ขอเชิญเข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

984 02 Sep 2015

  พรุ่งนี้ (2 กันยายน 2558) เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี  มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีการขอให้ปล่อยตัวนายพอละจี  รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาตามวันและเวลาดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำร้อง ในคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 ที่นางสาวพิณนภา  พฤกษาพรรณ   ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายบิลลี่ จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 มีใจความว่า  จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญ อันเป็นพิรุธไม่  พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังนายบิลลี่ไว้โดย ไม่ขอบด้วยกฎหมาย  คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล  ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน  ซึ่งนางสาวพิณนภา  ผู้ร้อง ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว  จึงได้ยื่นฎีกาในประเด็นดังต่อไปนี้
  1. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฯ มีความขัดแย้งกับนายบิลลี่ในกรณีการเผาทำลาย ไล่รื้อ บ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จึงอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินคดี และนำไปสู่การควบคุมตัวนายบิลลี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของนายบิลลี่
  2.        การ พิสูจน์ว่านายบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วหรือไม่นั้น โดยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน  ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการควบคุมตัว ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของญาติผู้ถูกควบคุมตัว และตุลาการจะต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ถึงที่ สุดว่านายบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจริง เมื่อ ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกการจับ บันทึกของกลาง และบันทึกการปล่อยตัว จึงไม่อาจเชื่อได้ว่านายบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว  และเชื่อได้ว่านายบิลลี่ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฯ
  3. พยานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับ ฟังล้วนแล้วแต่อยู่ใต้บังคับบัญชาและการดูแลของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร  ซึ่งเบิกความขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนในประเด็นการปล่อยตัวนายบิลลี่ อันเป็นข้อสำคัญในคดี  โดยพนักงานสอบสวนได้พบพยานหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่า นายบิลลี่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงขอให้ศาลฎีกาไต่สวนพยานเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมีสาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้
ภายหลังจากยื่นฎีกาและคำร้องขอให้ศาลฎีกาไต่สวนพยานเพิ่มเติม ปรากกฎว่ายังไม่มีคำสั่งให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติมแต่อย่างใด คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย  ถูกนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวและได้หายตัวไปในระหว่างการควบคุมตัวดังกล่าว ภรรยาของนายบิลลี่จึงดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาล เพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ในการค้นหาความจริงของการควบคุมตัวนายบิลลี่ และจากกรณีการควบคุมตัวนายบิลลี่ดังกล่าว พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ได้ตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 นางสาวพิณนภาได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้รับคดีการหายตัวของนายบิลลี่เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากคดีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทำให้มี อุปสรรคในการสืบสวนสอบสวน เกิดความหวาดกลัวของพยาน และมีความยากลำบากในการสืบหาพยานหลักฐาน คณะ ทนายความ เห็นว่าคดีนี้ เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม  การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาด ในการสืบสวนหาความจริง  เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศต่างมีข้อเรียกร้องให้เจ้า หน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้มีความคืบหน้าโดยเร็วและ อย่างเป็นอิสระ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดความรับผิดทางอาญากรณีมีการบังคับให้ บุคคลสูญหายตามกฎหมายของไทย แต่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคล ถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญ หายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน             02-6930682 วราภรณ์  อุทัยรังษี  (ทนายความ)             084-8091997 --

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม