จากการเมืองเรื่องแคดเมียม รัฐอุ้มผาแดง สู่การเมืองเรื่องอ้อยเอทานอล รัฐอุ้มแม่สอดพลังงานสะอาด

1772 18 Oct 2012

ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมยังคงรอวันตาย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ลุ่มน้ำแม่ตาวและลุ่มน้ำแม่กุตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นแหล่งรับน้ำจากบริเวณเทือกเขาด้านตะวันออกที่อุดมด้วยแร่สังกะสีและแคดเมี่ยมที่เกิดร่วมสายแร่ ซึ่งมีกิจกรรมทำเหมืองแร่สังกะสีบริเวณเทือกเขาดังกล่าวด้วย เมื่อฝนตกบริเวณต้นน้ำแล้วไหลลงในพื้นที่ราบลุ่มตอนล่างจึงทำให้เกิดการสะสมปริมาณสารแคดเมี่ยมในตะกอนท้องน้ำเป็นจำนวนมาก โดยปกติลุ่มน้ำทั้งสองมักมีน้ำหลากท่วมล้นตลิ่งในฤดูฝนเข้าพื้นที่นาข้าวและพื้นที่การเกษตรอื่นอยู่เป็นประจำเกือบทุกปี รวมทั้งการปล่อยน้ำเข้าสู่นาข้าวและแปลงเกษตรอื่นในฤดูทำการผลิตด้วยแล้วจึงทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมแพร่กระจายขยายตัวเป็นบริเวณกว้างเข้าไปในระบบนิเวศของลุ่มน้ำ โดยเฉพาะพบการปนเปื้อนในดินและข้าวเป็นส่วนใหญ่ ในระดับพิสัยเดียวกับข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคอิไต-อิไต ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน ในปี ๒๕๔๗ เป็นช่วงเวลาที่เกิดการตื่นกลัวกันมาก เพราะมีข้อมูลเปิดเผยออกมาจากสถาบันการจัดการน้ำระหว่างประเทศ (International Water Management Institute-IWMI) ว่า จากการตรวจวัดระดับสารแคดเมี่ยมในดินและข้าวบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างปี ๒๕๔๑ – ๒๕๔๖ ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ ช่วง คือช่วงแรกปี ๒๕๔๑ – ๒๕๔๓ ศึกษาแปลงนาบริเวณหมู่บ้านในเขต ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งแร่สังกะสี พบว่ามีปริมาณสารแคดเมี่ยมในดิน ๑๕๔ ตัวอย่าง สูงกว่าค่ามาตรฐานของ EU ถึง ๑,๘๐๐ เท่า และพบว่าร้อยละ ๙๕ ของเมล็ดข้าวที่สุ่มตัวอย่าง มีแคดเมี่ยมปนเปื้อนในปริมาณที่มากกว่าค่าที่พบในข้าวที่ปลูกในประเทศไทยบริเวณอื่น สูงที่สุดถึง ๑๐๐ เท่า ช่วงที่สองระหว่างปี ๒๕๔๔ – ๒๕๔๖ ได้ขยายพื้นที่ศึกษาจากช่วงแรกมาตามลำห้วยแม่ตาวในบริเวณ ต.แม่ตาว อ.แม่สอด ซึ่งเป็นบริเวณท้ายน้ำจากบริเวณพื้นที่การศึกษาช่วงแรก และพบว่าปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมี่ยมในดินมีค่าสูงถึง ๗๒ เท่าของค่ามาตรฐาน EU ขณะที่กว่าร้อยละ ๘๐ ของตัวอย่างข้าวมีค่าของแคดเมี่ยมสูงกว่าค่ามาตรฐานของญี่ปุ่นและองค์การอาหารและเกษตร(FAO) ซึ่งปริมาณสารแคดเมี่ยมที่พบนี้มีค่าในพิสัยเดียวกับข้าวที่ก่อให้เกิดโรคอิไต-อิไต ในประเทศญี่ปุ่น หากบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน ความตื่นกลัวในช่วงเวลานั้นเป็นเหตุให้รัฐบาลมีมติ ครม. ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่หลายฉบับ เริ่มตั้งแต่ ๑) มติ ครม. เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ตรวจสอบข้าวที่ปลูกในพื้นที่ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด ว่ามีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมหรือไม่ อย่างไร ๒) มติ ครม. เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เห็นชอบแผนงานระยะสั้นในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว จังหวัดตาก และอนุมัติวงเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานตามแผนงานฯ จำนวน ๙๒,๑๓๕,๖๐๐ บาท โดยให้จังหวัดตากจัดทำรายละเอียดโครงการ และประมาณการค่าใช้จ่ายผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ โดยใช้เงินส่วนหนึ่งจากงบประมาณก้อนนี้ไปชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน ๘๖๒ ราย ในพื้นที่ ๓ ตำบล คือ ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ รวม ๑๒ หมู่บ้าน รวมพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ ๑๓,๒๓๗ ไร่ ในอัตราไร่ละ ๓,๗๐๐ บาท ให้เกี่ยวข้าวหรือตัดทำลายทิ้งให้หมด เพื่อควบคุมข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมไม่ให้จำหน่ายออกสู่ตลาดเพื่อมิให้ผู้บริโภคข้าวในตลาดต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทย ๓) มติ ครม. เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๘ ยังคงเกิดเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้ว รัฐบาลจึงเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ คือ เห็นชอบแผนงานการจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรที่ต้องงดปลูกข้าวและพืชอาหารในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด และอนุมัติเงินงบกลางปี ๒๕๔๘ ผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน ๕๖,๗๑๑,๙๔๗ บาท เพื่อให้จังหวัดตากนำไปจ่ายชดเชยให้แก่เกษตรกรจำนวน ๙๐๓ ราย ที่ต้องงดปลูกข้าวและพืชอาหารในพื้นที่ ๑๓,๔๓๙ ไร่ ในอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็นไร่ละ ๔,๒๒๐ บาทต่อไร่ และมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อฟื้นฟูสภาพดินในบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากที่ดินในการประกอบอาชีพในบริเวณดังกล่าวตามความเหมาะสม ๔) มติคณะปฏิรูปการปกครองในระบอลประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙ ให้ความเห็นชอบในหลักการของแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๑ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๙ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน ๕๗,๗๓๐,๐๖๐ บาท เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพของเกษตรกร โดยใช้งบประมาณก้อนนี้เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพของเกษตรกร จำนวน ๘๓๕ ราย พื้นที่ ๑๓,๒๐๕ ไร่ ในอัตราไร่ละ ๔,๒๒๐ บาท ตามอัตราที่เคยช่วยเหลือในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นจำนวน ๕๕,๗๒๕,๑๐๐ บาท ส่วนงบประมาณที่เหลืออีกนิดหน่อยนำไปใช้ในการบริหารจัดการศูนย์อำนวยการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาวระดับจังหวัดและอำเภอ พร้อมกับการวางแผนระยะยาวด้วยการให้เกษตรกรหันไปปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนข้าวในพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนแคดเมียมจำนวน ๑๓,๒๓๗ ไร่ เพื่อหวังที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรจากการปลูกพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงาน โดยอนุมัติให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๙ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน ๑๑,๕๑๑,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล กล่าวโดยสรุปในช่วงปี ๒๕๔๗ – ๒๕๔๙ รัฐใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรไปแล้วเป็นจำนวนเงินประมาณ ๒๑๘,๐๘๘,๖๐๗ บาท เป็นการใช้เงินภาษีประชาชนเพื่ออุ้มบริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทผาแดง ทั้ง ๆ ที่ข้อถกเถียงในเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัทผาแดงต่อการเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจากการทำเหมืองแร่สังกะสีบนพื้นที่ต้นน้ำแม่ตาวและแม่กุยังไม่สามารถคลี่คลายให้กระจ่างชัดได้ งานศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ต่อกรณีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุได้สรุปสาเหตุและแหล่งที่มาของการปนเปื้อนแคดเมียมไว้ ๓ ประการกว้าง ๆ คือ ๑. กระบวนการตามธรรมชาติ เกิดจากกระบวนการผุพังสลายตัวตามธรรมชาติของพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งศักยภาพแร่สังกะสีพัดพาเอาตะกอนดินและหินจากเทือกเขาแหล่งแร่สังกะสีที่มีแคดเมี่ยมเกิดร่วมอยู่ด้วย ลงมาทับถมสะสมตัวในที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตั้งแต่อดีตกาล ๑.๘ ล้านปี ล่วงมาจนถึงปัจจุบัน ๒. จากการทำเหมืองแร่สังกะสี โดยเหมืองอาจปล่อยน้ำทิ้งและตะกอนที่มีการปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานและการชะล้างพัดพาตะกอนจากการเปิดพื้นที่ทำเหมือง ๓. การบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดการชะล้างพัดพาตะกอนดิน การทดหรือสูบน้ำจากห้วยแม่ตาวและห้วยแม่กุเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ซึ่งทำให้ตะกอนธารน้ำที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมไหลจากแปลงนาที่สูงกว่าสู่แปลงนาที่ต่ำกว่า และการใช้ยาปราบศัตรูพืชเพื่อเพิ่มผลผลิต แท้จริงแล้วการทำเหมืองแร่สังกะสีบนพื้นที่ต้นน้ำห้วยแม่ตาวที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับต้นน้ำห้วยแม่กุซึ่งรองรับน้ำล้นจากการทำเหมืองแร่และแต่งแร่มีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยต่อการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในดินและข้าวของเกษตรกรในที่ลุ่ม แต่กลับไม่มีการพิสูจน์ให้ชัดเจนลงไปว่าการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมจากสาเหตุใดมีปริมาณมากน้อยต่างกันเพียงใด และแต่ละสาเหตุควรจะมีส่วนรับผิดชอบแก้ไขปัญหามากน้อยต่างกันอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในแต่ละสาเหตุได้อย่างไร เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ เพื่อขอมติเห็นชอบให้ตรวจสอบข้าวที่ปลูกในพื้นที่ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด ว่ามีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อที่ประชุม ครม. มีรายละเอียดว่า “ตามที่มีข่าวว่าข้าวที่ปลูกในท้องที่บ้านพะเด๊ะ และหมู่บ้านแม่ตาวใหม่ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย เป็นผลเนื่องมาจากการดำเนินกิจการเหมืองของบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ตากไมร์นิ่ง จำกัด นั้น ได้ทราบว่าบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) พร้อมที่จะให้ความร่วมมือแก่ทางราชการอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่ามีสารแคดเมี่ยมปนเปื้อนอยู่ในดินหรือไม่ หรือสารดังกล่าวมีอยู่เองในบริเวณนั้นตามธรรมชาติ หรือเป็นการแพร่กระจายมาจากการดำเนินกิจการเหมืองของบริษัทฯ ซึ่งหากตรวจพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากความบกพร่องของบริษัทฯ บริษัทฯ จะรับผิดชอบต่อความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ทางราชการจะต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป อนึ่ง ข้าวที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่ดังกล่าว หากพบว่ามีสารปนเปื้อนจริง ก็จะต้องดำเนินการควบคุมดูแล มิให้มีการจำหน่ายออกสู่ตลาด เพราะจะทำให้ผู้บริโภคข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศที่เป็นลูกค้าของไทยเกิดความหวาดระแวงและขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของข้าวไทยได้” ข้อเสนอดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเห็นได้ชัดถึงท่าทีที่แข็งกร้าวของบริษัทผาแดงและพฤติกรรมของรัฐ เพราะตามความเป็นจริงแล้วจะกล่าวโทษบริษัทผาแดงฝ่ายเดียวที่ไม่แสดงความจริงใจหรือความมีจิตสำนึกต่ำต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก แต่เป็นเพราะรัฐเองที่ทำให้เคลือบแคลงสงสัยว่าระหว่างภาระในการพิสูจน์ทราบถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าแหล่งที่มาของการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมจากการทำเหมืองแร่สังกะสีของบริษัทผาแดงมีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรมากน้อยเพียงใด กับความพยายามในการสกัดกั้นข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมไม่ให้มีการจำหน่ายออกสู่ตลาด รัฐให้ความสำคัญต่อเรื่องใดมากกว่ากัน เพราะรัฐได้ปล่อยให้วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงให้สังคมรับทราบเพื่อคลายความกังวลสงสัยได้เลย ที่ทำสำเร็จอยู่เรื่องเดียวคือการสกัดกั้นมิให้ข้าวที่ปลูกได้จากพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุออกจำหน่ายในท้องตลาด หลังจากมติของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙ รัฐก็ได้หยุดชดเชยช่วยเหลือเป็นเงินต่อไร่แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวในลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุ ทั้ง ๆ ที่ข้าวในพื้นที่นั้นยังมีการปลูกอยู่ และเป็นข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องเพราะความเขี้ยวลากดินของรัฐ โดยสำนักงบประมาณมีข้อเสนอว่า การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงการปรับเปลี่ยนอาชีพ เห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๙ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน ๕๕,๗๒๕,๑๐๐ บาท เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพของเกษตรกร จำนวน ๘๓๕ ราย พื้นที่ ๑๓,๒๐๕ ไร่ ในอัตราไร่ละ ๔,๒๒๐ บาท ตามอัตราที่เคยช่วยเหลือในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ โดยเห็นสมควรให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นปีสุดท้าย เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๗ และปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น ๑๑๗,๘๗๙,๖๒๒ บาท และขณะนี้เกษตรกรจะเริ่มมีรายได้จากการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอื่นทดแทนแล้ว ทั้ง ๆ ที่รัฐเพิ่มเริ่มต้นแผนงานการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนการปลูกข้าวเพื่อบริโภค เพื่อต้องการตัดห่วงโซ่อาหาร ยังไม่เห็นรูปธรรมของแผนงานแต่อย่างใดเลย แต่เป็นการคาดการณ์ของสำนักงบประมาณเองว่าในปี ๒๕๕๐ เกษตรกรในพื้นที่นั้นจะมีรายได้จากการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนการปลูกข้าวแล้ว และความเป็นจริงที่ปรากฎให้เห็นก็สวนทางกับทัศนคติและการคาดการณ์ของสำนักงบประมาณ นั่นคือปัจจุบันมีชาวบ้านปลูกอ้อยอยู่เพียง ๕,๐๐๐ กว่าไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมเท่านั้น เนื่องจากเกิดปัญหาขาดทุนและเป็นหนี้สินจนทำให้ชาวบ้านต้องล้มเลิกการปลูกอ้อยลงไปหลายราย สาเหตุก็เพราะไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและผู้ประกอบการเหมืองแร่อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับผลผลิตอ้อยจากพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในอำเภอแม่สอดเป็นหลักกลับไปทำการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอพบพระและแม่ระมาด จังหวัดตาก แทนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อหวังจะให้ได้พื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด ๘๐,๐๐๐ ไร่ เพียงพอต่อปริมาณสำรองอ้อยเพื่อป้อนกำลังการผลิตเอทานอลที่วางเป้าหมายไว้ และมีความมั่นคงกว่าพื้นที่เป้าหมายที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในเขตอำเภอแม่สอดที่หน่วยงานราชการและบริษัทผาแดงขาดความมุ่งมั่นส่งเสริมการปลูกอ้อยผลิตเอทานอลอย่างจริงจัง มติ ครม. ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ มุ่งชดเชยราคาอ้อยผลิตเอทานอลในเขตพื้นที่ส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด แต่อยู่นอกเขตพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม กระทรวงมหาดไทยได้ยกเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเสนอเรื่องขอรับการสนับสนุนเงินชดเชยพิเศษให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล จังหวัดตาก มาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้ ๑) ปัญหาการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ในปี ๒๕๕๕ บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการ รวม ๕๐๐ ล้านบาท โดยรับซื้ออ้อยในราคา ๙๕๐ บาทต่อตัน ในขณะที่โรงงานน้ำตาลประกาศรับซื้อราคาตันละ ๑,๐๐๐ บาท และได้เงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำตาลเพิ่มอีก ๑๕๔ บาท รวม ๑,๑๕๔ บาทต่อตัน รวมค่าความหวานอีก ๒๐๔ บาท ๒) แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาวได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ให้บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด รับซื้ออ้อยในราคาประกันตามประกาศเท่ากับราคาอ้อยที่ผลิตน้ำตาล + ๒๐๐ บาท เพื่อทดแทนค่าความหวาน ค่าเงินกองทุนและเงินปันผล ๓) บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ได้ขาดทุนสะสมมากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท จึงไม่สามารถให้ราคารับซื้ออ้อยเท่ากับราคาของโรงงานน้ำตาลได้ โดยเกษตรกรที่ปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอแม่ระมาดและอำเภอพบพระ จังหวัดตาก รับทราบว่าภาครัฐส่งเสริมการปลูกอ้อย แต่ไม่รู้ว่าอ้อยปลูกอยู่ในเขตหรือนอกเขตพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม แต่รับรู้ว่าเมื่อปลูกอ้อยจะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มจากราคาประกันของโรงงานอีก ๒๐๐ บาท เป็นมาตรฐานเดียวกันกับอ้อยที่นำไปผลิตน้ำตาลทราย โดยมีข้อเสนอแก่คณะรัฐมนตรี ๓ ข้อ คือ ๑. รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว และการดำเนินงานตามแผนบูรณาการงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๗ ๒. อนุมัติเงินงบกลางประจำปี ๒๕๕๕ จำนวน ๗๘,๖๔๓,๔๐๖ บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลของจังหวัดตาก ๓. มอบให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพิจารณาแนวทางสนับสนุนเงินชดเชย ในรูปชดเชยเป็นเงินต่อการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทานอล) ต่อลิตร ผ่านบริษัท ปตท. ให้แก่บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด เพื่อให้บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด สามารถรับซื้ออ้อยได้ในราคาทัดเทียมกับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยส่งโรงงานผลิตน้ำตาล โดยเงินชดเชยจะพิจารณาปีต่อปี ราคาการชดเชยจะขึ้นกับราคาอ้อยที่เกษตรกรขายให้กับโรงงานผลิตน้ำตาล แต่ได้มีข้อท้วงติงจากส่วนราชการหลายหน่วยงาน อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เสนอว่าควรสนับสนุนเงินชดเชยพิเศษให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลของจังหวัดตาก ในปี ๒๕๕๔/๒๕๕๕ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ซึ่งผลผลิตอ้อยจำนวนดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อการนำไปบริโภคและเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร จึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้เข้าสู่กระบวนการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม เพื่อตัดห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม ทั้งนี้ ควรมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรอย่างรัดกุมก่อนดำเนินการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวด้วย สำหรับผลผลิตของเกษตรกรที่อยู่นอกเขตพื้นที่โครงการมีคุณภาพที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอาหารได้ จึงมีทางเลือกที่จะนำผลผลิตดังกล่าวจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตน้ำตาลในจังหวัดใกล้เคียงได้ ณ ระดับราคาตลาด โดยควรดำเนินการให้เป็นไปตามกลไกตลาดรับซื้อผลผลิตในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่นอกเขตมีทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิต และมีรายได้เพียงพอจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าสภาพัฒน์เสนอให้รัฐรับซื้ออ้อยที่ปลูกอยู่ในเขตพื้นที่โครงการเป็นหลัก สำนักงบประมาณแย้งว่า การจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลของจังหวัดตาก ในระยะแรก เห็นสมควรให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าว ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย (Polluter pays principle) ในส่วนของกระทรวงการคลังเสนอว่า ปัญหาราคาอ้อยที่แตกต่างจากราคาอ้อยที่โรงงานผลิตน้ำตาลรับซื้อเป็นเรื่องการบริหารจัดการของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ผลิตเอทานอลในเชิงพาณิชย์ จึงไม่เห็นควรสนับสนุนการจ่ายค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว เนื่องจากอาจเกิดการเรียกร้องจากภาคเอกชนอื่นที่มีปัญหาการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในลักษณะเดียวกันได้ ประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธานกรรมการ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในคราวประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ มีใจความสำคัญข้อหนึ่งว่า การดำเนินโครงการเหมืองแร่สังกะสีของบริษัทผาแดงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในลำน้ำภายในบริเวณห้วยแม่ตาว และมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบและต้องปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเป็นพืชที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งโดยหลักการ Polluter pays principle นั้น ผู้ปล่อยมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ดังนั้น บริษัทผาแดงจึงควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อชุมชนรวมถึงการจ่ายชดเชยราคาผลผลิตอ้อยในครั้งนี้ด้วย จึงจะสอดคล้องกับหลักการดังกล่าวข้างต้น ในท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีจึงลงมติเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ อนุมัติตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี คือ ให้ดำเนินการอนุมัติเงินงบกลางประจำปี ๒๕๕๕ จำนวน ๗๘,๖๔๓,๔๐๖ บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลของจังหวัดตาก ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ อีก ๓ ข้อ ดังนี้ ๑. รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว และการดำเนินงานตามแผนบูรณาการงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๗ และมอบหมายคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมที่เหมาะสม พิจารณาปรับปรุงยุทธศาสตร์และแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการเวนคืนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในแต่ละระดับความเข้มข้นของสารแคดเมียม โดยให้นำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา ภายใน ๓ เดือน ๒. มอบหมายกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พิจารณาหาแนวทางการชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่โครงการฯ ภายใต้ขอบเขตที่กองทุนน้ำมันฯ สามารถดำเนินการได้ โดยอ้างอิงการคำนวณเช่นเดียวกับมันสำปะหลังซึ่งนำไปผลิตเป็นเอทานอล พร้อมระบุหน่วยงานและสัดส่วนงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานต้องรับผิดชอบในการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา ภายใน ๒ สัปดาห์ ๓. ให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียมในลุ่มน้ำแม่ตาว จังหวัดตากอย่างยั่งยืนต่อไป ในปี ๒๕๕๔/๒๕๕๕ ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ ข้อมูล ในเขตพื้นที่โครงการ* นอกเขตพื้นที่โครงการ** รวม จำนวนชาวไร่อ้อย ๓๑๒ ราย ๗๖๐ ราย ๑,๐๗๒ ราย พื้นที่ปลูก ๙,๔๗๐.๔๑ ไร่*** ๓๗,๑๕๙.๙๔ ไร่ ๔๖,๖๒๙.๓๕ ไร่ ปริมาณอ้อยปี ๒๕๕๔/๒๕๕๕ ๘๓,๘๖๒.๓๗๐ ตัน ๓๐๙,๓๕๔.๖๖๐ ตัน ๓๙๓,๒๑๗.๐๓ ตัน จำนวนเงินชดเชยรวม ๑๖,๗๗๒,๔๗๓ บาท ๖๑,๘๗๐,๙๓๓ บาท ๗๘,๖๔๓,๔๐๖ บาท จากตาราง ในเครื่องหมาย * และ ** มีข้อสงสัยว่าทำไมถึงเอาตัวเลขเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยนอกเขตพื้นที่โครงการที่ไม่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมมาใส่ไว้ในตารางนี้เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีจ่ายเงินชดเชยการปลูกอ้อยผลิตเอทานอลด้วย ซึ่งถ้าหากเป็นพื้นที่นอกเขตพื้นที่โครงการฯ ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม และเป็นอ้อยที่มีคุณภาพที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายได้ ซึ่งก็จะได้ราคาขายดีกว่าอ้อยผลิตเอทานอลอยู่แล้ว คือที่ราคาตันละ ๑,๐๐๐ บาท บวกเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำตาลอีก ๑๕๔ ต่อตัน และบวกค่าความหวานอีก ๒๐๔ บาท ข้อสังเกตของผู้เขียนน่าจะมีอยู่เหตุผลเดียวเท่านั้น ก็คือ ถึงแม้จะอยู่นอกเขตพื้นที่โครงการฯ แต่เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ซึ่งบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดอ้างว่าตนเองขาดทุนสะสมมากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท หน่วยงานราชการจึงนำเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ส่งเสริมฯ มาสอดแทรกขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมแต่อย่างใด และในเครื่องหมาย *** น่าจะเป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก เพราะจากการสอบถามข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในเขต ๓ ตำบล คือ ตำบลพระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ พบว่ามีการรื้อถอนปรับสภาพพื้นที่การปลูกอ้อยผลิตเอทานอลกลับไปปลูกข้าวเพื่อบริโภคจำนวนมาก เนื่องจากปัญหาหนี้สินและไม่ได้การสนับสนุนด้วยดีจากรัฐและเอกชน ขณะนี้คาดว่ามีพื้นที่ที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลตามการส่งเสริมของรัฐและเอกชนอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๔๐ จากพื้นที่ที่ประสบปัญหาปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ประมาณ ๑๓,๐๐๐ กว่าไร่ ในเขตท้องที่ ๓ ตำบล ดังกล่าว ประเด็นสำคัญ ก็คือการที่รัฐอุ้มบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนเช่นนี้ เป็นการให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดที่อยู่นอกเขตพื้นที่โครงการที่ไม่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมมากกว่าในเขตพื้นที่โครงการที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่การเกิดขึ้นของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดเป็นนโยบายของรัฐร่วมกับเอกชนเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมเป็นหลัก โดยส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลแทนการปลูกข้าวเพื่อบริโภคเพื่อตัดห่วงโซ่อาหาร แต่เมื่อพัฒนาบริษัทไปได้สักระยะหนึ่งกลับกลายเป็นว่าบริษัทก็ต้องการเงินช่วยเหลือจากมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยนำอ้อยมาผลิตเอทานอลเพื่อเป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จากรัฐอย่างเต็มตัว หรืออาจจะด้วยเหตุผลว่าบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดคือการร่วมทุนกันของบริษัทผาแดง กลุ่มน้ำตาลมิตรผลและบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนการถือหุ้นใกล้เคียงกัน ซึ่งจะให้กลุ่มน้ำตาลมิตรผลและบริษัทไทยออยล์มาแบกรับภาระความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่บริษัทผาแดงก่อไว้นั้น เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมในแง่การลงทุนทางธุรกิจ แต่กลุ่มน้ำตาลมิตรผลและบริษัทไทยออยล์ก็รับรู้ข้อเท็จจริงนี้มาตั้งแต่ก่อนการร่วมทุนอยู่แล้วว่าการจัดตั้งบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดขึ้นมาเพื่อมีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมเป็นหลัก แต่การณ์กลับกลายเป็นภาวะผิดฝาผิดตัว เพราะแทนที่จะยังคงมุ่งเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียมอยู่เช่นเดิม กลับมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปัญหา คือ การที่รัฐต้องใช้งบประมาณเพื่ออุ้มบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดด้วยการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเอทานอลในเขตส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดแทน ดังนั้น แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวที่เกิดขึ้นมาจึงไม่ได้เป็นแผนแม่บทที่มุ่งเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมและรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยมมากนัก แต่กลับทุ่มน้ำหนักมาที่การแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในเขตส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดไปเสีย แผนผัง ผู้ถือหุ้นในบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ข้อสังเกตของผู้เขียน – ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของผู้ถือหุ้นในบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด จากแผนผังฯ ดังกล่าว น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มติ ครม. เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ แสดงเจตนาอุ้มบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรปลูกอ้อยผลิตเอทานอล เป็นจำนวนเงิน ๗๘,๖๔๓,๔๐๖ บาท ทั้ง ๆ ที่ปัญหาราคาอ้อยที่แตกต่างจากราคาอ้อยที่โรงงานผลิตน้ำตาลรับซื้อเป็นเรื่องการบริหารจัดการของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ผลิตเอทานอลในเชิงพาณิชย์ ที่รัฐบาลไม่ควรออกมติ ครม. สนับสนุนการจ่ายค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว เนื่องจากอาจเกิดการเรียกร้องภาคเอกชนอื่นที่มีปัญหาทำนองเดียวกันได้ และรัฐบาลอาจถูกกล่าวหาได้ว่าเลือกปฏิบัติเฉพาะภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเท่านั้น มติ ครม. ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ เสนอประเด็นใหม่ให้มีการเวนคืนที่ดินในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ดูเหมือนว่าปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในลุ่มน้ำแม่ตาวจะสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแคดเมี่ยมที่ปนเปื้อนในเมล็ดข้าว และแทรกซึมอยู่ในผืนดินขนาดใหญ่มากกว่า ๑๐,๐๐๐ ไร่ ในระดับความเข้มข้นที่เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำและสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยมและผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเพิ่มสูงขึ้น ที่ยากจะแก้ไขได้ในระยะสั้น และอีกหนึ่งปัญหาใหม่ คือ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกอ้อยผลิตเอทานอลในพื้นที่ส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดที่ได้ราคาต่ำกว่าการปลูกอ้อยผลิตน้ำตาล รวมทั้งตัวแปรสำคัญ คือ การฟ้องคดีของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ซึ่งเกิดการรวมตัวกันของชาวบ้านใน ๓ ตำบลของพระธาตุผาแดง แม่ตาวและแม่กุ อำเภอแม่สอด ยื่นฟ้องบริษัททำเหมืองแร่สังกะสี ๒ บริษัทบนลุ่มน้ำแม่ตาวต่อศาลปกครอง (โดยตัวแทนชาวบ้าน ๓๒ ราย) เพื่อให้มีคำสั่งบังคับ ๖ หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน คณะกรรมการควบคุมมลพิษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเก

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม