1368 13 Dec 2012
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 4 มกราคม 2547 ก. กระบวนการพิจารณาอีไอเอที่ผิดขั้นตอน หนึ่ง ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 130 วันที่ 8 ตุลาคม 2535) ระบุว่า ขั้นตอนที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามท้ายประกาศ 1 ในส่วนของการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่นั้น จะต้องเสนอรายงานในขั้นขออนุญาตประทานบัตร ในขณะที่เอพีพีซียื่นอีไอเอให้ สผ. และ คชก. พิจารณานั้น ยังอยู่ในขั้นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อทำการสำรวจแร่ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น ยังไม่ได้ทำการขอประทานบัตรแต่อย่างใดเลย (เอพีพีซีเสนออีไอเอให้ สผ. พิจารณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2542 และ คชก. มีมติเห็นชอบกับอีไอเอเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2543 ในขณะที่เอพีพีซีได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ 53 แปลง เนื้อที่ 528,750 ไร่ ต่อกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 24 มิถุนายน 2541 และได้รับอาชญาบัตรพิเศษ จำนวน 53 แปลง อายุ 3 ปี เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2543 แต่บริษัทขอรับอาชญาบัตรพิเศษ ไปเพียง 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.โนนสูงและหนองไผ่ อ.เมือง ต.ห้วยสามพาดและนาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ที่เรียกว่าแหล่งอุดรใต้ หรือแหล่งสมบูรณ์ หรือ Somboon Field Site D) สอง อีไอเอดังกล่าวได้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการขอประทานบัตรจาก กพร. ซึ่งกำหนดโดยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งขณะที่พิจารณาอีไอเออยู่นั้น กฎหมายแร่ พ.ศ. 2510 กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาสาระในส่วนของการทำเหมืองใต้ดิน (ซึ่งก็คือเหมืองแร่โปแตช) อยู่พอดี เนื่องจากว่าตามกฎหมายแร่ พ.ศ. 2510 ที่กำลังใช้อยู่ในขณะนั้น มีหลักการสำคัญว่าการขุดเจาะอุโมงค์ชอนไชลงไปใต้ดินในเขตที่ดินที่มีเจ้าของโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตเจ้าของที่ดินนั้นจะกระทำมิได้ เพราะจะเป็นการละเมิดแดนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน จึงกำลังทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายแร่ในส่วนนี้อยู่ เพื่อที่จะให้การทำเหมืองใต้ดิน (ซึ่งก็คือเหมืองแร่โปแตช) โดยการขุดเจาะอุโมงค์ชอนไชลงไปใต้ดินในเขตที่ดินที่มีเจ้าของไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินอีกต่อไป ดังนั้นแล้ว การที่ สผ. และ คชก. พิจารณาและให้ความเห็นชอบอีไอเอ ในขณะที่การพิจารณาแก้ไขกฎหมายแร่ในส่วนนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ทำได้อย่างไร ควรที่ สผ. และ คชก. จะพิจารณาอีไอเอโดยยึดกฎหมายแร่ฉบับที่กำลังใช้อยู่ในขณะนั้น ไม่ควรยึดกฎหมายแร่ฉบับอนาคตซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปอย่างไร คำถามก็คือ สผ. และ คชก. พิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอในขณะที่เอพีพีซีอยู่ในขั้นขออาชญาบัตรพิเศษ และกำลังมีการแก้ไขกฎหมายแร่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ใต้ดิน (หรือเหมืองแร่โปแตชโดยตรง) ได้อย่างไร เพราะกฎหมายแร่ที่กำลังทำการแก้ไขนั้น จะต้องกำหนดเงื่อนไขคำขอประทานบัตรใหม่ ที่แตกต่างไปจากเงื่อนไขคำขอประทานบ้ตรตามกฎหมายแร่ 2510 ที่กำลังใช้อยู่ในขณะนั้น ดังนั้น ก็เท่ากับว่าเอพีพีซียื่นอีไอเอให้ สผ. และ คชก. พิจารณา ไม่อยู่ทั้งในเงื่อนไขของคำขอประทานบัตรเดิม (ตามกฎหมายแร่ 2510 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น) และไม่อยู่ในเงื่อนไขของคำขอประทานบัตรใหม่ ซึ่งกำลังมีการแก้ไขกฎหมายแร่กันอยู่ในช่วงเวลานั้นด้วย นั่นก็เท่ากับผิดกฎหมายชัดเจน เพราะตามความเป็นจริงเอพีพีซีจะต้องเอาอีไอเอที่ศึกษาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาอีไอเอตามเงื่อนไขของคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน ตามกฎหมายแร่ 2510 แก้ไขเพิ่มเติม 2545 ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องมากกว่า สาม เอพีพีซี สผ. และ คชก. มักสร้างความสับสนให้กับสาธารณชน ว่า การยื่นอีไอเอสามารถยื่นในเวลาใด ๆ ก็ได้ ที่ไม่เกินขั้นขออนุญาตประทานบัตร ประเด็นก็คือตอบได้เพียงแค่การ ‘ทำ’ และ ‘ยื่น’ อีไอเอเท่านั้น แต่เลี่ยงตอบคำถามการ ‘พิจารณา’ อีไอเอ ว่า สผ. และ คชก. พิจารณาอีไอเอของเอพีพีซีในขั้นตอนการขออาชญาบัตรพิเศษได้อย่างไร หลักการของกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ต้องการเน้นให้ ‘กระบวนการพิจารณา’ อีไอเอต้องทำในขั้นขอประทานบัตรเท่านั้น แต่ในส่วนของการทำและยื่นอีไอเอจะทำในช่วงเวลาใด ๆ ก็ได้ ที่ไม่เกินขั้นขออนุญาตประทานบัตร คำถามก็คือเอพีพีซีมีสิทธิ์ที่จะทำและยื่นอีไอเอในช่วงเวลาใดก็ได้ ที่ไม่เกินขั้นขออนุญาตประทานบัตร แต่ สผ. และ คชก. แทนที่จะรับอีไอเอไว้ก่อนแล้วรอกฎหมายแร่ที่กำลังแก้ไขในส่วนของการทำเหมืองใต้ดินเสียก่อน แต่กลับไปพิจารณาอีไอเอให้เอพีพีซีได้อย่างไร ดังนั้นแล้ว เอพีพีซี สผ. และ คชก. มีส่วนร่วมกันทำให้หลักการของกฎหมายสิ่งแวดล้อมบิดเบือนไป ทำให้ศักดิ์และสิทธิ์ของกฎหมายเสื่อมลง สี่ การรังวัด ‘พื้นที่เขตเหมืองแร่’ กับ การศึกษา ประเมินและวิเคราะห์ ‘พื้นที่ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ เป็นพื้นที่เดียวกันหรือไม่ ขั้นตอนก่อน-หลังที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร ในขั้นตอนการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ออกตามกฎหมายแร่ 2545 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องทำการรังวัดปักหมุดพื้นที่เขตเหมืองแร่เสียก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าพื้นที่ใดกันแน่ที่เป็นเขตเหมืองแร่ และหลังจากนั้นจะต้องนำพื้นที่เขตเหมืองแร่ที่ได้จากการทำการรังวัดปักหมุด ไปทำการศึกษาประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อที่จะให้พื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมครอบคลุมลงไปในพื้นที่เขตเหมืองแร่ ซี่งจะทำให้ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่ารังวัดอีกพื้นที่หนึ่งแล้วประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจะเป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกต้อง ประเด็นก็คือหลักการของกฎหมายทั้งสอง (กฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายแร่) ต้องการให้มีการรังวัดกำหนดพื้นที่เขตเหมืองแร่ก่อนแล้วจึงศึกษาเพื่อกำหนดพื้นที่เขตผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเหมืองแร่ ดังนั้น การที่เอพีพีซีทำและยื่นอีไอเอให้ สผ. และ คชก. พิจารณา โดยมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ก่อนที่จะทำการรังวัดปักหมุดตามกฎหมายแร่ พ.ศ. 2545 เพื่อรู้เขตเหมืองแร่ที่แท้จริงนั้น เป็นไปได้อย่างไร นั่นก็เท่ากับว่า พื้นที่เขตเหมืองแร่ที่ปรากฎอยู่ในอีไอเอที่ผ่านความเห็นชอบตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2543 ก่อนที่กฎหมายแร่ 2545 จะประกาศใช้นั้น เป็นพื้นที่เท็จใช่หรือไม่ หรือ การผ่านความเห็นชอบอีไอเอโดยไม่ตรงกับพื้นที่เขตเหมืองแร่ที่ได้จากการรังวัดตามกฎหมายแร่ พ.ศ. 2545 ถือเป็นการผ่านความเห็นชอบที่ถูกต้องหรือไม่ แล้วผ่านความเห็นชอบไปได้อย่างไรโดยที่ยังไม่รู้ว่าพื้นที่ไหนกันแน่เป็นเขตเหมืองแร่ และจากข้อเท็จจริงก็คือในอีไอเอฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก. ไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 บริษัทเอพีพีซีได้กำหนดพื้นที่เขตเหมืองแร่ 15,000 ไร่ แต่เวลายื่นขอประทานบัตร ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 ได้กำหนดพื้นที่เขตเหมืองแร่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 22,437 ไร่ จึงเห็นได้ชัดว่าพื้นที่เขตเหมืองแร่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอให้อีไอเอฉบับที่ผ่านความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ใช้การไม่ได้และสมควรถูกยกเลิกไป ข. เนื้อหาอีไอเอที่บกพร่อง คณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ได้ชี้ประเด็นข้อบกพร่องของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โพแทชแหล่งอุดรใต้ ไว้ถึง 26 ประเด็น ดังนี้ 1. ไม่มีการประเมินขนาดที่เหมาะสมของเหมืองและโรงแต่งแร่ที่จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 2. ไม่มีการประเมินทางเลือกวิธีการทำเหมือง และวิธีการแต่งแร่ที่เหมาะสมที่สุด 3. ไม่มีการรับรองความปลอดภัยของเหมืองที่ได้ออกแบบไว้ 4. ที่ตั้งของเหมืองและโรงแต่งแร่ไม่เหมาะสมเพราะเป็นแหล่งต้นน้ำลำปาวและห้วยหลวงและเป็นแหล่ง recharge น้ำบาดาล 5. การทำเหมืองที่นำเสนอจะก่อให้เกิดแผ่นดินทรุดในวงกว้าง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อราษฎรในพื้นที่เหมือง ซึ่งยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ 6. ไม่มีการประเมินผลกระทบที่เกิดจากกองหางแร่และบ่อน้ำเกลือต่อการปนเปื้อนน้ำผิวดินและน้ำบาดาลในพื้นที่ 7. ไม่มีการประเมินผลกระทบที่เกิดจากไอเกลือและฝุ่นเกลือจากโรงแต่งแร่ ลานกองหางแร่ และบ่อน้ำเกลือ 8. ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อการใช้ที่ดินบริเวณข้างเคียงพื้นที่โครงการ 9. ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาน กุมภวาปี 10. ไม่มีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดจากการขนส่ง การเก็บ การใช้ การกำจัด และอุบัติภัยจากสารเคมีที่ใช้ในการแต่งแร่ 11. ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อน้ำผิวดินและน้ำบาดาลในบริเวณพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง 12. ไม่มีการประเมินผลกระทบจากการสร้างถนน ทางรถไฟ และจากการขนส่งแร่ 13. ไม่มีการประเมินผลกระทบเนื่องจากการขายเกลือต่อผู้ผลิตเกลือรายย่อยภายในประเทศ 14. ไม่มีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปิดเหมือง 15. ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย สังคม วัฒนธรรม ประเพณี และเศรษฐกิจชุมชน 16. ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ เนื่องจากการทรุดตัวของพื้นดิน 17. ในส่วนที่มีการประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ มิได้มีการประเมินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ใช้ความเห็นของผู้ทำรายงานเป็นหลัก ในส่วนของการประเมินทั้งหมดนี้ให้ดำเนินการใหม่ 18. มาตรการลดผลกระทบและการติดตามตรวจสอบจะต้องดำเนินการใหม่ทั้งหมดเนื่องจากขาดการประเมินในประเด็นที่สำคัญหลายประการ และในส่วนที่มีการประเมินก็มิได้ดำเนินการตามหลักวิชาการ แต่เป็นการตัดสินของคณะผู้จัดทำรายงานเท่านั้น 19. ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการอันขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ขัดต่อ พรบ. การกระจายอำนาจ พ.ศ. 2539 และขัดต่อ พรบ. แร่ พ.ศ. 2545 20. ข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำรายงานไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือล้าสมัย 21. ข้อผิดพลาดของรายงานมีมากเกินกว่าที่จะยอมรับได้ 22. คุณสมบัติของผู้จัดทำรายงานไม่สอดคล้องกับวิชาการที่จำเป็นจะต้องใช้ 23. การพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานผิดขั้นตอนตาม พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 24. คชก. ไม่ควรให้ความเห็นชอบรายงานฉบับนี้ 25. รายงานฉบับนี้มีความบกพร่องตาม พรบ. แร่ พ.ศ. 2510 และบกพร่องเพิ่มมากขึ้นตาม พรบ. แร่ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำ ลำธารตามธรรมชาติ เรื่องขั้นตอนการจัดทำรายงาน เรื่องความปลอดภัยของเหมืองใต้ดิน เรื่องการกำหนดเงื่อนไขในประทานบัตรในการทำเหมืองใต้ดิน เรื่องสิทธิมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เรื่องการจัดตั้งกองทุน เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน และเรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น 26. APPC ได้ละเมิดสัญญาข้อ 8 ที่ทำไว้กับรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องการมีส่วนร่วมของคนไทย ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาเลิกสัญญาที่ฝ่ายไทยเสียเปรียบนี้เสีย และยังมีข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก ดังนี้ 1. คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงการเหมืองแร่ โครงการสำรวจและหรือผลิตปิโตรเลียม ควรพิจารณาทบทวนการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โพแทชแหล่งอุดรใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ขึ้นใหม่ อันเนื่องมาจากรายงานดังกล่าวมีความไม่สมบูรณ์และบกพร่องในสาระสำคัญของรายงาน อีกทั้งข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนมีความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ซึ่งจะส่งผลต่อการให้อนุญาตประทานบัตรของกระทรวงอุตสาหกรรม มีความไม่รอบคอบ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม คณะทำงานมีความเห็นว่าการให้ความเห็นชอบของ คชก. เมื่อปลายปี พ.ศ. 2543 ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ณ ปัจจุบัน ตลอดจนมีความไม่เหมาะสมในการเลือกพื้นที่ดำเนินการโครงการ เนื่องจากพื้นที่แหล่งสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ซึ่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 6 จัตวา กำหนดไว้ว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้มีการดำเนินการเหมืองแร่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการดำเนินการก่อนมีการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2545 จึงทำให้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแร่ที่แก้ไขใหม่ 2. ให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โพแทช แหล่งอุดรใต้ ให้สอดคล้องกับความเห็นและข้อเสนอต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคณะทำงานในทุกประเด็นพร้อมกับการยื่นขอประทานบัตร 3. ให้มีการประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการใน 2 ประการดังนี้ 1) ให้มีการทบทวนปรับปรุงแก้ไขสัญญาระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณี(เดิม) กับ บริษัทไทยอะกริโกโปแตช จำกัด ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2527 และสัญญา แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2527 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณี(เดิม) กับบริษัทเอเซียแปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 ขึ้นใหม่ เนื่องจากเป็นสัญญาที่รัฐบาลไทยเสียเปรียบ ในขณะที่ APPC ได้สิทธิประโยชน์อย่างมหาศาล การมีส่วนร่วมของคนไทยไม่ถึงครึ่งหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และสัญญานั้น ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2545 ที่แก้ไขใหม่ภายหลังจากการทำสัญญา 2) กระทรวงอุตสาหกรรมควรรอการสั่งอนุญาตการออกประทานบัตรไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ จังหวัดอุดรธานี ใหม่ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม