สรุปบทเรียนขบวนประชาชน กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช

1159 12 Dec 2012

“เหมืองแร่โปแตช” เป็นที่รู้จักของสาธารณชนในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จากการติดตามระดับนโยบายของนักพัฒนาเอกชน (NGOs) กลุ่มหนึ่ง เมื่อปีพ.ศ.2544   แล้วจึงเกิดองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ขึ้นมาเมื่อปีพ.ศ.2545 เพื่อคัดค้านโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมระยะเวลาแล้วก็เกือบ 10 ปี แต่กระนั้น โครงการเหมืองแร่โปแตช ได้มีการขุดเจาะสำรวจทั่วทั้งภาคอีสานพบตั้งแต่ปีพ.ศ.2516 และทำสัญญากันระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชนสัญชาติต่างด้าวเมื่อปีพ.ศ.2527 โดยเฉพาะกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ของ บริษัท อะกริโกโปแตช จำกัด และเปลี่ยนเป็น บริษัท เอเชีย แปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี สัญชาติแคนนาดาในเวลาต่อมา (ปัจจุบันบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ เอพีพีซี แล้ว ดังจะได้กล่าวต่อไป) นับได้ว่ามีการวางแผนของรัฐและกลุ่มทุนเอาไว้แล้วกว่า 30 ปี เพื่อนำแร่โปแตชขึ้นมาใช้ และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในภาคอีสาน ชาวบ้านในพื้นที่ได้พบเห็นเจ้าหน้าที่โดยอ้างว่ามาจากกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมมีคนต่างชาติร่วมเดินทางมาด้วยเพื่อทำการสำรวจหาแร่โปแตชโดยบอกกับชาว บ้านว่า “รัฐบาลให้มาขุดหาบ่อน้ำมัน ต่อไปนี้เจ้าของที่ก็จะรวยแล้ว” แต่ละบ่อใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ และการทำงานของเครื่องจักรก็ได้สร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านยิ่งนัก เพราะถ้าหากเขาพบว่ามีแร่ ณ จุดใดเขาก็จะทำการขุดเจาะทันทีถึงแม้ว่าจะอยู่ภายในบริเวณบ้านก็ตามที แต่เมื่อขุดเจาะเสร็จกลุ่มคนเหล่านั้นก็ให้เงินกับเจ้าของที่บ่อละ 3,000 บาท เพื่อเป็นการตอบแทน ทั้งนี้ ก็ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับชุมชน แต่ทว่าจากการทิ้งซากของการขุดเจาะสำรวจที่มีดินเค็ม น้ำเค็มทะลักออกมาจากบ่อแล้วทำให้ต้นไม้ ใบหญ้า พืช ผัก บริเวณนั้นเหี่ยวเฉา แห้งตายลงอย่างรวดเร็ว มีบางรายเลี้ยงวัวแล้ววัวไปเลียบ่อประหลาดอันนั้นทุกๆ วัน (วัวชอบเลียสิ่งที่มีความเค็ม) ก็ผอมโซ ล้มตายลงและสัตวแพทย์ก็ตรวจเช็คดูผลปรากฏว่าวัวตัวนั้นมีอาการลำไส้เปื่อย ตาย จึงนำมาซึ่งความคับข้องใจให้กับชาวบ้านอย่างมาก จากการติดตามและรวบรวมข้อมูลของ NGOs ใน ภาคอีสาน แล้วเมื่อพบว่าโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ครอบคลุมบริเวณ 4 ตำบล ได้แก่ ต.หนองไผ่, ต.โนนสูง อ.เมือง และต.ห้วยสามพาด, ต.นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเรียกว่า “แหล่งอุดรใต้” มีเนื้อที่กว่า 22,400 ไร่ (แหล่งอุดรเหนือครอบคลุมเขตเทศบาล อ.เมือง, อ.ประจักษ์ศิลปาคม และอ.หนองหาน รวมแล้วกว่า 52,000 ไร่) จึงได้ลงพื้นที่ไปจัดตั้งองค์กรชาวบ้านเพื่อทำการติดตามตรวจสอบ ตลอดจนคัดค้านโครงการฯ จนกระทั่งช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านอย่างเป็นทางการขึ้นในนาม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี โดยมีแนวร่วมกว่า 20 หมู่บ้าน ใน 4 ตำบล และได้จัดทำทะเบียนรายชื่อพบว่ามีจำนวนสมาชิกรวมแล้วกว่า 7,000 รายชื่อ เพื่อร่วมกันคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี มีโครงสร้างการจัดการในรูปแบบคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้านรวม แล้วประมาณ 40 คน โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
  1. เพื่อรณรงค์และติดตามนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรแร่ ในภาคอีสาน ตลอดจนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จะนำพาความล่มสลายมาสู่ชุมชนเกษตรกรรม
  2. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชาวบ้าน
  3. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับองค์กรชาวบ้าน
  กิจกรรมที่ได้ทำมา กลุ่มชาวบ้านได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งพอจำแนกได้ คือ
  1. การขยายสมาชิก  เครือข่าย
  2. การศึกษาดูงาน
  3. การรณรงค์เผยแพร่
  4. การระดมทุน (นารวม)
  5. การผลักดันนโยบาย (การเมืองท้องถิ่น, ชุมนุม)

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม