955 13 Dec 2012
นายอาคม บุดดีหัส สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี บ้านเชียงกรม ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กล่าว ว่า ผู้ว่าฯ มักจะอ้างขั้นตอน และกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ คนไหนก็ตาม ซึ่งเรื่องเหมืองแร่โปแตชอุดร ก็ผ่านมาถึง 4 คนแล้ว แต่ปัญหาก็ยังคาราคาซังอยู่ เนื่องจากว่าไม่ได้แก้ปัญหาอะไรคิดเพียงว่าอยู่ๆ ไปเดี๋ยวก็ย้าย หรือเกษียรแล้วเท่านั้นเอง “ผู้ ว่าฯ ก็ย้ายมาตามคำสั่ง และอำนาจในการตัดสินใจเรื่องโปแตช ก็ทำได้อย่างจำกัด ประชาชนคงจะหวังพึ่งอะไรได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่ชาวบ้านอยากเห็นก็คือความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าฯ จะบอกกับชาวบ้านว่าโดยตำแหน่งของข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลาง แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมากลับตรงกันข้าม เช่น ผู้ว่าฯ เซนต์ให้เจ้าหน้าที่ กพร.เข้ามารังวัดในพื้นที่ หรือไปร่วมทอดผ้าป่ากับบริษัท เป็นต้น พอชาวบ้านจับได้ไล่ทันก็จะพูดแบบเดิมๆ ว่าทำตามขั้นตอน ซึ่งชาวบ้านก็หวังว่าผู้ว่าฯ คนนี้คงไม่ประพฤติเช่นนั้น” นายอาคมกล่าว น.ส.หนูเพียร โคชารี สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี บ้านโคกสง่า ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กล่าว ว่า ผู้ว่าฯ คนใหม่ได้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความปัญหาขัดแย้งอีกครั้ง จากการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าพบเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา แล้วพูดกับชาวบ้านว่าทุกฝ่ายจะต้องทำตามกฎหมาย เคารพกฎหมาย ซึ่งถ้าบริษัททำตามกฎหมายก็ย่อมทำได้ ชาวบ้านจึงไม่เห็นทางออกใดๆ ในเรื่องนี้ “ผู้ ว่าฯ บอกว่าทุกฝ่ายจะต้องทำตามกฎหมายแล้วปัญหาทุกอย่างก็จะจบ แต่ผู้ว่าฯ ไม่เคยพูดเลยว่าจะสร้างความปรองดอง หรือประสานความขัดแย้งอย่างไรให้กับชุมชน ซึ่งฉันเห็นว่ากฎหมายไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่างเสมอไป โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยก ขัดแย้งในชุมชนนั้น จะต้องใช้หลักของประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนที่มีมาก่อนกฎหมายช่วยแก้ไข และผู้นำจะต้องยึดหลักศีลธรรม และมีคุณธรรมในการปฏิบัติ แต่ข้าราชการและบริษัทไม่เคยมี จ้องแต่จะเอาทรัพยากรของชาวบ้านโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ” น.ส.หนูเพียรกล่าว นาย บุญเลิศ เหล็กเขียว ชาวบ้านหนองนาเจริญ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี 1ใน5 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งถูกบริษัทฯ แจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทฯ และศาลได้ตัดสินว่าไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา (ยกฟ้อง) กล่าว ว่า การต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านทำตามกฎหมายมาโดยตลอด ก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่เหนือกฎหมายที่ผู้ว่าฯ อ้างเสียอีก ที่ให้สิทธิชุมชนปกป้อง และจัดการทรัพยากรท้องถิ่น และกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้ให้คำพิพากษานั้นกับผู้ว่าฯ เพื่อไปศึกษาแล้ว “ศาล ได้ตัดสินเอาไว้ว่าชาวบ้านไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่เจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทฯนั่นแหละที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ทำตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ และละเมิดสิทธิของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ว่าฯ จะต้องศึกษาให้ดีๆ และควรเป็นผู้ว่าฯ ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างที่บริษัทฯ ยื่นให้” นายบุญเลิศกล่าว นายบุญเลิศ ยังกล่าวต่ออีกว่า “ผม กล้าพูดได้เลยว่าผู้ว่าฯ ทุกคนยืนอยู่ข้างบริษัทฯ และสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช เพราะผู้ว่าฯ อยากได้ความเจริญเข้าสู่จังหวัด คนอุดรจะมีรายได้ แต่ไม่คิดที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อ้างแต่ว่ามีกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อมีผลกระทบให้ชาวบ้านไปฟ้องร้องต่อศาลเอาเอง” นายบุญเลิศกล่าว นายสุนทร โสพะเนาว์ สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กล่าว ว่า ยังไม่เชื่อมั่นต่อตัวของผู้ว่าฯ ที่จะวางตัวเป็นกลางจริง เพราะสิ่งที่ผู้ว่าฯรอก็คือคณะกรรมการที่ทางกระทรวงแต่งตั้ง เมื่อมีกรรมการทำงานแล้วเสร็จ หรือมีมติอย่างไร ผู้ว่าฯ ก็พร้อมที่จะเดินหน้าทำตามขั้นตอนต่อในเรื่องโปแตช “ผม คาดว่าอนาคตข้างหน้าสถานการณ์ในพื้นที่โครงการฯ จะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะจากการเฝ้าสังเกตในพื้นที่พบว่าฝ่ายบริษัทฯ ก็ยังคงระดมคน หรือสร้างกลุ่มที่สนับสนุนกับเหมืองแร่อยู่ เพื่อนำมาปะทะกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในช่วงของการลงรังวัด ปักหมุด ซึ่งก็แน่นอนโดยความเป็นผู้ว่าฯ ต้องระงับเหตุนี้ จะบอกว่าต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ แต่ปล่อยให้ชาวบ้านฆ่ากันเองไม่ได้ ผู้ว่าฯ ต้องยึดหลักความชอบธรรม และที่สำคัญก็คือการส่วนร่วมของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ” นายสุนทรกล่าว นางยุพาพร รักษาภักดี ชาวบ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าว ว่า ผืนดินของตนนอกจากจะถูกทำเป็นอุโมงค์ เพื่อขุดเอาแร่โปแตชข้างล่างไปขายแล้ว ข้างบนตนยังต้องแบกรับกับปัญหาการทำแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง2-อุดร3 อีก ซึ่งที่ดินก็คงเสื่อมราคา จะเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ แล้วผู้ว่าฯ ยังมาบอกว่าชาวบ้านจะต้องเสียสละได้อย่างไรเมื่อมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง “ผู้ ว่าฯ ต้องมองให้ลึกซึ้งถึงต้นตอของปัญหา จะมาพูดว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอน และชาวบ้านต้องเป็นฝ่ายเสียสละเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างไร เมื่อขั้นตอนมันไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทฯ ก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เขา ไม่เคยถามชาวบ้านเลยว่าต้องการโครงการฯ เหล่านี้หรือไม่ แต่พยายามที่จะยัดเยียดให้ พร้อมกับสรุปเอาง่ายๆ ว่าคนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็คงหวังอะไรกับผู้ว่าฯ ไม่ได้หรอก” นางยุพาพรกล่าว นายบุญเลี้ยง โยธะกา ชาวบ้านแม่นนท์ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่ง เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการทำแนวสายส่งไฟฟ้า ขนาด 150 กิโลโวลต์ พาดผ่านเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเจ้าหน้าที่รัฐก็กล่าวอ้างว่าจะทำให้ประเทศชาติพัฒนา พร้อมกับถูกหลอกว่าจะได้รับค่าชดเชยอย่างงาม แต่ความเป็นจริงเขาได้รับค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนแค่ 400 บาทเท่านั้นและไม่เคยได้รับอีกเลย ขณะเดียวกันที่นาเขากลับเสื่อมค่าเอาไปจำนองกับธนาคารเขาก็ไม่รับ แต่ตอนนี้สายไฟฟ้าแรงสูงกำลังจะพาดผ่านมาอีก และมีขนาดกำลังส่งมากว่าเดิมเป็น 3 เท่า ควบคู่กับโครงการเหมืองแร่โปแตช ทำให้นายบุญเลี้ยงขยาดและยังบอกว่าของเก่ายังไม่มีใครช่วยแก้ปัญหาได้เลย แต่มีอันใหม่มาอีก ชาวบ้านก็คงเหมือนตายทั้งเป็น “ทั้ง โครงการไฟฟ้า และเหมืองแร่โปแตชนั้นมาด้วยกัน เพราะไฟฟ้าก็เอามาเพื่อโรงงานโปแตช ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือนายทุนเพียงไม่กี่คน และทั้งไฟฟ้าและเหมืองแร่นั้น ก็ยังทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดความแตกแยกกัน ฉะนั้นผู้ว่าฯ จะมาบังคับให้ชาวบ้านทำตามขั้นตอนที่เขาเขียนขึ้นมา ซึ่งไม่มีความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และชาวบ้านต้องเสียสละแล้วคอยรับการเยียวยา หรือค่าชดเชยนั้น ชาวบ้านจึงยอมไม่ได้ สุดท้ายก็อยากบอกกลับคืนไปหาผู้ว่าฯ ว่าชาวบ้านไม่ต้องการโครงการเหล่านั้น ขอให้ยกเลิกไปเลย พวกเราต้องการความเป็นอยู่อย่างพอเพียงดังที่เป็นอยู่นี้” นายบุญเลี้ยงกล่าว05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม