คอนโดถล่ม ความปลอดภัยคนงานก่อสร้างที่ถูกละเลย

788 12 Aug 2014

ศ.นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์  กรรมการวิชาการ สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 16:00 น. เหตุอาคารก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียม 6 ชั้น ถล่ม ที่จังหวัดปทุมธานี มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และติดอยู่ในซากตึก ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว เมื่อดูจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ย้อนนึกไปถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ คือ เหตุการณ์การทรุดตัวของปล่องลิฟต์ระหว่างก่อสร้างอาคารสถาบันการแพทย์จักรี นฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดสมุทรปราการ ​เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และบาดเจ็บ 16 ราย เป็นคนงานก่อสร้าง สาเหตุเกิดจากการเทปูนบริเวณปล่องลิฟต์ของตัวอาคารมีการทรุดตัวลงโดยไม่ทราบ สาเหตุ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวอาคาร ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ตึก 7 ชั้น หลังเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี เอนระหว่างการก่อสร้างเมื่อ 31 มีนาคม 2556 จากเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการทำงานของคนงานก่อสร้าง หากไม่มีมาตรการการก่อสร้างที่ปลอดภัย และควบคุมการก่อสร้างอย่างเข้มงวดแล้ว โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำซากก็เป็นไปได้อย่างมาก จาก สถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำแนกตามความรุนแรงและประเภทกิจการ ปี 2556 ของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พบว่า การก่อสร้างมีจำนวนผู้ประสบอันตรายจากการทำงานมากที่สุด สอดคล้องกับข้อมูลของต่างประเทศ ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปี พ.ศ. 2552 คนงานก่อสร้างเป็นกลุ่มที่ประสบอันตรายและเสียชีวิตมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 16 ของการเสียชีวิตจากการทำงานทุกอาชีพ โดยคนงานก่อสร้างในสหรัฐอเมริกามีอัตราการเสียชีวิตเป็น 9.7 ต่อ 100,000 คนงานก่อสร้าง คิดเป็น 3 เท่าของอัตราการเสียชีวิตจากคนงานในสถานประกอบการประเภทอื่นๆ นอก เหนือจากการประสบอันตราย บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการประสบอันตรายแล้ว คนงานก่อสร้างยังต้องประสบกับสิ่งคุกคามต่อสุขภาพจากการทำงานหลายประเภท ได้แก่ การสัมผัสสารเคมีหลากหลายชนิด เช่น ซิลิก้าจากการขุดเจาะชั้นหิน การเจียรหิน ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และปอดเป็นพังผืด ใยหินจากการตัดเจียรกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น และรื้อถอนอาคาร ทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด และปอดพังผืดโลหะหนักจากการเชื่อมทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสปูนซิเมนต์ และความผิดปกติทางระบบประสาทจากการสัมผัสสี ตัวทำละลายอินทรีย์ และตะกั่วสำหรับสิ่งคุกคามต่อสุขภาพทางกายภาพ คนงานก่อสร้างเสี่ยงต่อการได้รับสัมผัสเสียดัง อากาศร้อน กัมมันตรังสี แรงสั่นสะเทือนจากการใช้เครื่องจักร เครื่องมือ และปัญหาที่พบบ่อย คือ ท่าทางการทำงานและการแบกยกของหนัก ทำให้คนงานก่อสร้างเกิดปัญหากระดูกและข้อต่างๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนงานก่อสร้าง เช่น ค่าแรงไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาลูกของคนงานก่อสร้างที่ต้องนำมาเลี้ยงดูในสถานที่ก่อสร้างด้วย ดัง นั้น ทุกภาคส่วนคงต้องมาถกกันถึงแนวทางในการป้องกันการเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดที่ เกิดซ้ำเกิดซาก ตลอดจน ลดสิ่งคุกคามต่อสุขภาพประเภทอื่นๆ ในกลุ่มคนงานก่อสร้างกันอย่างจริงจัง สำหรับแนวทางการก่อสร้างอย่างปลอดภัย ภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต้องมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายพระราช บัญญัติควบคุมอาคารอย่างจริงจัง ผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆ ต้องมีการวางแผนมาตรการความปลอดภัยระดับต่างๆ ผู้ควบคุมงานต้องมีการดำเนินการควบคุมอย่างจริงจัง และปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับการป้องกันการเกิดโรคจากสิ่งคุกคามต่อสุขภาพในการทำงานก่อสร้างต้องมี การจัดประเมินสิ่งคุกคามต่อสุขภาพในที่ทำงานก่อสร้าง และแจ้งให้คนงานก่อสร้างรับรู้ถึงสิ่งคุกคามต่างๆ ที่ตนเองต้องประสบจากการทำงาน จัดการควบคุมสิ่งคุกคามต่อสุขภาพต่างๆ โดยยึดหลักการควบคุมทางวิศวกรรมเป็นมาตรการแรก เช่น ยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพและใช้สารทดแทน เช่น กรณีกระเบื้องมุงหลังคา และกระเบื้องปูพื้นทดแทนใยหิน จัดหาและควบคุมการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลต่างๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องทำงานสัมผัสสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ เตรียมและซ้อมแผนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ จัดการอบรมให้ความรู้กับคนงานและหัวหน้างานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการก่อ สร้าง จัดให้มีการตรวจสุขภาพก่อนการทำงานและระหว่างการทำงานตามความเสี่ยงจากการทำ งานก่อสร้าง จัดระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพ และจัดทำทะเบียนคนงานก่อสร้างเพื่อติดตามในระยะยาว สุด ท้ายได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คงทำให้แต่ละภาคส่วนได้ฉุกคิด และหาทางในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างจริงจัง เพื่อให้คนงานก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติได้ทำ งานอย่างปลอดภัยและปลอดโรคต่อไป.

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม