ผู้ว่าฯ อำนาจ รับใบสั่ง! เร่งดันเหมืองโปแตชให้จบใน 2 เดือน

960 13 Dec 2012

หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และผู้ว่าฯ อุดร นายอำนาจ  ผการัตน์ เป็นรองประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีธงตั้งแต่ต้นเพื่อที่จะนำไปสู่การรังวัด ปักหมุดเขตเหมืองแร่ สังเกตได้จากการเร่งออกมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ให้ผู้ว่าฯ อำนาจ เป็นประธาน ซึ่งมีจำนวนกว่า 40 คน และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเขาเอง เช่น นายอำเภอทุกอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด รวมทั้งนายกเทศมนตรี และนายกอบต. เป็นต้น เพื่อลงไปชี้แจงข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ แต่ไม่ฟังเสียงคำคัดค้านของกลุ่มชาวบ้านว่าจะนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้ง ฉะนั้นจึงเป็นที่น่าหวั่นวิตกว่าวัฏจักรของ ความรุนแรง การจับกุม และคดีความ จะเวียนมาอีกครั้งในจังหวัดอุดร เพราะ ผู้ว่าฯ อำนาจ ก็กล่าวอย่างไม่แยแสเสียงทักท้วงใดๆ เลยว่า “สองเดือนก็จบ ในการทำความเข้าใจ แล้วจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วเข้าสู่การทำรังวัด ซึ่งพูดยากว่าสถานการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร เราทำตามหน้าที่เราให้ดีที่สุด” ผู้ว่าฯ อำนาจ เป็นคนบ้านเชียง อ.หนองหาน จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นสถาบันที่มีอาจารย์คณะวิศวะรับจ้างทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่ง แวดล้อม หรือ อีไอเอ โครงการเหมืองแร่โปแตชให้กับบริษัทอิตัลไทย และยังได้ปริญญาอีกใบด้านกฎหมาย (จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) ดังนั้น หลายต่อหลายครั้งเมื่อชาวบ้านซักถามข้อมูลโครงการฯ ผู้ว่าฯ ก็มักจะชิงตอบแทนบริษัทฯ ได้อย่างคล่องแคล่วทั้งในแง่ของเทคโนโลยี และข้อกฎหมาย มากกว่าการห่วงใยทุกข์สุขของพี่น้องคนอุดร ว่าจะอยู่กันอย่างไรถ้ามีเหมืองแร่ จนชาวบ้านต้องตั้งฉายาให้ว่า “ผู้ว่าฯ โปแตช” หรือ “ผู้ว่าฯ ปลาไหล” เป็นต้น ล่าสุดผู้ว่าฯ ได้นำคณะราชการส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี นายกอบต. แอบไปดูเหมืองมา ชื่อบริษัทกาลี (kali) ที่ประเทศเยอรมัน โดยกำชับให้ผู้ที่ไปปิดเงียบ ไม่ให้ใครปริปาก จนกระทั่งกลับมาแล้วจึงกระเหี้ยนกระหือรือ เปิดประชุมเพื่อ “เป่ากระหม่อม”หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดให้รับฟัง พร้อมออกนอกหน้าแทนบริษัทฯ โฆษณาผ่านสื่อวิทยุทันที!ชาวบ้านจึงตั้งข้อสังเกต ว่า “การที่ผู้ว่าฯ กับคณะไปดูงานที่เยอรมันมามีอะไรหมกเม็ดอยู่หลายประเด็น เช่น ได้รับงบประมาณจากแหล่งใด ทำไมกลับมาแล้วจึงไม่เปิดเวทีสาธารณะชี้แจงต่อคนอุดร แต่กลับมาเร่งรัดผลักดันโครงการฯ หรือผู้ว่าฯ ได้รับใบสั่งจากนายทุนให้ไปดูเหมือง เพราะบริษัทฯ ก็มักอ้างมาโดยตลอดว่าการทำเหมืองเกลือ (โปแตช) ที่อุดรจะใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับที่เยอรมันเขาทำ” จากเอกสารราชการได้กำหนดแนวทางการรังวัดเขตคำขออนุญาตประทานบัตรเหมือง แร่ใต้ดิน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ตามพ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยมีสาระสำคัญก็คือ “ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะรังวัดเขตคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดิน จะต้องชี้แจงข้อมูลรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการรังวัดให้กับผู้ครอบครอง กรรมสิทธิ์ที่ดินและผู้อยู่อาศัยในเขตคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินทราบ เป็นการล่วงหน้าก่อน ทั้งนี้การชี้แจงดังกล่าวเห็นควรดำเนินการโดยคณะทำงานระดับจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำ ท้องที่” จึงสอดคล้องกับการเดินเกมของผู้ว่าฯ อำนาจ ในขณะนี้ ที่ได้รับใบสั่งจากนายทุนมาว่า ต้องจบภายใน 2 เดือน เพื่อแลกกับผลประโยชน์! หากแต่การชี้แจงของคณะอนุกรรมการที่จะมีขึ้นนั้น เป็นเพียงพิธีกรรมที่จะต้องทำเพราะกฎหมายระบุให้ทำ โดยผู้ว่าฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหา หรือผลของความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งจะเกิดขึ้นตามมา เพราะเป้าหมายอยู่ที่การรังวัด ปักหมุด และหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนการบวชพระที่จะต้องทำพิธีกรรมในโบสถ์ ให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น (เพราะผู้ที่จะเป็นพระได้จะต้องผ่านการทำพิธีกรรมในโบสถ์)  แต่ผู้ทำพิธีกรรมไม่เคยสนใจถึงแก่นแท้ในพระพุทธศาสนาเลย ว่ามีสาระอย่างไรบ้าง อนึ่ง ผู้ว่าฯ อำนาจ ยังเป็นลูกศิษย์ของพระสายธรรมยุต เข้านมัสการ และฟังเทศน์ฟังธรรมกับหลวงตามหาบัว อยู่เนืองๆ จึงน่าจะแตกฉาน ฤาธรรมะไม่ได้ช่วยขัดเกลาให้จิตใจดีขึ้นเลย. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 10  มิ.ย. 52

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม