“พิษภัย” ที่แฝงมาใน “โฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม” ในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก

1014 25 Jul 2014

จากผลการศึกษา เรื่อง “การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี ช่อง3, 5, 7 และ ช่อง9” ของ มีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ(FHP) พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณา มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม แต่ใช้กลยุทธ์การโฆษณาเพื่อโน้มน้าวเชิญชวนให้บริโภค ทั้งการใช้พรีเซ็นเตอร์ดารา คนดัง ตัวการ์ตูน การทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินกว่าความเป็นจริง การเน้นเรื่องรสชาติ การกระตุ้นให้บริโภคเกินจำเป็น บริโภคแทนอาหารมื้อหลัก การโน้มนำว่ามีคุณค่า ราคาถูก บริโภคแล้วจะเด่น หากไม่บริโภคแล้วจะด้อยกว่าคนอื่น ทั้งมีเนื้อหาส่อไปในทางเพศซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็ก นอกจากนี้ ยังพบโฆษณาแฝงทุกรูปแบบอีกด้วย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็กฯ กระตุ้นความต้องการบริโภคโดยเฉพาะอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ในขณะที่ กฎหมายควบคุมการโฆษณาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมรูปแบบและเนื้อหาที่มีอยู่ในชิ้นงานโฆษณาที่ปรากฏในรายการสำหรับเด็กฯ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีมาตรการในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดเหมือนกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศออสเตรเลียที่มีกลไกการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ในการติดตามเฝ้าระวังและการลงโทษโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เห็นว่า ควรผลักดันให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้จริง รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนค่านิยม “ความสุขในการกินอาหาร ” จากความพึงพอใจในรสชาติหวาน มัน เค็ม และรูปลักษณ์ที่น่าทาน มาเป็นอาหารให้แคลอรีต่ำ มีรสชาติจืด ฝืด เฝื่อน ขม รูปลักษณ์ไม่น่าทาน แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน ขณะที่ เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อและเยาวชน (สสย.) เสนอว่า ควรมีการขับเคลื่อนทางสังคม การก่อตั้งองค์กรเฝ้าระวังโฆษณาสำหรับเด็ก การสร้างกลไกการป้องกันโดยร่วมมือกันระหว่างครอบครัว ชุมชน สังคม ไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อกระแสบริโภคนิยม เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ ในส่วนผู้เข้าร่วมเวทีการเสวนา เรื่อง “โฆษณาอาหารในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ให้ข้อมูล? คุณค่า? หรือ พิษภัย?” เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ การคุ้มครองผู้บริโภค โภชนาการ จิตวิทยาเด็ก ฯลฯ ได้เสนอความเห็นที่น่าสนใจ คือ

กฎหมายการโฆษณาอาหาร (พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522) ล้าหลัง ทั้งมีบทลงโทษที่ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับกำไรที่ภาคธุรกิจได้รับ ทั้งยังไม่ครอบคลุมเรื่องโฆษณาแฝงในรายการเด็ก จึงควรเพิ่มโทษทางอาญา โทษปรับทางแพ่งให้สูงขึ้น ควบคู่กับการสร้างค่านิยมให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและออกใบอนุญาตการโฆษณา ต้องรู้เท่าทันเทคนิคการโฆษณา และมีความละเอียดอ่อนระมัดระวังในเนื้อหาการโฆษณาที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน กสทช. ต้องออกระเบียบเรื่องการโฆษณา ทั้งโฆษณาตรง โฆษณาแฝง ให้ชัดเจน เน้นการกำกับดูแลการสื่อสารการตลาดทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ อย่างคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ค่านิยม และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลในบางประเทศจะให้ความสำคัญมาก กสทช.ควรออกระเบียบข้อบังคับที่กำหนดให้ ไม่มีการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม ในรายการสำหรับเด็ก หรือ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เดียวกัน จัดทำโฆษณาแยกกัน คือ โฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เป็นพิษภัยต่อเด็กเพื่อเผยแพร่ในช่วงเวลา/รายการสำหรับเด็ก และโฆษณาที่มีเนื้อหาสำหรับคนทั่วไป กสทช. ควรมีกลไกติดตามตรวจสอบ หรือ กลไกการมอนิเตอร์การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการ/ช่องสถานี สำหรับเด็ก ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อผลในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างทันท่วงที ไม่ใช่เพียงรอรับเรื่องร้องเรียน เท่านั้น ทั้งนี้ ในการติดตามตรวจสอบ กสทช. อาจสนับสนุน หรือ ดำเนินการร่วมกับ หน่วยงาน/องค์กร ด้านการศึกษา วิจัย การคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์ขณะนี้ คือ กลไกการกำกับดูแลและการติดตามตรวจสอบยังไม่เข้มแข็งหรือมีประสิทธิภาพ เท่าที่ควร ขณะที่การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็กฯ มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภูมิทัศน์สื่อที่หลากหลายและมีจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเข้มข้น เพื่อประสิทธิผลในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนมิให้ได้รับผลกระทบจากโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม