1 ใน 3 เนื่องจากนิวให้การเป็นประโยชน์ จึงเหลือโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในคดีเดียวกันนี้ นิวก็ถูกตัดสินลงโทษในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ โดยถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท ภายหลัง ศาลได้ลดค่าปรับเหลือ 1,000 บาท ปัจจุบัน นิวถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ทัณฑสถานหญิง กรุงเทพฯ ขณะที่กำลังรอศาลอุทธรณ์พิจารณาคำขอประกันตัว
ในหลากหลายโอกาส ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้นและผลในการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบหลายต่อหลายครั้ง ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ รวมทั้งประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติต่างๆ ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าว หรือแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยอีกด้วย
นิวได้เข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ ณ ถนนสีลม ที่กรุงเทพฯ วันที่ 29 ตุลาคม 2563 นิวถูกกล่าวหาว่าแต่งกายเลียนแบบและล้อเลียนสมเด็จพระราชินีด้วยการแต่งชุดไทย
การชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2563 นี้เป็นหนึ่งในการชุมนุมกว่าสิบการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2563 และต้นปี 2564 ซึ่งมีผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่รวมทั้งเด็กจำนวนหลายหมื่นหรือแม้แต่หลายแสนคนออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นไปโดยปราศจากความรุนแรง อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีอาญากับประชาชนเหล่านี้จำนวนกว่า 1,800 คน รวมไปถึงเด็กและผู้เยาว์กว่า 280 คน จากการเข้าร่วมการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น
จากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา มีประชาชนอย่างน้อย 210 คน ที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยตั้งแต่ปี 2564-2565 มี 10 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินว่ามีความผิด
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ขอให้ความเห็นต่อเนื้อหาของประเภทคำพูดต่างๆ ที่ถูกตีความว่าเป็นการละเมิดมาตรา 112 แต่ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบ
ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ข้อ 19 และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบภายใต้ข้อ 21 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรติดตามการนำ ICCPR ไปปฏิบัติ ได้ระบุถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ เกี่ยวกับกฏหมายว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ทั่วโลก โดยกล่าวว่า บุคคลสาธารณะทุกคน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ล้วนเป็นผู้ที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างชอบธรรม และการต่อต้านคัดค้านทางการเมือง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของรัฐนั้นไม่ควรเป็นเรื่องต้องห้าม แม้ในกรณีที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นอาจถูกมองว่าเป็นโทษที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท คณะกรรมการฯ ได้ลงความเห็นว่า “โทษจำคุกไม่ใช่เป็นการลงโทษที่เหมาะสมในทุกกรณี”
ประเทศสมาชิกสหประชาชาติต่างๆ ได้เสนอแนะให้ประเทศไทยยกเลิกมาตราว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของประเทศไทยที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังคงปฏิเสธที่จะรับรองข้อเสนอแนะเหล่านั้นเสมอมา
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ press@amnesty.org
------------------------------
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม