เทศกาลฮัจญ์ มุสลิมในประเทศเฉลิมฉลองอย่างไร

1755 29 Oct 2012

โดย : อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน ปีนี้ วันอีดิลอัฎฮา ปีฮิจเราะฮฺศักราช 1433 จะตรงกับวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ทำให้มุสลิมทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ดีใจมากและได้เตรียมประกอบศาสนกิจและศาสนกุศลมากมาย สำหรับผู้ที่เดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอารเบีย ของมุสลิมไทย จำนวนประมาณ 12,000 คนจากมุสลิมทั่วโลกนับล้านคน จะประกอบศาสนกิจดังกล่าวอย่างแข่งขันเพราะการประกอบพิธีทำฮัจญ์ เป็น 1 ใน 5 หลักปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิม ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้กล่าวแก่ชาวมุสลิมเกี่ยวกับฮัจญ์ สรุปความได้ว่า "โอ้ประชาติทั้งหลาย อัลลอฮ . ได้กำหนดฮัจญ์เป็นหน้าที่ของพวกท่าน ดังนั้นท่าน ทั้งหลายจงทำฮัจญ์" ในเทศนาธรรมอำลาของท่านศานทูตมุฮัมมัด ได้ ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่งไว้ ความว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเลือด ทรัพย์สมบัติและศักดิ์ศรีของท่านจะได้รับการปกป้องและห้ามมิให้เกิดการล่วงละเมิด จนกว่าท่านทั้งหลายจะกลับไปสู่พระเจ้าของท่าน เฉกเช่นกับการห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดในวันนี้ เดือนนี้และสถานที่แห่งนี้” ดังนั้นฮัจญ์ จึงเป็น การรวมตัวของประชาชาติมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถรวบรวมประชาคมที่ก้าวพ้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม มุสลิมทุกคนต้องประกอบพิธีฮัจญ์แม้ครั้งเดียวในชีวิต สำหรับผู้ที่อยู่ในประเทศไทยจะฉลองวันตรุษ "อีดิลอัฎฮา"ด้วยศาสนกิจและศาสนกุศลมากมายโดยเฉพาะเชือดสัตว์เพื่อพลีทานเป็นสวัสดิการชุมชน และเป็นที่น่ายินดีว่ากระทรวงกลาโหม อนุมัติให้ทหารกองประจำการที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีความประสงค์จะไปประกอบศาสนกิจในวันอีดิลอัฎฮา ปีฮิจเราะฮฺศักราช 1433 ได้หยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ มีกำหนด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 - 28 ตุลาคม 2555 ส่วนข้าราชการอื่น ๆ ให้ใช้สิทธิ์การลาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกลาโหมกำหนด วันตรุษอีดิลอัฎฮา เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำว่า อีด แปลว่า รื่นเริง เฉลิมฉลอง และ อัฎฮา แปลว่า เชือดสัตว์พลีทาน ดังนั้น วันตรุษอีดิลอัฎฮา จึงหมายถึง วันเฉลิมฉลองการ เชือดสัตว์เพื่อพลีทานเป็นสวัสดิการชุมชน สำหรับศานกิจและสวัสดิการชุมชนที่จะควรปฏิบัติ มีดังนี้ 1. วันที่ 9 ซุ้ลฮิจยะฮฺ ตรงกับวันที 25 ตุลาคม สมควรที่มุสลิม ถือศีลอดเพราะท่านศาสนฑูตมุฮัมัด ได้วัจนะไว้ความว่า "ผู้ใดถือศีลอดในวันนี้ อัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดต่างๆ ในปีที่ผ่านมาและปีต่อไป" 2. ภารกิจและข้อควรปฏิบัติในวันตรุษอีดิลอัฎฮา สามารถแบ่งได้สามช่วงดังนี้ ก. ภารกิจก่อนละหมาด 1. การตักบีร (สรรเสริญความยิ่งใหญ่ต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ตลอดเวลา) ดังที่อัลลอฮ์ได้ดำรัสในอัลกุรอาน ความว่า "และท่านทั้งหลายจงกล่าวตักบีร อย่างกึกก้องต่อพระองค์" (ซูเราะห์อัลอิสรอ อายะที่ 111) 2. อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกายก่อนสวมใส่เสื้อผ้าไปยังสถานที่ละหมาด พร้อมทั้งขจัดขนของอวัยวะเพศ ขนรักแร้ ตัดเล็บ และขจัดกลิ่นกาย (โปรดดูบันทึกอีหม่ามมาลิก 1/177 และอีหม่ามซาฟีอี ในหนังสือมุสนัด หมายเลข 88) 3. แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่สวยงาม พร้อมทั้งใช้น้ำหอมยกเว้นสตรี 4. ไปยังสถานที่ละหมาดตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะมะมูม (ผู้ตามละหมาด) ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ (สมควรแต่ไม่ใช่เป็นการบังคับ) - ออกไปและกลับด้วยการเดินเท้า - การเดินไปและกลับจากการละหมาดควรใช้เส้นทางต่างกัน - กล่าวสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ ตลอดเวลาขณะเดินทาง ข. ละหมาด การละหมาดตรุษวันอีดิลอัฎฮาถือเป็นศาสนกิจที่สำคัญที่สุดของวันนี้ เพราะมุสลิมทุกคนไม่ว่าผู้ชาย หญิง เด็ก คนชรา ควรไปร่วมละหมาดที่มัสยิดหรือลานสนามกว้างที่ทางหมู่บ้านจัดเตรียมไว้ (จากทัศนะส่วนใหญ่ของปราชญ์อิสลาม) โดยการละหมาดดังกล่าวจะเริ่มทำในช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณครึ่งชั่วโมง (ประมาณ 7.10 น.) ค. ภารกิจหลังละหมาดอีด หลังจากละหมาดเสร็จแล้วทุกคนต้องฟังคุบะห์ (ฟังธรรมเทศนา) หลังจากนั้นทุกคนต่างก็แสดงความยินดีปรีดาต่อกัน แสดงความขอโทษซึ่งกันและกันในสิ่งที่ได้ล่วงละเมิด ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามหลังจากนั้นควรบริจาคทานกับเด็ก คนชรา หรือใครๆก็ได้ ที่ตัวเองประสงค์จะทำทาน ออกไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน อาจจะจัดกิจกรรมบนเวทีให้กับเด็กๆ เพื่อมอบความสุขให้กับเขาเหล่านั้นและที่สำคัญทีสุดคือ เชือดสัตว์พลีทาน (กุรบ่าน) สำหรับการทำกุรบ่านนี้ได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยของท่านศาสนฑูตอิบรอฮีม (อาลัยฮิสลาม.) ซึ่งนักปราชญ์ในมัซฮับฮะนาฟีย์มีทัศนะว่าการทำกุรบ่านเป็นวายิบ (ต้องปฏิบัติทุกคน) ส่วนปราชญ์มัซฮับชาฟีอีย์ถือเป็นกิจสุนัตมุอักกัต คือ ถึงแม้จะไม่บังคับแต่ก็ควรกระทำกันทุกคนเพราะผู้กระทำจะได้ผลบุญอย่างยอดเยี่ยม และท่านศาสนฑูตมุฮัมหมัด (ซ๊อลลลัลลอฮูอะลัยฮิวัซัลลัม.) ก็ได้ปฏิบัติอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ไม่ควรละเลยข้อปฏิบัตินี้อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต จากท่านอิบนุอับบาสอัครสาวกศาสนฑูตเล่าว่า ท่านศาสนฑูตทรงกล่าวไว้ความว่า ในวันอีดิลอัดฎาไม่มีการภักดีใดๆ ของมนุษย์จะเป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของอัลลอฮ์ ดียิ่งไปกว่าการทำกุรบ่าน กำหนดเวลาการทำกุรบ่าน เริ่มเชือดกุรบ่านได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นของเช้าวันอีดิลอัฎฮา (หลังละหมาด) จนถึงเวลาละหมาดอัสรีของวันที่ 4 ของวันอีดรวม 4 วัน (วันอีด 1 วันตัชรีก 3 วันซึ่งตรงกับ วันที่26-29 ตุลาคม 2555 แต่ระยะเวลาที่ดีเยี่ยมที่ควรเชือดกุรบ่าน คือหลังจากเสร็จการละหมาดอีดิลอัฎฮาแล้ว การเชือดควรให้เจ้าของเป็นผู้เชือดเองหากจะมอบให้ผู้อื่นเชือดก็ควรดูการเชือดด้วย คำเนียต (นึกในใจ) ของการเชือดกุรบ่าน ขณะจะเริ่มเชือดให้เนียตว่า "นี่คือกุรบ่านของข้าพเจ้า"หากมอบให้ผู้อื่นเชือด คนเชือดต้องเนียตว่า "นี่คือกุรบ่านของ...................ซึ่งมอบให้ข้าพเจ้าเชือด" คำอ่านก่อนเชือด บิสมิลลาฮี่ อัลลอฮุฮักบัร อัลลอฮุมมา ฮาซามิง ก้าว่าอี้ลัยก้า ฟ้าตาก๊อบบันมินนี ก้ามาตาก๊อบบั้นต้า มินคอลีลิ๊กก้าอิบรอฮีม ว่ามินฮาบีบี้ก้ามูฮัมมัด ความว่า "ด้วยพระนามของอัลลอฮฮ อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ ข้าแด่อัลลอฮฺ สัตว์กุรบานนี้ของพระองค์ทรงให้เกิดมาและจะกลับไปสู่พระองค์แล้ว ดังนั้นจงรับจากข้าพระองค์แล้วเหมือนกับที่พระองค์ทรงรับจากนบีอิบรอฮีมและนบีมุฮัมหมัดซึ่งเป็นโปรดของท่าน" สัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่าน สัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่าน คือ อูฐ วัว ควาย แพะ แกะ กีบัช อูฐ ต้องมีอายุ 5 ปีบริบูรณ์ ใช้ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน ดังนั้น จึงรวมกันทำ 7 คน/อูฐตัวเดียวก็ได้ หรือจะทำคนเดียวก็ยิ่งดี วัว ควาย ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน แพะ ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน แกะและกิบัช ต้องมีอายุ 1 ปีบริบูรณ์ หรือเปลี่ยนฟันแล้ว ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน สัตว์จะทำกุรบ่าน ต้องอ้วนสมบูรณ์ปราศจากสิ่งตำหนิหรือโรค ควรมีลักษณะสวยงามสง่า สัตว์ที่ห้ามทำกุรบ่าน สัตว์ที่ห้ามกุรบ่านไม่ได้ ได้แก่ สัตว์ที่เป็นโรค หรือพิการหรือไม่สมประกอบ เช่น ตาบอด หูแหว่ง เขาหัก ไม่มีฟัน แคระแก่น มีท้อง การแจกกุรบ่าน เนื้อสัตว์ที่ทำกุรบ่านนั้นสามส่วนกล่าวคือ ให้แจกจ่ายแก่คนยากจนและเพื่อนบ้าน ควรเก็บไว้กินเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเมื่อท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ทำกุรบ่านนั้นท่านเอาตับไว้กินเพียงชิ้นเดียว นอกนั้นบริจาคไปหมด นอกจากนี้ห้ามนำเอาเนื้อและส่วนต่างๆของสัตว์กุรบ่าน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหนังหรือกระดูกไปขายหรือเป็นค่าจ้างเป็นอันขาด วันตรุษอีฎิลอัดฮาปีนี้น่าจะนำเนื้อกุรบ่านส่วนหนึ่งบริจาค หรือบริจาคเงินทำกุรบ่าน ผ่านคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด หรือจังหวัดหรือองค์กรการกุศลต่างๆที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบภัยด้านต่างๆทั้งในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ก็ได้

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม