998 12 Dec 2012
คอลัมน์…เบิ่งคักๆ วันที่ 20 ธ.ค. 52 เรื่อง... “โรงเรียนคนฮักถิ่น” การศึกษาทางเลือกของชุมชนกับอุดมการณ์ต่อสู้เหมืองโปแตช (1) โดย...ปราณ ป้องถิ่น /-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/ วันเสาร์ช่างเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนต่างพึงพอใจยิ่งนัก นั่นก็เพราะว่าเป็นวันหยุดพักผ่อนสุดสัปดาห์ จะได้นอนตื่นสาย จะได้ดูทีวีรายการโปรดอยู่ที่บ้าน จะได้แต่งตัวสวยไปเดินช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า หรือทำอะไรต่อมิอะไรก็ได้ตามแต่ใจต้องการ แล้วแต่กระแสแห่งการบริโภคนิยมจะพาไป... แต่สำหรับที่วัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ในบริเวณเขตเหมืองแร่โปแตช (ยังไม่ได้ดำเนินการ กำลังมีการยื่นขอสัมปทาน และอยู่ในขั้นตอนการรังวัด ปักหลักหมุด เขตเหมืองแร่) ทุกๆ เช้าวันเสาร์ กลุ่มน้องๆ อายุระหว่าง 9-15 ปี จำนวน 50-60 คน จะมีนัด และพร้อมใจกันตื่นเช้า ปิดทีวี แล้วออกมาเพื่อทำกิจกรรม ที่เรียกกันว่า “โรงเรียนคนฮักถิ่น” ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาทางเลือกของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับนิเวศวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการปลูกฝังจิตสำนึกต่อการปกป้องทรัพยากร และหวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิดของตน ครูผู้สอนก็มาจากคนในชุมชน ซึ่งไม่มีใครสักคนที่จบศึกษาศาสตร์ หรือเคยเป็นครูตามโรงเรียนในระบบมาก่อนเลย หากแต่ทุกคนเป็นปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้รู้ในประเด็นนั้นๆ ได้นำเอาภูมิความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสมมา ถ่ายทอดสู่ลูกหลานให้เล่าเรียน ขณะเดียวกันก็มีการสอนทั้งสิ้น 5 วิชาได้แก่ 1.) ภูมินิเวศชุมชนท้องถิ่น เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน อาทิเช่น การศึกษาแหล่งน้ำ ลำห้วย หนอง คลอง ป่าชุมชน โคก ฯลฯ ศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์ชุมชน การก่อเกิด รวมทั้งวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ตลอดจนปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนในอนาคต 2.) เกษตรกรรมธรรมชาติ เป็นวิชาที่สร้างจิตสำนึกให้ลูกหลานเชื่อมั่นในวิถีเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำเกษตรที่ปลอดสารพิษ หรือปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ดิน พืช ผัก สัตว์น้ำ ฯลฯ และลูกหลานสามารถนำไปปรับใช้เพื่อการพึ่งตนเองในครอบครัวได้เป็นอย่างดี 3.) ประชาธิปไตยและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักประชาธิปไตยภาคประชาชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิของตนเองทั้งตามกฎหมาย และสิทธิดั้งเดิมอันพึงมีโดยธรรมชาติ เช่น การรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อปกป้องทรัพยากรชุมชน ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น (ฮีต-คลอง) อันเป็นรากฐานสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 4.) อาชีพเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นวิชาที่เสริมสร้างทักษะด้านอาชีพที่มีอยู่ในชุมชน เช่น การทอผ้า เครื่องจักสาน อาหาร ผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน (ยาสระผม, น้ำยาล้างจาน, น้ำยาซักผ้า ฯลฯ) ให้กับลูกหลานได้นำไปใช้และยังเป็นการพึ่งตนเองโดยไม่ต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำงานต่างถิ่น สร้างเศรษฐกิจชุมชน และช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน และ 5.) สื่อเพื่อการรณรงค์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการฝึกปฏิบัติ การเสริมสร้างทักษะด้านการสื่อสาร เช่น วิทยุชุมชน การเขียนข่าว บทความ ถ่ายภาพ การแสดงละคร การแสดงดนตรี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์และตอบสนองงานรณรงค์เผยแพร่แก่ชุมชนมากที่สุด หลักสูตรทั้งหมดเกิดขึ้นจากการคิดค้นร่วมกันของชาวบ้าน ครูผู้สอน และความต้องการของนักเรียน โดยจะเห็นได้ว่าแต่ละวิชาที่ตั้งชื่อขึ้นมานั้นไม่เคยพบในตำราเรียนเลย หรือแม้แต่เนื้อหาครูในโรงเรียนระบบการศึกษาก็ไม่เคยสอนด้วยซ้ำ ทั้งนี้ นายสมยศ นิคำ ครูใหญ่โรงเรียนคนฮักถิ่น ได้กล่าวว่า การต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โปแตช ของพ่อๆแม่ๆ มาถึง ณ วันนี้ ก็ยอมรับว่าเหน็ดเหนื่อยมากพอสมควร ซึ่งก็บรรลุผล ถึงแม้ว่าเรายังไม่สามารถชนะเด็ดขาด โดยการขับไล่โครงการฯ ออกไปจากพื้นที่ได้ แต่ก็ทำให้กระบวนการชะลอมาได้หลายปี ฉะนั้น สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือการสืบสานต่อเจตนารมณ์ของลูกหลาน ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นในชุมชนของเรา เพราะถ้าหมดรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว ก็อยากให้ผืนแผ่นถูกส่งมอบต่อ สู่มือลูกหลานอย่างอุดมสมบูรณ์ ครูใหญ่กล่าวอย่างหนักแน่น แล้วมาต่อกันในฉบับหน้า...05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม