ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง

3283 21 Jul 2019

เครือข่ายภาคประชาสังคมจัดเวทีเสวนา ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง 83 องค์กรอ่านแถลงการณ์ 8 ข้อหยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน ขณะที่ตัวแทน UN ระบุลงพื้นที่พบเกษตรกร ไร้ทีดินทำกิน ชาวนาชาวไร่ในหลายภูมิภาคได้รับผลกระทบจากคำสั่งทวงคืนผืนป่าของคสช.จำนวนมาก เตือนรัฐอย่าละเมิดอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและที่ดินทำกินหลายฉบับที่ได้ลงนาม พร้อมประสานกระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเต็มที่ ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเสนอโมเดลป่าชุมชนป่าวัฒนธรรมเพื่อป้องกันการฟ้องร้องระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ยกกรณีปู่คออี้เป็นต้นแบบความสำเร็จในการต่อสู้พิสูจน์สิทธิที่ดินทำกิน  ด้านอาจารย์อนุสรณ์อัดนโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นการสยายปีกของกองทัพในฐานะเป็นเบี้ยตัวหนึ่งของอำนาจเก่าหวังเอาใจชนชั้นกลาง พร้อมสถาปนาระเบียบอำนาจจัดสรรประโยชน์รัฐสมทบทุนใหญ่เฉียดเอากำไรให้ทานคนจนโดยไม่มองปัญหาของคนที่ฐานราก เสนอภาคประชาคมรวมตัวทานอำนาจรัฐและสร้างพลังในการแก้ปัญหาให้เกิดขึ้น

ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 1 อาคารรัตนคุณากร มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ  (UNOHCHR) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิต และภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรได้เสวนาวิชาการในหัวข้อ ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง

                ทั้งนี้เวทีเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นสืบเนื่องจากนโยบาย มาตรการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ประกอบคำสั่ง ที่ 66/2557 ได้ส่งผลกระทบความเดือดร้อนอย่างหนักหน่วงต่อชาวบ้านคนจนทั่วประเทศ เช่นกรณีล่าสุดที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง เข้ามาปฏิบัติการจับกุม และยื่นฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ จำนวน 14 ราย 19 คดี ซึ่งสถานภาพทางคดีนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยครบทั้งหมด 14 ราย เวทีเสวนาในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยมีตัวแทนจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้

น.ส. Therese Bjork  ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) กล่าวนำการจัดงานในครั้งนี้ว่า กล่าวว่า ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกการเข้าถึงที่ดินเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุดขององค์การสหประชาชาติ ที่ผ่านมา UN ได้ทำงานกับชุมชนหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่แก่งกระจาน พื้นที่ชุมชนคลองไทรที่สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ชุมชนไทรทองเพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิในการเข้าถึงที่ดินของประชาชนได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการถือครองที่ดินในประเทศไทยเป็นประเด็นซับซ้อนและมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการถือครองที่ดินที่การกระจุกตัวของที่ดินตกอยู่ในปัจเจกไม่กี่คนและกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความรุนแรง ทั้งนี้จากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ระบุสัดส่วนการถือครองที่ดินในประเทศไทยว่า ที่ดิน 30 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยเป็นของโดยเอกชน ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าของโดยรัฐ กรมป่าไม้และกรมที่ดิน และที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ในสิทธิครอบครองของเอกชนเป็นพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของเอกชนทั้งหมด มีชาวไร่ชาวนาเกษตรกรเพียง 29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ครอบครองที่ดิน ส่วนใหญ่อยู่ในมือของนักธุรกิจและนักการเมือง การกระจายที่ดินอย่างไม่เท่าเทียมทำให้ชาวบ้านเรียกร้องให้เกิดการแบ่งสรรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม ความพยายามของรัฐไทยในการกำจัดการถางไม้ทำลายป่าคือการประกาศพรบ.อุทยานแห่งชาติ พรบ.ป่าไม้ทำให้การแก้ปัญหาที่ดินในประเทศไทยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ทำให้เกิดคำสั่งของ คสช.ที่ร้ายแรงต่อการเข้าถึงที่ดินทำกินทำให้การต่อสู้ของชุมชนเพื่อมีที่ดินทำกินยากลำบากมากยิ่งขึ้น คำสั่งของคสช.ที่จำกัดสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการรวมตัวกันอย่างสันติจำกัดความสามารถของชุมชนในการรวมตัวกันในการแสดงออกทางความคิดข้อกังวลต่างๆ ทั้งนี้ถึงแม้ข้อพิพาททางด้านที่ดินระหว่างรัฐกับชุมชนดำเนินมาหลายทศวรรษแต่ คสช.ได้ออกคำสั่งที่เมื่อนำไปปฏิบัติเป็นธรรมแล้วทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นและสวนทางกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีพ.ศ. 2557 เราได้รับรายงานเกี่ยวกับกับการนำคำสั่ง คสช.ที่นำไปสู่การบังคับคดีในเรื่องที่ดินที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลากหลายคดี โดยการนำคำสั่งคสช.ไปปฏิบัติไม่ได้นำประเด็นสิทธิชุมชนเข้ามาพิจารณาในการดำเนินการด้วย  นอกจากนี้ประเทศไทยเองได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลากหลายฉบับที่พูดเรื่องการปกป้องสิทธิชุมชนและการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำมาหากินหรือหาอาหารและเครื่องนุ่งห่มเพื่อปากท้องของตนเองได้ซึ่งในเรื่องของอาหารนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน และการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำเสนอประเด็นของตนในพื้นที่สาธารณะได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน นอกจากนี้ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ CEDAW ที่ไทยได้ลงนามได้ระบุในอนุสัญญาอย่างชัดเจนว่าให้รัฐไทยเปิดโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมในการปกป้องตนเองและท้องถิ่นได้ แต่ในข้อเท็จจริงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในเรื่องที่ดินและชุมชนยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ

น.ส. Therese Bjork  กล่าวว่า มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 33 คนที่เป็นเหยื่อและเป้าหมายจากการฆาตกรรมและอุ้มหาย ในจำนวนนั้นมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 27 ท่านถูกฆาตกรรมทำให้เสียชีวิตในเรื่องที่ดินและชุมชนในรอบสิบปีที่ผ่านมา  และความรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิก็ยังคงดำเนินต่อไป UN ได้ลงพื้นที่ภาคเหนือพบปัญหาเจ้าหน้าที่ทหารได้บุกรุกที่ดินไร่สวนต่าง ๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ป่าสงวน มีการทำลายพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากที่ดินทำกินทำให้ชาวบ้านเกิดความกลัว ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2014  เป็นต้นมามีการดำเนินคดีบุกรุกป่า นอกจากนี้แล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัวที่ถูกดำเนินคดีทางอาญาในคดีที่ดิน  ในพื้นที่ของจังหวัดลำปางชาวอาข่าก็ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าซึ่งเขาก็ต้องยอมรับผิด ในพื้นที่แม่ฮ่องสอนก็มีชาวกะเหรี่ยงกว่า 37 คนโดนดำเนินคดีในข้อหามีไม้ไว้ในครอบครอง ชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยวิธีดั้งเดิมของพวกเขา และล่าสุดกรณีของไทรทอง ศาลอ่านคำพิพากษาซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้เรายับพบว่าในส่วนของชาวบ้านที่ต้องคำพิพากษาศาลจำคุกในกรณีนี้ 14 คน มีปัญหาเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกจับกุมคุมขังที่มีอายุมากมีผลกระทบทางด้านปัญหาสุขภาพมากที่สุด  UNOHCHR  เราไม่ได้นิ่งเฉยเราได้ประสานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้และเราจะทำงานกับชุมชนต่อไปเพื่อหาทางออกให้สิทธิมนุษยชนได้รับความเคารพ

นายไพโรจน์  วงงาน ตัวแทนชาวบ้าน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับลกระทบจากนโยบายทวงคืนป่ากล่าวว่า กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ มี 5 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ความเป็นมา ก่อนที่จะประกาศเป็นอุทยาน เดิมที ภาครัฐ ได้ผุดโครงการ จัดสรรที่ดินทำกิน แก่ราษฎรผู้ยากไร้ ในพื้นที่ป่าสงวน เสื่อมโทรม หรือ คจก. เมื่อมีชาวบ้านเข้ามาทำกินอยู่อาศัย พอประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี  30 มิถุนายน 2541 ก็มีการขอคืนและไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ จนชาวบานต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ยกตัวอย่างกรณี นายทองพูน วงษ์งาม  จากการสำรวจพื้นที่และพิกัด พบว่ามาการเข้ามาอยู่ ก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ และไกลกว่าเขตที่ระกาศกว่า 10 กิโลเมตร  กลับกลายเป็นว่า นายทองพูน กลายเป็นผู้บุกรุก อีกแปลง ที่บ้านทรัพย์หวาย เป็นเคสที่คล้ายๆกัน  เป็นความผิดพลาด จากการจับพิกัด การตีแปลง  เป็นเหตุให้มีชาวบ้านต้องคดีบุกรุก มั่นใจว่า จะมีกรณีแบบนี้เพิ่มขึ้นอีก

การแก้ปัญหา เราเคยมีการเสนอให้มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้าน ที่ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ผ่านการมีป่าชุมชน ป่าวัฒนธรรม ป่ากันชน รวมไปถึงพื้นที่ริมห้วย ซึ่งการมีป่าประเภทนี้ เราไม่จำเป็นต้องจ้างเจ้าหน้าที่มาดูแลป่า ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่เขาจะดูแลให้เอง ตรงนี้เราสามารถเพิ่มพื้นท่าได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นี่คือแผนที่เราต้องทำร่วมกัน แต่ที่ผ่านมา เมื่อมีการเสนอไป แผนนี้ก็ไม่มีการผลักดันแบบเต็มรูปแบบ เราจึงอยากผลักดันแผนนี้ในการเป็นโมเดลในการจัดการร่วมกัน

ด้านนายปราโมทย์  ผลภิญโญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน  กล่าวว่า พี่น้องทั้ง 14 ราย กรณีบ้านซับหวาย จังหวัดชัยภูมิ   แม้จะมีการยกเลิกประกาศของ คสช.ฉบับที่ 64 ในการทวงคืนผืนป่า ไปแล้วเมื่อวาน แต่ 5 ปีที่ผ่านมา บาดแผลของชาวบ้านก็ยังคงอยู่ ซึ่งทั้ง14ราย มี 3 ราย  ที่ได้รับการสำรวจตามมิติคณะรัฐมนตรีแต่ยังถูกลงโทษตามคำพากษา  นำมาซึ่งการขอพื้นที่คืน ในกระบวนการการดำเนินคดี ชาวบ้านแจ้งว่ามีการให้เซ็นยินยอม ถ้าไม่เซ็น ก็จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายโดยอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี  30 มิถุนายน 2541 ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว จนต้องเซ็นยินยอม ทั้งการประกาศใช้ มติคณะมนตรี รวมไปถึง การประกาศใช้ นโยบายการทวงผืนป่าของ คสช. ถือเป็นระบบการใช้อำนาจนิยม หรือการผูกขาดในระบบราชการ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน นำมาซึ่งการจับกุมคุมขัง

ขณะที่นาย สุรพงษ์  กองจันทึก ผู้อำนวยการศึกษากะเหรี่ยงศึกษาและพัฒนา  กล่าวว่า เรื่องของการจับชาวบ้านกรณีที่มีการบุกรุกป่า  มีมานานหลายสิบปี กรณีที่มีประกาศ ของคสช. ฉบับที่ 64  ในการทวงคืนผืนป่าของคสช. ฉบับที่ 66 ระบุชัดเจนว่า จะ ไม่กระทบ ต่อผู้ยากไร้  แต่ในปัจจุบัน กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นผู้ยากไร้ทั้งนั้น ล่าสุดแม้จะมีการยกเลิกประกาศนี้ไปแล้ว  แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ยกตัวอย่างกรณี ชาวบ้าน 3 ครอบครัวที่จังหวัดสุพรรณบุรี  ที่ถูกฟ้องร้องโดยกรมอุทยานฯ กรณีรุกป่าจำนวน 3 ไร่ และถูกเรียกร้องค่าเสียหาย รวมทั้งสิ้นกว่า 3 แสนบาท ซึ่งตนมีโอกาสลงไปในพื้นที่จริง เพื่อนำข้อมูลนี้ไปยืนยันต่อศาลฎีกา พบว่า ป่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้เกิดความเสียหาย ซึ่งศาลก็เห็นพ้องต้องกัน โดยให้เหตุผลว่า กรณีกรมอุทยานฯ อ้างผลวิจัย เกี่ยวกับความเสียหาย เป็นการเก็บข้อมูลแบบคาดเดาไม่ใช่งานวิจัย สุดท้ายคดีนี้ชาวบ้านเป็นผู้ชนะ

ต่อมาเป็นกรณีของปู่คออี้ บ้านใจแผ่นดิน  ที่ป่าแก่งระจาน ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำการเผาบ้านไล่ที่  กรณีนี้เราเอาแผนที่ทหารยืนยัน ว่า ชุมชนนี้ อยู่มาก่อนนับ 100 ปี เป็นสิทธิโดยชอบธรรม แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ไปเผาและรื้อถอน กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ เราสามารถอ้างมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเอง ก็เห็นชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งเราสามารถอ้างตรงนี้ได้ หากผู้ที่ถูกร้องเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และพิสูจน์ได้ว่าอยู่มาก่อน

กรณีชุมชนอยู่ร่วมกันกับป่าได้ ทั่วโลกสามารถดำเนินการและทำได้จริง ซึ่งโมเดล การอยู่ร่วมกันคนกับป่า ผ่านป่าชุมชน ป่าวัฒนธรรม สามารถทำได้จริง หากเราเสนออย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดขึ้น เชื่อว่า ปัญหาการฟ้องร้องเกี่ยวกับการรุกป่าก็จะไม่เกิดขึ้น หรือมีจำนวนน้อยมาก และที่สำคัญ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็ต้องมีความเป็นธรรมเหมาะสมเช่นกัน

ด้านนางอมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  กล่าวว่า กรณีภาครัฐฟ้องร้องชาวบ้านกรณีรุกป่า นับเป็นปัญหาเรื้องรัง มานาน  ซึ่งส่งผลต่อหลักสิทธิมนุษยชน ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน ยกตัวอย่าง กรณีปฏิญญา ไฟรบวร์ก  ที่มีแผนการดำเนินงาน ให้ชาวบ้านและภาครัฐมาพูดคุยหาทางออกกัน เมื่อพูดคุยแบบตกผลึกแล้ว ก็หาทางออกร่วมกัน เช่น การดำเนินการผ่านป่าชุมชน ป่าวัฒนธรรม ที่ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้ ขณะที่ความขัดแย้งในอดีต เราสามารถรื้อฟื้นเพื่อแก้ไขได้ โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่ต้องมีความเป็นธรรม และนับเป็นหัวใจที่ยึดโยงในส่วนของหลักสิทธิมนุษยชน

ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดและประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับต้องตรวจสอบได้ และกลไกในการตรวจสอบต้องเป็นการตรวจสอบแบบภายนอกแนวราบไม่ใช่แนวดิ่ง การใช้อำนาจรัฐต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กรอื่นและต่อประชาชนด้วย นอกจากนี้ในส่วนของการดำเนินคดีโดยรัฐทุกฝ่ายจะต้องกระตือรือร้นในการตรวจสอบค้นหาความจริง กระบวนการยุติธรรมจะต้องสร้างความเชื่อถือศรัทธา โดยศาลสามารถที่จะไต่สวนมูลฟ้องเองได้ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวเนื่องมาที่กระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย และศาลเองจะต้องประกันความบริสุทธิ์จำเลยได้ ที่สำคัญอัยการเองต้องตรวจสอบพยานหลักฐานให้ดีเพราะอัยการสามารถที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีเหล่านี้ได้ถ้ากระบวนการยุติธรรมในบ้านเมืองเราดีบ้านเมืองก็จะสงบ คดีนี้อัยการปฏิบัติภารกิจน่าจะสั่งไม่ฟ้องได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าถ้ามองในแง่หนึ่งมันเหมือนกับการประดิษฐ์ถ้อยคำเหมือนกรณีที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเคยประดิษฐ์ถ้อยคำเรื่องการกระชับพื้นที่เป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำเพื่อทำให้เกิดกิจกรรมบางอย่างเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่อยู่ข้างหลังด้วยถ้อยคำที่สวยหรู ซึ่งนัยยะของการผลิตถ้อยคำมีการเอาใจคนบางกลุ่มซึ่งเราต้องถามว่าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่านั้นใครที่จะได้ประโยชน์และผู้ประดิษฐ์ถ้อยคำนั้นต้องกาเอาใจใคร นโยบายทวงคืนผืนป่าจะได้ใจชนชั้นกลางที่คิดว่ามีป่าเอาไว้ชื่นชม มีป่าเอาไว้ท่องเที่ยวหรือว่าเอาไว้กางเต็นท์โดยในป่านั้นไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อถามว่านโยบายทวงคืนผืนป่าไปยึดโยงกับใครเราก็จะเห็นว่าไปยึดโยงกับกลุ่มคนบางส่วนที่ลุกขึ้นมาเป่านกหวีดซึ่งภายหลังจากมีการยึดอำนาจใหม่ๆพอมีการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่าก็เกิดความตื่นตาตื่นใจถูกใจกองเชียร์ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งสัญญาณทำให้เกิดการรัฐประหาร

คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า ตนคิดว่านโยบายทวงคืนผืนป่านั้นเป็นเรื่องที่ไปไกลกว่านั้นและเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นมาก นโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นการสยายปีกของกองทัพในฐานะเป็นเบี้ยตัวหนึ่งของอำนาจเก่าในการรื้อฟื้นระเบียบอำนาจที่ตัวเองเคยถูกท้าทายเอากลับคืนมา ซึ่งภายใต้โจทย์แบบนี้คนจนจะอยู่ตรงไหน 5 ปีที่ผ่านมามีการสถาปนาระเบียบอำนาจจัดสรรประโยชน์รัฐสมทบทุนใหญ่เฉียดเอากำไรให้ทานคนจน เราจึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่จะเจอนโยบายบัตรสวัสดิการคนจน นโยบายประชารัฐมากมาย ความจนไม่สามารถแก้ได้ด้วยความสงเคราะห์ สาเหตุแห่งความยากจนคือ ประชาชนจนเพราะเข้าไม่ถึงสิทธิ  จนเพราะเขาไม่ถึงอำนาจ จนเพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากรในการพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นความจนต่างๆเหล่านี้  จึงไม่เข้ากับแนวทางที่รัฐต้องการอยากจะพัฒนาให้เกิดขึ้นและไม่น่าแปลกใจที่ กลุ่มชาวบ้านไทรทองไม่ได้ตรงกับการแก้ปัญหาตรงนี้   นอกจากนี้แล้วการจัดสรรผลประโยชน์หรือโภคทรัพย์มีความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินแต่คนบางกลุ่มกับมีการเก็บที่ดินไว้กว่า 700,000 ไร่ ตอนนี้สิทธิของประชาชนก็ถูกละเมิดไปหมด

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังระบุอีกว่าตัวละครที่เป็นตัวสำคัญและเกิดขึ้นใหม่ก็คือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หลายกรณีที่เกิดขึ้นเกิดจากกรณีที่กอ.รมน.จับมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการสยายปีกขอบข่ายของกองทัพเข้าสู่ประเด็นสาธารณะ มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญในช่วงก่อนการรัฐประหารมีการออกพระราชบัญญัติพรบกอ.รมน. เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ กอ.รมน.ได้มีกฎหมายเป็นของตัวเอง ได้ยกระดับโดยการมีพรบ.และมีงบประมาณที่ชัดเจนเกือบหมื่นล้านบาทมีโครงสร้างควบคุมสั่งการ มีผอ. กอ.รมน. ที่มีภารกิจขึ้นตรงกับกองทัพ โดยภัยคุกคามความมั่นคงของ กอ.รมน เปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์กลายเป็นประชาชนคนไทยที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม หรือลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ หรือกระด้างกระเดื่องประชาชนเหล่านั้นจะถูกจัดให้เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ กอ.รมน.ได้มีการสร้างมวลชนของตนเองขึ้นมาและทำงานอย่างต่อเนื่องและหลังรัฐประหารปีพ.ศ. 2557 กอ.รมน.ก็ทำงานใกล้ชิดกับคสช.มากขึ้นโดยในช่วงจัดทำร่างประชามติ กอ.รมนได้พูดเองว่าได้ส่งคนกว่า 500,000 คนเข้าไปชี้แจงกับชาวบ้าน

“เราจะเห็นการละเมิดสิทธิ์อย่างเป็นระบบและถูกกฎหมายมากขึ้นเราจะเห็นการคุกคามและกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางสังคม  ดังนั้นโจทก์ใหญ่ของเราในท่ามกลางระบบรัฐสภาและระบบรัฐที่ถูกยึดอำนาจเกือบทั้งหมดและถูกจำกัดด้วยความมั่นคงของรัฐแบบแคบ มันคงไม่มีพื้นที่ไหนที่พอจะคลี่คลายได้ถ้าไม่ใช่พื้นที่ของภาคประชาสังคม สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทหารเข้ามายึดกลืนอำนาจแบบนี้เราก็ต้องยอมรับว่าเกิดจากความอ่อนแอของภาคประชาสังคมที่ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาในระบบของการเมืองได้ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายมารวมตัวกันในวันนี้จะเป็นโอกาสที่เราจะร่วมกันฟื้นฟูและสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมต่อไปในอนาคตได้”รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการเสวนา ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 83 องค์กรได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เพื่อ หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจนดังต่อไปนี้ 1)     ให้ยกเลิกนโยบาย และยุติการปฏิบัติการตามแผนการทวงคืนผืนป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยทันที 2)            ให้รัฐบาลเร่งพิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันในการอาศัย ทำกิน และแก้ไขปัญหาคดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3)            ให้รัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาชาวบ้านผู้ถูกคดีทั้ง 14 ราย ทั้งในทางกระบวนการยุติธรรม และผลกระทบจากการดำเนินคดี  4)         ให้รัฐบาลและรัฐสภามีมาตรการในการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมทั้งปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมสิทธิชุมชนใน         การจัดการที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ  5)              ให้ศาลยุติธรรมเปิดโอกาสให้ชาวบ้านซึ่งเป็นจำเลยได้ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุดในชั้นฎีกา เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมและเพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมต่อไป

                เราหวังว่า หากข้อเรียกร้องทั้งหมดข้างต้น ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่จะยุติลง อีกทั้งจะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยประชาชนในขอบเขตทั่วประเทศ และเกิดมาตรการทางกฎหมาย นโยบายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หาไม่แล้ว ปัญหาข้อพิพาทเช่นกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง จะเกิดขึ้น และลุกลามไปไม่รู้จบสิ้น

โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 83 องค์กรมีรายชื่อดังต่อไปนี้

1)            คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

2)            Rainbow Dream Group จ.เชียงใหม่

3)            เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค

4)            เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา

5)            เครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม

6)            เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

7)            เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒธรรมและสิ่งแวดล้อม

8)            เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

9)            เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา

10)          เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

11)          เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน

12)          เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้

13)          เครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่

14)          เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

15)          เครือข่ายประขาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

16)          เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

17)          เครือข่ายผู้หญิงอีสาน

18)          เครือข่ายพลังผู้สูงวัย

19)          เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำภูมี อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

20)          เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

21)          โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม