บทเรียนการปกป้องแผ่นดินเกิด: กรณีศึกษากลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู

2144 06 Dec 2012

ชื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ: ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.สุวรรณคูหา บทเรียนการปกป้องแผ่นดินเกิด: กรณีศึกษากลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ความเป็นมา จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดหนองบัวลำภู ที่เป็นมูลเหตุสำคัญของปัญหาในพื้นที่ที่สำคัญ ก็คือ พื้นที่ปาสงวนแหงชาติป่าเก่ากลอย และป่านากลาง มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่อำเภอนากลาง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอนาวัง เนื้อที่ 846,075 ไร่ นอกจากทรัพยากรป่าไม้ แล้วในพื้นที่ดังกล่าวยังพบแหล่งแร่สำคัญดังนี้ 1) แร่แกรนิต แร่ถ่านหิน พบที่อำเภอนากลาง 2) แร่แบไรต์ พบที่อำเภอสุวรรณคูหา 3) ภูเขาหินปูน ซึ่งเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมระเบิดย่อยหินพบในอำเภอสุวรรณคูหาและอำเภอศรีบุญเรือง ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตำบลดงมะไฟ และพื้นที่ใกล้เคียง จึงเป็นที่มาของการพิพาทสร้างความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระหว่างกลุ่มทุนภายนอก กับ ชุมชนในท้องถิ่นตามมาจนถึงทุกวันนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี โดยสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งยังคงอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาความขัดแย้งเริ่ม ประมาณปี 2535 – 2540 เมื่อมีกลุ่มนายทุนยื่นขอสัมปทานโรงโม่หินในพื้นที่ภูผาฮวก ผาจันได และภูผายา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่า-นากลาง ท้องที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา (เดิมขึ้นอยู่กับ จังหวัดอุดรธานี) และต่อมาขึ้นการปกครองกับจังหวัดหนองบัวลำภูในปี 2536 เป็นต้นมา ความเคลื่อนไหวต่อสู้ของชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการสัมปทานโรงโม่หินในระยะแรกๆ เริ่มจากการยื่นหนังสือคัดค้าน และเหตุการณ์เริ่มมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2540 เมื่อกลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิกเฉยต่อการคัดค้านของชุมชนในท้องถิ่น จนนำไปสู่การชุมนุมคัดค้าน และจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่เพื่อดำเนินงานต่อสู้ปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชนอย่างจริงจัง ทั้งนี้เนื่องจาก การให้สัมปทานโรงโม่หินในพื้นที่ภูฮวก-ภูผายา-ผาจันได ดังกล่าว ตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ซึ่งมีเนื้อที่ 3,075 ไร่ นอกจากมีผลกระทบต่อพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งอาหาร และปัจจัยสี่อื่นๆ มานานนับแต่บรรพบุรุษ ยังมีกระทบต่อสถานปฏิบัติธรรมของพระป่าหลายสำนัก และแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีโบราณที่ถ้ำภูผายา อีกด้วย จนกระทั่งในปี 2542 แกนนำชุมชนจากบ้านนาเจริญ และบ้านโนนมีชัย ได้ร่วมประชุมหารือร่วมกับแกนนำชุมชน บ้านผาซ่อน และบ้านโชคชัย เพื่อจัดทำพื้นที่ป่าชุมชนให้แต่ละชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของท้องถิ่นขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับป่าชุมชนโคกผายา ทิศใต้ ติดกับป่าชุมชนบ้านต่างแดน ทิศตะวันออก ติดกับทุ่งนาบ้านโชคชัย ทิศตะวันตก ติดกับพื้นที่ทำกินบ้านคลองเจริญ การทำงานเคลื่อนไหวคัดค้านโรงโม่หินของชุมชนใช้ชื่อว่า “กลุ่มอนุรักษ์ป่าเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได” ซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 นั้น ในระยะแรกองค์กรชุมชนพบปัญหาอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แกนนำชุมชนคนสำคัญ คือ ในปี 2543 กำนันทองม้วน คำแจ่ม ถูกลอบสังหาร แต่ถูกบิดเบือนข้อมูลว่าเป็นการฆ่าตัดตอนในคดียาบ้า และยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้จนถึงปัจจุบัน จากการลอบสังหารแกนนำดังกล่าว ได้มีการรวมตัวชุมนุมเรียนร้อง โดยการเอาศพกำนันไปแห่ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู และชุมนุมประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดถึง 3 คืน ในช่วงนี้มี นายบำรุง คะโยธา และนายอวยชัย วะทา แกนนำสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ภาคอีสาน ได้มาช่วยเจรจาต่อรองจังหวัด และตำรวจให้สามารถนำศพแห่เข้าไปยังจังหวัดได้ ต่อมาในปี 2544 ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้เข้าชื่อ 313 คน ยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุวัจน์ ลิปตลัพลภ รมต.อุตสาหกรรม ในขณะนั้น) และศาลให้ตัวแทนรับฟังผลการพิจารณา 5 คน ผลก็คือ ศาลยกฟ้อง รมต. เพราะทำตามระบบราชการที่มีการพิจารณากลั่นกรองมาตามลำดับขั้นแล้ว ในปีเดียวกันนี้ องค์กรชาวบ้านยังได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกสัมปทานบัตร ปี 2544 ซึ่งศาลปกครองได้พิจารณา และให้ยกเลิกการสัมปทานบัตรเพื่อเป็นผลประโยชน์ต่อชุมชน แต่ผู้ประกอบการได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง แต่ความคืบหน้าองค์กรชาวบ้านยังไม่รับทราบผลการพิจารณาจนบัดนี้ กระบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรชุมชน จากการทบทวนเอกสาร และการสัมภาษณ์แกนนำสำคัญของกลุ่มอนุรักษ์ป่าเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ตำบลดงมะไฟ พอที่จะสรุปกระบวนการดำเนินงานขององค์กรชาวบ้าน เพื่อเป็นบทเรียนแก่การดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด ดังนี้ ก. ขบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรชาวบ้านในระยะแรก (ก่อนปี 2542) 1) การถูกผนวกให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในยุคความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งชุมชนพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง และอำเภอน้ำโสม ซึ่งอยู่ในเขตการเคลื่อนไหวของสหายภูพาน จึงถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามช่วงชิงปะชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 2) ขบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรชุมชนที่คัดค้านเรื่องการสัมปทานบัตรโรงโม่หินในพื้นที่ช่วงนี้ชุมชนในพื้นที่ประสบปัญหาสำคัญในการต่อสู้กับนโยบายรัฐ 2 เรื่องด้วยกัน คือ • โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือ คจก. ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย-นากลาง ซึ่งมีชุมชนที่จะต้องถูกอพยพกว่า 20 หมู่บ้านในเขตอำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอนากลาง (ปี 2535-2536) • การให้สัมปทานบัตรแก่กลุ่มทุนในการประกอบการอุตสาหกรรมระเบิด และย่อยหินในพื้นที่ภูผายา-ผาฮวก-ผาจันได ซึ่งในช่วงปี 2537 ได้ขอสัมปทานบัตรทำเหมืองหินแกรนิตในบริเวณภูผายา ซึ่งชุมชนมีการคัดค้านร่วมกับพระสงฆ์ที่จำวัด/จำพรรษาในพื้นที่ 3) รูปแบบ และขวนการเคลื่อนไหวในระยะนี้ เป็นการคัดค้าน และยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น จังหวัด และส่วนกลาง ซึ่งผลการตอบรับในการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างเชื่องช้า 4) การต่อสู้ของเครือข่ายองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ป่าเก่ากลอย-นากลางให้ยกเลิก คจก. ได้เข้าร่วมกับ เครือข่ายป่าไม้ที่ดิน ภาคอีสาน จนมีการยุติโครงการในเดือนกรกฎาคม 2535 สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน 5) การเคลื่อนไหวคัดค้านโรงโม่หินในช่วงนี้ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เพียงลำพังเป็นส่วนใหญ่ ส่วนองค์กรที่ให้การสนับสนุนยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และบางองค์กรไม่กล้าเปิดเผยมากนัก เนื่องข้อจำกัดการทำงานในพื้นที่ที่เป็นเงื่อนไขตกลงกับรัฐ 6) การเคลื่อนไหวในระยะนี้มีการเชื่อมโยงกับ เครือข่ายโรงโม่หินในพื้นที่จังหวัดเลย โดยการนำของ ครูประเวียน บุญหนัก ที่เข้ามาจัดตั้งแกนนำ และสนับสนุนงานในพื้นที่ ต่อมาหลังจาก ครูประเวียน ถูกลอบสังหาร งานเคลื่อนไหวโดยรวมทั้ง 2 จังหวัดต้องหยุดชะงักไป ข. ขบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรชาวบ้านในช่วงการจัดตั้งกลไก และเชื่อมโยงภายนอก (ปี 2542-ปัจจุบัน) 1) หลังจากการลอบสังหารแกนนำคัดค้านโรงโม่หินที่จังหวัดเลย คือ ครูประเวียน บุญหนัก สถานการณ์เช่นนี้มีการนำไปใช้คุกคามแกนนำในพื้นที่อื่นๆ มีความรุนแรงมากขึ้น 2) ชุมชนในพื้นที่มีการจัดตั้งพื้นที่ป่าชุมชนให้เป็นรูปธรรม เพื่อควบคุมการจัดการพื้นที่ในเชิงอนุรักษ์ต่อสู้กับโรงโม่หิน โดยการแบ่งโซนพื้นที่ในการจัดการเชิงอนุรักษ์และฟื้นฟูร่วมกันของชุมชนในตำบลดงมะไฟ รวมทั้งป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ด้วย 3) องค์กรชาวบ้านและเครือข่ายใช้แนวทาง มาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรขึ้นมาตอบโต้กับโรงโม่หินในฐานะผู้ทำลายล้าง เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นรากฐานการดำรงชีพที่สำคัญของชุมชนในด้านปัจจัยสี่ 4) องค์กรชาวบ้านเริ่มมีการขยายผลด้านแนวคิดการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรท้องถิ่นไปยังคนรุ่นใหม่ที่เป็นบุตรหลานของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกะบวนการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นการสร้างการทดแทนแกนนำรุ่นเก่าๆ ที่เริ่มไปตามกาลเวลา โดยร่วมมือกับครู และโรงเรียนในพื้นที่จัดกิจกรรมค่ายนักอนุรักษ์น้อย ในระยะนี้ มีองค์การนานาชาติเพื่อการพัฒนา (แพลน) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ที่เป็นพี่เลี้ยงหลักร่วมกับหน่วยงานราชการ เช่น สถานศึกษา สถานีอนามัย โรงพยาบาล สาธารณสุขจังหวัด 5) สร้างกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านสู่รุ่นบุตรหลานในชุมชน ได้มีความรู้เกี่ยวกับคุณค่าทรัพยากรของท้องถิ่นในรูปแบบค่ายอนุรักษ์ จนมีทายาทสืบสานข้อมูล และองค์ความรู้ไปแล้วกว่า 500 คน ในจำนวนนี้บางส่วนกลับมาเป็นแกนนำ และสร้างคนรุ่นอื่นๆ ขึ้นมาทดแทนจากตนเอง 6) การใช้มาตรการทางกฎหมาย และกระบวนการศาล เพื่อให้มีการยกเลิกสัมปทานบัตรโรงโม่หินในพื้นที่ แม้ว่าผู้ประกอบการจะอุทธรณ์ตามขั้นตอนกฎหมาย และอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของศาลปกครอง 7) การเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่าย สมัชชาเกษตรกรรายย่อย ภาคอีสาน ในช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมแก่แกนนำที่ถูกลอบสังหาร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรชาวบ้านในพื้นที่เริ่มแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอกในด้านยุทธวิธีการต่อสู้ 8) องค์กรชาวบ้านเริ่มมีการขยายผลแนวคิดไปยังกลุ่มครู และโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อสร้างผลผลิตนักอนุรักษ์น้อยในท้องถิ่น และการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นที่มีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น จึงเกิดแกนนำครูในโรงเรียนเกิดขึ้นหลายแห่งที่ทำงานหนุนเสริมขบวนเคลื่อนไหวชาวบ้านในด้านวิชาการ 9) องค์กรชาวบ้านใช้หลักความเชื่อทางด้านศาสนา และวัฒนธรรมชุมชนเป็นเครื่องมือในการระดมทรัพยากร เพื่อการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และคัดค้านโรงโม่หิน 10) องค์กรชาวบ้านเริ่มมีการประสานทรัพยากรจากภายนอกเข้ามาหนุนเสริมการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดทำโครงการพัฒนา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่กับพื้นที่อื่นๆ แนวทางการดำเนินงาน จากบทเรียนที่ดีขององค์กรชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับจากการทำงานในช่วงปีที่ผ่านมา ยังพบว่า มีประเด็น และแนวทางที่จำเป็นต้องทำต่อไปข้างหน้าในมุมมองของผู้นำองค์กรชุมชน สรุปได้ดังนี้ 1) การขยายผลเชิงปริมาณในการทำงานกับชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการระเบิด และย่อยหินในพื้นที่ให้ครบทั้ง 13 หมู่บ้าน ของ ตำบลดงมะไฟ รวมไปถึงตำบลใกล้เคียงที่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรป่า และป่าไม้ในพื้นที่ป่าเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได อีก 3 ตำบล 2) การสร้างขวัญ และกำลังใจแก่แกนนำชุมชน ซึ่งในปัจจุบันยังมีความหวาดกลัวอิทธิพลของกลุ่มทุนโรงโม่หิน เนื่องจากแกนนำบางส่วนถูกจับกุมคุมขัง และถูกลอบสังหาร โดยการใช้มาตรการช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุมคุมขัง และการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมแก่แกนนำให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามสิทธิหน้าที่ของตนเอง 3) การสรุปทบทวนบทเรียน และพัฒนาองค์ความรู้จากการทำงานที่ผ่านมา เพื่อพัฒนายกระดับการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่องค์กรชุมชนอย่างต่อเนื่อง 4) การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ และระหว่างกลุ่มบุคคลในสังคมที่ประสบปัญหา หรือระหว่างกลุ่ม เพื่อลดความซ้ำซากในกระบวนการแก้ไขปัญหา 5) การพัฒนากลไกขององค์กรชุมชนให้สามารถสร้างการทดแทนด้านแนวคิด และอุดมการณ์ทางสังคม และการเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนในระยะยาว

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม