1241 07 Dec 2012
29 พฤศจิกายน 2555 – 17 กุมภาพันธ์ 2556 ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการที่เผยแพร่คุณค่าความงามและความรู้เกี่ยวกับศิลปะไทย ผ่านผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ที่สืบสานและพัฒนาต่อยอดจากรากฐานของศิลปวัฒนธรรมไทย ด้วยแรงบันดาลใจในพุทธศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นกว่า ๕๐ ท่าน ร่วมกับการนำเสนอความงามของพุทธศิลป์และศิลปะพื้นบ้านผ่านผลงานศิลปะภาพถ่าย การจัดแสดงความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของศิลปะไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการจัดแสดงเทคนิคขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานที่ประยุกต์จากกรรมวิธีโบราณ พร้อมกิจกรรมการสาธิตโดยศิลปิน ศิลปะของไทยที่สร้างสรรค์และสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ หากพิจารณาถึงที่มาแล้วจะพบว่ามีรากฐานที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งหลอมรวมอยู่ในวิธีคิดและการดำเนินชีวิตของคนไทยทั้งสิ้น กล่าวคือ เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้พุทธศาสนาส่วนหนึ่ง และเป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันอีกส่วนหนึ่ง โดยศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้ศาสนาก็คือ ศิลปะที่อยู่ในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนที่ประทับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า จิตรกรรมฝาผนังและจิตรกรรมที่เคลื่อนที่ได้ อย่างพระบฏ หรือสมุดข่อย ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่พระธรรมคำสอนและเรื่องราวในพุทธศาสนา อันได้แก่ ไตรภูมิ พุทธประวัติ ชาดก รวมไปถึงงานประณีตศิลป์ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา เช่น ตู้พระธรรมลายรดน้ำ งานประดับมุก ประดับกระจก เป็นต้น ส่วนศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันนั้นจะมีความสัมพันธ์กับความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละท้องถิ่น เช่น ศิลปหัตถกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ ศิลปะพื้นบ้าน มหรสพ การละเล่นต่างๆ เป็นต้น แม้ต่อมาการสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงลักษณะไทย ด้วยรูปแบบ เนื้อหา หรือเทคนิคการใช้วัสดุ ซึ่งเราเรียกกันว่า “ศิลปะไทย” จะได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกในด้านรูปแบบและเทคนิคเข้ามาผสมผสาน ก่อเกิดเป็นศิลปะสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ตามลำดับเวลา แต่สิ่งที่ยังคงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่ศิลปิน ไทยก็คือ พุทธศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากแนวความคิดและเนื้อหาสาระของผลงาน “ศิลปะไทย” ร่วมสมัยในปัจจุบัน ที่ยังคงผูกพันกับคติความเชื่อ พระธรรมคำสอนในพุทธศาสนา รวมไปถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น หากแต่ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ พัฒนารูปแบบและเทคนิคในการนำเสนอไปตามมุมมอง การตีความ และบริบทของยุคสมัย จนเกิดสุนทรียภาพรสชาติใหม่ แต่ยังคงแสดงถึงเอกลักษณ์ไทย ด้วยการนำเสนอความงามอันละเอียดอ่อนประณีต สะท้อนชีวิตและจิตวิญญาณของศิลปินที่เติบโตและเจริญงอกงามมาจากรากฐานของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ส่งผ่านอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดไปสู่ผู้ชม เพื่อกล่อมเกลาและยกระดับจิตใจ ผลงาน “ศิลปะไทย” ของศิลปินร่วมสมัยที่จัดแสดงในนิทรรศการ “สยามแอพ” ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการการต่อยอดและคลี่คลายจากอดีตถึงปัจจุบัน ด้วยวิธีการหยิบยกรูปแบบและเทคนิคการแสดงออกของศิลปะไทยประเพณีมาผสมผสานกับรูปแบบการแสดงออกของศิลปะสมัยใหม่ เข้ากับเนื้อหาทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นตามมโนคติของศิลปิน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่แสดงลักษณะไทย สะท้อนรสนิยม ปรัชญาความคิด บุคลิก และจิตใจของศิลปินไทยกลุ่มหนึ่งที่กำเนิดและเติบโตภายใต้บริบทของสังคมไทย ซึ่งยังคงรักษาปรัชญาในการสร้างสรรค์ศิลปะ เพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตใจของตน จรรโลงจิตใจผู้ชมด้วยสุนทรียภาพความงาม และเจริญปัญญาด้วยคติความคิด และความหมายของผลงาน เป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากภูมิปัญญา ด้วยทักษะฝีมือสูง เปี่ยมด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และความคิด นำเสนอออกมาอย่างเรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง และน่าสนใจ ผลงานบางชิ้นให้ความรู้สึกนุ่มนวล สงบ งาม ในขณะที่ผลงานบางชิ้นให้ความรู้สึกสนุกสนานและอิ่มเอม ในโลกปัจจุบันศิลปะกลายเป็นสิ่งสากล ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ในด้านรูปแบบและเทคนิคกลวิธีการนำเสนอ ด้วยความเจริญของเทคโนโลยีการสื่อสาร ศิลปินจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเรียนรู้และส่งผ่านอิทธิพลไปสู่กันและกัน ศิลปะมุ่งเน้นการนำเสนอ “สิ่งแปลกใหม่” ทางทฤษฎีความคิด และรูปแบบในการนำเสนอ เพื่อแสดงนวัตกรรมแห่งภูมิปัญญาของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับโลกร่วมสมัย หากมองในบริบทนี้ “ศิลปะไทย” อาจถูกมองว่าล้าหลัง และคล้ายจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ด้วยกลวิธีการสร้าง รูปแบบการนำเสนอ และวิธีคิดทางสุนทรียศาสตร์ที่ยังคงรักษาขนบแบบเดิม สวนทางกับความหมายของ “ความเจริญก้าวหน้า” ในปัจจุบัน ที่ถูกนิยามด้วยการล้มล้างสิ่งเก่า และรับเอาสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ แต่หากมอง “ศิลปะไทย” ในฐานแห่งการทำความเข้าใจร่วมกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ภายใต้บริบทของสังคมไทยแล้ว “ศิลปะไทย” ยังคงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความหมาย และเป็นสินทรัพย์ทางภูมิปัญญาที่มีคุณค่า ควรแก่การศึกษาและภาคภูมิใจ เพราะการสร้างสรรค์และพัฒนาอย่างมีที่มาที่ไป ก้าวไปข้างหน้าอย่างตระหนักรู้รากเหง้าว่า เราเป็นใคร ก้าวเดินมาจากไหน และจะมุ่งไปสู่ทิศทางใด ย่อมดีกว่าการก้าวตามคนอื่นอย่างไร้จุดหมาย จนหลงลืมไปว่า “เราเป็นใคร และเหมาะสมกับอะไร” ----------------------- ที่มา ของ “สยามแอพ” คำว่า “สยาม” คือ ชื่อเรียกของประเทศไทยในสมัยโบราณ และเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศไทยตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๔๘๒ดังนั้น คำว่า “สยาม” จึงเป็นตัวแทนของความเป็นไทยในอดีต แต่ในขณะเดียวกันคำว่า“สยาม”ก็ยังเป็นชื่อเรียกของ“สยามสแควร์” ย่านธุรกิจชื่อดังร่วมสมัยในละแวกที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ส่วนคำว่า “แอพ” มีที่มาจากคำว่า “application” โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลความรู้เพื่อสาระประโยชน์และความบันเทิง ซึ่งเป็นคำร่วมสมัยที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คำว่า “สยามแอพ” ในที่นี้จึงหมายถึง พื้นที่หรือช่องทางร่วมสมัยที่ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับศิลปะที่แสดงลักษณะไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้คำว่า “แอพ” ยังมีที่มาจากคำว่า “appreciate” ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงหรือความซาบซึ้ง และคำว่า “apply” ซึ่งหมายถึงการประยุกต์ เนื่องจากที่มาของการสร้างสรรค์ผลงาน“ศิลปะไทย”ในปัจจุบัน เกิดจากแรงบันดาลใจหรือความซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปะไทยซึ่งสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทั้งศิลปะแบบประเพณีและศิลปะพื้นบ้าน จึงก่อให้เกิดการอนุรักษ์สืบสานและพัฒนาต่อยอดกันมาตามยุคสมัย โดยศิลปินได้นำรูปแบบ เทคนิค และเนื้อหาที่ปรากฏในศิลปะไทยโบราณมาประยุกต์และพัฒนาสร้างสรรค์ใหม่ให้มีความร่วมสมัยและแสดงลักษณะเฉพาะตน ในขณะเดียวกันนิทรรศการครั้งนี้ก็หวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ ความคิด และความงาม เพื่อให้ทุกท่านได้ซึมซับคุณค่าของ“ศิลปะไทย”และนำแรงบันดาลใจที่ได้รับไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสืบไป ดำเนินงานโดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภัณฑารักษ์ คุณปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ภัณฑารักษ์รับเชิญ คุณโอชนา พูลทองดีวัฒนา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ ศศิภัสสร์ สินธุประสิทธิ์ สอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทร. 02 2146630-8 # 520 โทรสาร 02 2146639 อีเมล prbacc@hotmail.com เว็บไซต์ www.bacc.or.th เฟซบุ๊ค www.facebook.com/baccpage05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม