‘นอมินี’ ในโครงสร้างและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงการถือหุ้น ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ?

7631 27 Oct 2012

ชื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ: เหมืองทองเขาหม้อ อ.ทับคล้อ พิจิตร เอกสารเผยแพร่ ลำดับที่ 1 บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้เริ่มดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำที่แหล่งชาตรีมาตั้งแต่ปี 2543 และแหล่งชาตรีเหนือเมื่อปี 2551 รวมพื้นที่ 5,463 ไร่ อยู่บริเวณรอยต่อของจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ คาดว่าแหล่งแร่ทองคำทั้ง 2 แหล่งนี้จะหมดลงภายใน 6-7 ปี ข้างหน้า บริษัทอัคราฯ จึงกำลังสำรวจหาแหล่งสำรองแร่ทองคำแห่งใหม่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,806 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,128,750 ไร่ อยู่ในขณะนี้ โดยได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ให้ดำเนินการสำรวจหาแหล่งแร่ทองคำและเงินแหล่งใหม่ในพื้นที่ต่อเนื่องจากพื้นที่โครงการชาตรีและชาตรีเหนือ ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก เป็นจำนวนพื้นที่ 507,996 ไร่ ซึ่งการสำรวจใกล้เสร็จสิ้นแล้ว แต่จากผลการสำรวจในช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมาได้พบแหล่งแร่ทองคำที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ขนาดพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 12,500 ไร่ เรียกว่า ‘แหล่งสุวรรณ’ ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 6-10 กิโลเมตร โดยแร่ทองคำที่ขุดได้จากแหล่งสุวรรณจะขนส่งมาแยกแร่ที่โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งชาตรี นอกจากนั้นยังพบแหล่งแร่ทองคำที่คาดว่าจะมีศักยภาพเชิงพาณิชย์แห่งใหม่อีกแหล่งหนึ่งคือ ‘แหล่งโชคดี’ ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร โดยบริษัทอัคราฯ ได้กำหนดขอบเขตการขุดเจาะสำรวจและตรวจสอบชั้นแร่ทางธรณีเคมีและธรณีฟิสิกส์ในพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 18,750 ไร่ อยู่ในขณะนี้ ซึ่งหวังว่าการสำรวจตามอาชญาบัตรพิเศษที่ได้รับใน 2 ปีที่เหลือจะทราบผลได้อย่างแน่นอนชัดเจนว่าจะพัฒนาการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินที่แหล่งสุวรรณได้เต็มพื้นที่ที่กำหนดไว้คือ 18,750 ไร่ หรือเพียงแค่บางส่วน และนอกจากนั้นบริษัทอัคราฯ ยังคาดว่าจะพบแหล่งแร่ทองคำที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ในพื้นที่สำรวจที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษแหล่งใหม่ ๆ อีก นอกจากนี้บริษัทอัคราฯ ยังได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่ทองคำและเงินเพิ่มเติมอีกหลายแสนไร่ ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก ที่ต่อเนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษไปแล้วกว่า 507,996 ไร่ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นพิจารณาให้อนุญาตของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอยู่ในขณะนี้ นับตั้งแต่ปี 2544 – 2550 บริษัทอัคราฯ ได้จ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐเพียง 383.82 ล้านบาท จากแร่ทองคำและแร่เงินที่ผลิตได้มูลค่า 12,695.48 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากต่อการนำไปพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองทองคำของบริษัทอัคราฯ จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยมากว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น รายได้ส่วนใหญ่ที่บริษัทอัคราฯ ได้รับใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์เอาไป ก. โครงสร้างและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงการถือหุ้นในบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด บริษัทอัคราฯ จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536 ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท แพร่ลิกไนต์ จำกัด ในเครือของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กับบริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด ในเครือของบริษัท Kingsgate Consolidated NL. แห่งประเทศออสเตรเลีย ในสัดส่วน 50 : 50 ภายหลังสัดส่วนการถือครองหุ้นของฝ่ายไทยและออสเตรเลียได้เปลี่ยนแปลงเป็น 10 : 90 และ 0 : 100 ในที่สุด ทั้งนี้เป็นผลจากการแลกหุ้นของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ไปถือครองหุ้นในบริษัท Kingsgate Consolidated NL. แทน ซึ่ง Kingsgate ได้ถือครองหุ้นทั้งหมดของบริษัทอัคราฯ เรื่อยมา โดยมีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นให้ผู้ถือหุ้นบุคคลสัญชาติไทยเข้ามาถือหุ้นบ้างเพียงเล็กน้อยไม่ถึงร้อยละ1 จนกระทั่งวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ได้มีการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัทจาก 245,000,000 บาท (24,500,000 หุ้น ๆ ละ 10 บาท) เป็น 510,000,000 บาท (51,000,000 หุ้น ๆ ละ 10 บาท) ซึ่งเป็นการเพิ่มทุน ‘หุ้นบุริมสิทธิ’ ทั้งหมดจำนวน 265,000,000 บาท (26,500,000 หุ้น ๆ ละ 10 บาท) โดยมีบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย จำกัด บริษัทสัญชาติไทยเข้ามาถือหุ้นบุริมสิทธิที่เพิ่มทุนเข้ามาทั้งหมด นับตั้งแต่นั้นมาได้ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นฝ่ายไทยมากกว่า Kingsgate ฝ่ายออสเตรเลีย ในสัดส่วน 26,500,004 หุ้น : 24,499,996 หุ้น หรือร้อยละ 52 : 48 แต่ ‘สัดส่วนการถือหุ้น’ กับ ‘การถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุน’ เป็นคนละเรื่องกัน ! ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 บริษัท สินภูมิ จำกัด บริษัทสัญชาติไทยได้เข้ามาถือหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดในส่วนที่เคยเป็นของบริษัทเอ็มไพร์เอเชียฯ และมีการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 จาก 510,000,000 บาท เพิ่มเป็น 512,000,000 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นบุริมสิทธิอีก 200,000 หุ้น ให้กับบริษัทสินภูมิฯ ตลอดระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเนื่องมาจากการจดทะเบียนเพิ่มทุนเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันผู้ถือครองหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดได้ชำระเงินไปเพียง 2.50 บาท ต่อหุ้นเท่านั้น จากราคาเต็มหุ้นละ 10 บาท เท่ากับราคาหุ้นสามัญที่ Kingsgate ถือไว้เกือบทั้งหมด ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ได้ระบุว่ามีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 5 คน แบ่งเป็นหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทสินภูมิฯ จำนวน 26,700,000 หุ้น และหุ้นสามัญ 5 หุ้นของบุคคลสัญชาติไทย 4 คน (รวมหุ้นฝ่ายไทย 26,700,005 หุ้น) ที่เหลือเป็นหุ้นสามัญทั้งหมดของชาวออสเตรเลีย 24,499,995 หุ้น แบ่งเป็นของ Kingsgate จำนวน 24,499,994 หุ้น และอีก 1 หุ้น ของบุคคลชาวออสเตรเลีย ซึ่งถ้าหากพิจารณาเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นก็จะเห็นได้ว่าบริษัทอัคราฯ มีการถือครองหุ้นโดยฝ่ายไทยมากกว่าฝ่ายออสเตรเลียร้อยละ 52 : 48 แต่เมื่อพิจารณาระหว่าง ‘สัดส่วนการถือหุ้น’ กับ ‘การถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุน’ จะทำให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ! เนื่องจากหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดที่บริษัทสินภูมิฯ เป็นผู้ถือเอาไว้จำนวน 26,700,000 หุ้นนั้น ได้แจ้งเอาไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ว่าได้ชำระเงินแล้วเพียง 2.50 บาทต่อหุ้นเท่านั้น คิดเป็นจำนวนเงินเพียง 66,750,000 บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงิน 50 บาท ที่ชำระหุ้นสามัญ 5 หุ้นของบุคคลสัญชาติไทยได้เท่ากับ 66,750,050 บาท ยังเหลือค่าหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทสินภูมิฯ ส่วนที่ยังไม่ได้ชำระอีก 200,250,000 บาท ในส่วนหุ้นสามัญของฝ่ายออสเตรเลียได้ชำระเงินจำนวน 244,999,950 บาท เต็มตามจำนวนราคาหุ้นทั้งหมดที่ถือไว้ หากรวมเงินที่ชำระแล้วของจำนวนหุ้นทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายออสเตรเลียจะได้ 311,750,000 บาท แต่ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 กลับระบุว่าทุนจดทะเบียนของบริษัทอัคราฯ ได้เรียกชำระครบถ้วนแล้วเต็มจำนวน 512,000,000 บาท ใครเป็นผู้ชำระเงินค่าหุ้นบุริมสิทธิให้กับบริษัทสินภูมิฯ ที่ยังค้างชำระอยู่ถึง 200,250,000 บาท? จากหลักฐานในส่วนนี้จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนระหว่าง ‘สัดส่วนการถือหุ้น’ กับ ‘การถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุน’ ดังนี้ 1) ถ้าหากดูเฉพาะในส่วนของ ‘สัดส่วนการถือหุ้น’ ก็จะเห็นได้ว่าบริษัทอัคราฯ ไม่มีสถานะเป็นบริษัทต่างด้าวเนื่องจากบริษัทสินภูมิฯ และบุคคลสัญชาติไทยได้ถือหุ้นรวมกันเป็นจำนวน 26,700,005 หุ้น มากกว่าหุ้นของ Kingsgate และบุคคลสัญชาติออสเตรเลียที่ถือหุ้นรวมกัน 24,409,995 หรือในสัดส่วนร้อยละ 52 : 48 2) แต่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ให้ความสำคัญในเรื่องของ ‘การถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุน’ มากกว่า ‘สัดส่วนการถือหุ้น’ นั่นก็คือถึงแม้ฝ่ายไทยจะถือครองจำนวนหุ้นมากกว่าฝ่ายออสเตรเลียแต่เงินที่ชำระหุ้นแล้วกลับน้อยกว่าฝ่ายออสเตรเลีย จะถือว่าเป็นการถือหุ้นที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทุน ในจำนวนหุ้นที่มากกว่าของฝ่ายไทยจำนวน 26,700,005 หุ้น ได้ชำระเงินค่าหุ้นไปเพียง 66,750,050 บาท ส่วนหุ้นที่น้อยกว่าของฝ่ายออสเตรเลียจำนวน 24,499,995 หุ้น ได้ชำระเงินค่าหุ้นครบถ้วนเต็มราคา 244,999,950 บาท คิดเป็นร้อยละ 12 และ 48 ตามลำดับ แต่ถ้าหากสมมุติว่าผู้ถือหุ้นฝ่ายออสเตรเลียเป็นฝ่ายจ่ายค่าหุ้นบุริมสิทธิของฝ่ายไทยที่ค้างชำระอยู่ 200,250,000 บาท--ซึ่งน่าสงสัยอยู่ว่าใครกันที่เป็นผู้ชำระค่าหุ้นบุริมสิทธิส่วนที่ค้างชำระนี้--นั่นย่อมหมายความว่าผู้ถือหุ้นฝ่ายออสเตรเลียได้ชำระค่าหุ้นรวมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 445,249,950 บาท (244,999,950 + 200,250,000 บาท) จึงเห็นได้ว่าถึงแม้ฝ่ายออสเตรเลียจะถือครองจำนวนหุ้นน้อยกว่าฝ่ายไทยแต่เป็นการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุน คิดเป็นสัดส่วนการถือครองทุนในหุ้นระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายออสเตรเลียร้อยละ 12 : 88 ซึ่งถ้าหากเป็นดังที่สมมุติจริงนั่นก็หมายความว่าบริษัทอัคราฯ มีสถานะเป็นบริษัทต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เนื่องจากว่ามี Kingsgate บริษัทต่างด้าวจากออสเตรเลียเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนของบริษัทอัคราฯ แผนผังโครงสร้างและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงการถือหุ้นในบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เหมืองทองคำและเงินในเขตรอยต่อ ๓ จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ๑. เหมืองทองคำชาตรี ๒. เหมืองทองคำชาตรีเหนือ ๓. แหล่งทองคำ ‘สุวรรณ’ ! ๔. แหล่งทองคำ ‘โชคดี’ ! ข. ข้อคิดเห็นส่งท้าย การถือหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทสัญชาติไทยในอีกหลาย ๆ แห่ง ถึงแม้จะเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็บ่งชี้ถึงเจตนาบางอย่างในกระบวนการถือหุ้นที่มีลักษณะสมยอมและยินยอมนักลงทุนรายใหญ่จากต่างชาติ โดยสมยอมและยินยอมให้ผู้ถือหุ้นจากต่างชาติเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนและกุมอำนาจในการเป็นเจ้าของและบริหารงานบริษัทอัคราฯ โดยตัวเองเลือกที่จะปิดปากงดการมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ขอเพียงแค่ ‘เศษเนื้อข้างเขียง’ ก็ภูมิใจแล้ว ดังจะเห็นได้จาก แผนผังโครงสร้างและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงการถือหุ้นของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ที่ Kingsgate ถือหุ้นสามัญเพื่อครอบครองกิจการทั้งหมดของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด บริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด และบริษัท ฟ้าใหม่ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด ส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยเลือกที่จะถือหุ้นบุริมสิทธิเป็นส่วนใหญ่เพื่อปิดปากตนเอง ไม่ขอมีสิทธิออกเสียงในการบริหารงาน รอรับเงินปันผลที่ Kingsgate แบ่งให้อย่างไร้ศักดิ์ศรี เสมือนกับว่าคนไทยเหล่านี้ได้รับจ้างตั้งบริษัทสัญชาติไทยเหล่านี้ขึ้นมาด้วยเงินของ Kingsgate เอง มีลักษณะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ให้กับ Kingsgate เพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมายต่าง ๆ ที่ตรวจตราความผิดจากการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว บริษัทอัคราฯมักอ้าง ‘การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ’ ขึ้นมาบังหน้าหรือบิดเบือนข้อมูลความเป็นจริงว่า ‘ประเทศไทยนำเข้าทองคำปีละ 100 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละกว่า 90,000 ล้านบาท โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศในรูปของรายได้จากการส่งออกโลหะทองคำและเงิน หรือประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าโลหะทองคำและเงินได้ถึงปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังจะช่วยก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐ ในรูปของภาษี ค่าภาคหลวง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมแล้วมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี’ แต่ในความเป็นจริงก็คือรายได้จากการส่งออกนั้นอยู่ในกระเป๋าของประเทศไทยเท่าไหร่ก็ในเมื่อบริษัทอัคราฯ มีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่เข้าข่ายบริษัทต่างด้าว และแร่ทองคำทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในประเทศส่งออกขายต่างประเทศทั้งหมดเพื่อนำไปทำให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ ดังนั้นแล้วประเทศไทยจะประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าทองคำและเงินปีละ 2,000 ล้านบาทได้อย่างไร เพราะไทยต้องซื้อทองคำบริสุทธิ์เข้ามาในราคาตลาดทองคำโลกเหมือนเดิม สิ่งที่สำคัญที่บริษัทสัญชาติไทยเหล่านี้ไม่เคยคำนึงถึงก็คือการกอบโกยผลประโยชน์หรือการทำกำไรทางธุรกิจร่วมกันกับต่างชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตาจากผลของทุนและเทคโนโลยีการขุดเจาะ สกัดและย่อยแร่ขนาดใหญ่โตมโหฬารจนก่อความเสียหาย เสื่อมโทรมหรือผลกระทบต่อธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรงจนยากที่จะฟื้นฟูเยียวยาได้ ‘ประชาชนต้องมาก่อนผลกำไร’ ยังเป็นคำที่เลื่อนลอยในธุรกิจเหมืองแร่ !

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม