942 03 Aug 2022
ขอบคุณภาพ จาก : https://prachatai.com/journal/2021/10/95707
22/7/2565
ภาคภูมิ แสวงคำ
นักกฎหมายอิสระ
ถึงวาระประกาศผลสอบรายงาน US Trafficking in Persons หรือTIP Report ซึ่งปี 2022นี้เลื่อนจากเดือนมิถุนายนมาเป็นปลายเดือนกรกฎาคม และครบรอบปีที่ 21 ของการออกรายงานของสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ (Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (US Department of State) โดยรัฐบาลไทยน่าจะสุขสมหวังที่นำประเทศไปถึงบัญชี (tier) 2 ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ล่วงหน้า
ภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์ค้ามนุษย์ โดยเฉพาะมาตรการล็อคดาวน์ทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา นำไปสู่นโยบายการจำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่างๆ ทั้งสิทธิการทำงาน การศึกษา ความเป็นส่วนตัว การเคลื่อนย้าย การนับถือศาสนา การแสดงออกและการรวมกลุ่มโดยสันติ รวมถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ภาวะการว่างงานยังเร่งเร้าให้ผู้คนตัดสินใจย้ายถิ่น และตกในความเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์
บทบาทการออกรายงาน 188 ทั่วโลกของสหรัฐฯ นั้นเป็นไปตามกฎหมาย The Trafficking Victims Protection Act (TVPA) ปี 2000 ซึ่งมีที่มาสอดคล้องกับพิธีสารของสหประชาชาติเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ในเด็กและสตรี หรือ Palermo Protocol ปี 2000เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ ทั้งเพศพาณิชย์และแรงงาน
ก่อนที่การค้ามนุษย์จะเป็นวาระโลก ย้อนไปในปี 1995 ก็เคยปรากฏคดีประวัติศาสตร์อย่าง EL Monte ที่สถานประกอบการสิ่งทอ (Sweatshop) ในเมืองเอลมอนเต้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ย้ายฐานการผลิตจากไทย พบการบังคับใช้แรงงานไทย 72 คนในสภาพต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ ให้ทำงานยาวนานกว่า18 ชั่วโมง หลายรายแทบไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกจำกัดเสรีภาพการติดต่อสื่อสาร และถูกกักบริเวณห้ามออกภายนอก สุดท้ายคดีระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนี้กลายเป็นกรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกา ทั้งเป็นหมุดหมายสำคัญให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมาย TVPA ในที่สุด
สำหรับเนื้อหารายงาน TIP ประกอบด้วยข้อเสนอแนะสำคัญ การดำเนินคดี การคุ้มครอง การป้องกัน การจัดทำบัญชีแต่ละชาติยังคำนึงถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแง่ศักยภาพการต่อต้านการค้ามนุษย์ ที่ต้องพลอยชะงักงันหรือขับเคลื่อนยากลำบากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ อันดับประเทศในภูมิภาคASEANปีนี้ มีการเคลื่อนไหวอย่างมาก โดยสิงคโปร์ยังขึ้นลิฟท์ความเร็วสูงไปถึงบัญชี (tier) 1 เคียงข้างฟิลิปปินส์ที่ครองอันดับนี้อย่างเหนียวแน่นและโดดเด่น
ที่เป็นปรากฎการณ์ก้าวกระโดด คือ ประเทศร่วมภูมิภาคอย่างบรูไน กัมพูชา และเวียตนาม พาเหรดกันร่วงไปอยู่ในบัญชี 3 เป็นครั้งแรก ร่วมกับเมียนมา มาเลเซีย ที่ล่วงหน้าไปร่วมหอกับยักษ์ใหญ่อย่างจีน และรัสเซีย
ทั้งนี้ รายงาน TIP อธิบายว่าตำแหน่ง (tier placement) ไม่ได้ขึ้นกับขนาดของปัญหาของแต่ละประเทศ แต่วัดจากระดับความพยายามของรัฐบาลที่ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายTVPA หรือไม่ เพียงใด
ถึงเวลานี้จึงแทบไม่ต้องถกเถียงกันต่อไปแล้วว่ารายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีการเมืองและนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯเป็นสาระสำคัญ วัดจากการแสดงออกถึงพันธกิจในการเป็นผู้นำโลกในประเด็นต่อต้านการค้ามนุษย์ เช่นเดียวกับประเด็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่ผ่านมาการเมืองระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า การผลิตและส่งออก ทั้งกดดันห่วงโซ่อุปทานภาคธุรกิจต่างๆของไทย เช่น ภาคประมงทะเล แปรรูปสัตว์น้ำ เกษตรกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายภายใน ทั้งกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้บรรลุมาตรฐานการต่อต้านการค้ามนุษย์ ทาสยุคใหม่ และการเคารพสิทธิมนุษยชน
นอกจากการเมืองที่สะท้อนผ่านรายงานTIP ที่เป็นมาตรวัดคุณค่าฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม ในมุมคู่ขนาน สหรัฐฯยังมีบทบาทจัดสรรงบประมาณโครงการ และสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญแก่ไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์มายาวนาน ทั้งการฝึกอบรมทักษะบุคลากร โดยเฉพาะผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
ที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษในปี 2022นี้ ย่อมไม่พ้นที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯมอบรางวัล Trafficking in Persons Report Hero แก่คุณอภิญญา ทาจิตต์ จากศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล (Stella Maris) นับเป็นฮีโร่ชาวไทยท่านที่ 3 ถัดจากคุณสมพงษ์ สระแก้ว (มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN) ในปี 2008 และคุณวีรวรรณ มอสบี้ (HUG Project / ACT House) ในปี 2017 ที่ล้วนปฎิบัติงานในภาคประชาสังคม และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทั้งสามท่านยังถือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย TIP Report Hero นานาชาติที่จัดตั้งขึ้นในปี 2012
รูปธรรมหลายประการที่ไทยตอบสนองถึงความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ที่พัฒนารูปแบบใหม่อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การดำเนินคดีแสวงหาประโยชน์ทางอินเทอร์เน็ต การจัดทำคู่มือกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism : NRM) เฉพาะสำหรับผู้ปฎิบัติงาน เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้ชัดเจนเป็นระบบ
ในอีกด้านหนึ่ง บรรดาข้อเสนอแนะสำคัญที่ถูกสหรัฐฯพร่ำบอกต่อเนื่องมาหลายปี อาจเป็นข้อจำกัดที่ยังไม่บรรลุผล เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐในการคัดแยกเหยื่อแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การผ่อนคลายเสรีภาพของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารหรือสามารถเดินทาง โดยไม่คุ้มครองผู้เสียหายไว้เนิ่นนานเกินจำเป็น สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ควรอาศัยขั้นตอนฟื้นฟูจิตใจในรายที่บอบช้ำ
ที่กล่าวมาทั้งหมดในรายงาน TIP ล้วนสะท้อนผลงานสำคัญในรอบปีของประเทศ เชื่อมโยงกับแนวคิด “No victims no tears” จากงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ทุกภาคส่วนพึงกำหนดทิศทางเป้าหมายร่วมกันที่จะลดเหยื่อและลดคราบน้ำตาแห่งความทุกข์ได้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในปีต่อไป.
เอกสารประกอบการเขียน
US Department of State (2020).Freedom First : Celebrating 20 Years of Progress to Combat Human Trafficking
17 Apr 2025
17 Apr 2025
17 Apr 2025
17 Apr 2025
17 Apr 2025
17 Apr 2025
17 Apr 2025
17 Apr 2025
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม