1456 25 Sep 2012
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ Shukur2003@yahoo.co.uk ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน สื่อต่างๆ มีการเชื่อมโยงเหตุระเบิด ที่เทศบาลตะลุบัน อำเภอสายบุรี กับใบปลิว ให้ประชาชนหยุดทำงานวันศุกร์ โดยอาจมีการตีความว่าวันศุกร์เป็นวันที่มุสลิมจะต้องไปละหมาดวันศุกร์ หากใครไม่ปฏิบัติจะถูกข่มขู่เรื่องความปลอดภัย จริงอยู่การละหมาดวันศุกร์เป็นหน้าที่มุสลิมทุกคน(เฉพาะผู้ชาย) จะต้องละหมาดที่มัสยิดของชุมชน (อยู่ระหว่างเวลาประมาณ 12.15-13.15) ไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพใด และกระทำสิ่งใดนอกจากศาสนกิจดังกล่าวด้วยความตั้งใจ และจิตใจที่บริสุทธิ์เท่านั้น อันเนื่องมาจาก อัลลอฮฺได้ดำรัสในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อได้ยินเสียงเชิญชวนการทำละหมาดวันศุกร์ (อะซาน) ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั้นเป็นการดีสำหรับพวก" (อัลกุรอาน 62 : 9) ในโองการนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเมื่อถึงเวลาละหมาดวันศุกร์ทุกคนจะต้องละทิ้งทุกกิจกรรม แต่จะต้องไปประกอบศาสนกิจทันที เพราะการประกอบศาสนกิจดังกล่าวดีกว่าทุกกิจกรรม ในโองการต่อจากนี้มีภูมิหลังการประทานโองการของพระเจ้าต่อศาสนฑูตมุฮัมมัดว่า ในขณะที่ท่านศาสนฑูตกำลังให้ธรรมเทศนาก่อนละหมาดนั้น จู่ๆ มีกองคาราวานสินค้าบรรทุกเครื่องบริโภค ของชายผู้หนึ่งผู้มีนามว่า ดะฮียะฮฺ อัลกัลบีย์ มาจากประเทศซีเรีย กอปรกับชาวเมืองมะดีนะฮฺขณะนั้นประสบความหิวโหย และเครื่องบริโภคมีราคาแพง ทำให้ชาวเมืองที่กำลังฟังธรรมเทศนาได้วิ่งกรูไปที่คาราวานสินค้าด้วยความเคยชินเหมือนวันปกติ ปล่อยท่านศาสนฑูตแสดงธรรมเทศนาและเหลือผู้ร่วมฟังเพียง 12 คน ดังนั้น อัลลอฮฺจึงประทานโองการนี้ เพื่อตักเตือนอัครสาวกศาสดาต่อพฤติกรรมหลงผิดดังกล่าว และเปรียบเทียบ การละหมาดและระลึกถึงพระองค์นั้นดีกว่าการละเล่นและการค้า เพราะพระองค์นั้นเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพที่แท้จริง เพราะอัลลอ์ได้โองการความว่า “และเมื่อพวกเขาได้เห็นการค้าขายและการละเล่น พวกเขาก็กรูกันไปที่นั้นและปล่อยเจ้า(ศาสนฑูตมุฮัมมัด) ยืนอยู่คนเดียว จงกล่าวเถิด โอ้ศาสนฑูตมุฮัมมัด สิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นดีกว่าการละเล่นและการค้าและอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นเลิศในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ” (อัลกุรอาน 62 : 11) โปรดดู al-Zuhaili, Wahbah, 1991 : al-Tafsir al-Munir, Berut : Dar alfikr al-Muasorah, 22/195/196 แต่เมื่อเสร็จการปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวทุกคนมีสิทธิที่จะออกไปประกอบอาชีพที่สุจริตเพราะอัลลอฮ์ได้โองการต่อจากโองการที่ผ่านมาว่า “ ต่อเมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดแล้วก็จงแยกย้ายกันตามแผ่นดินและจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺและจงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆเพื่อพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อัลกุรอาน 62 : 10) ไม่เพียงเท่านั้นมุสลิมจะต้องละหมาดทุกวัน วันละ 5 เวลา(ประมาณเวลาละ 5-10 นาที ณ ที่ใดก็ได้) เพราะฉะนั้น การปฏิบัติศาสนกิจจึงมิได้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ เพียงแต่ในวันศุกร์มุสลิมจะต้องใช้เวลามากหน่อย ในการประกอบศาสนกิจ และจะต้องทำที่มัสยิดของชุมชนเท่านั้น ดังนั้น เราจะเห็นว่า ในชุมชนมุสลิม โดยเฉพาะมัสยิดกลางปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เต็มไปด้วยข้าราชการ นักธุรกิจ ชาวบ้าน และคนทุกสาขาอาชีพไปร่วมละหมาด แต่ที่เป็นปัญหาสักหน่อยคือ ข้าราชการมุสลิมเขาต้องรีบออกจากที่ทำงานเพื่อประกอบศาสนกิจก่อนเวลา 12.00 น. และรีบออกจากมัสยิดให้ทันที่ทำงานก่อนเวลา 13.00 น. ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับข้าราชการมุสลิม ที่จะสามารถทำงานเต็มเวลา (08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. เพราะการละหมาดวันศุกร์ 12.15-13.15 น.) ดังนั้นหากเป็นไปได้การหยุดราชการในวันศุกร์น่าจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตข้าราชการมุสลิมหรือการไปติดต่อราชการวันศุกร์ของชาวบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ การหยุดราชการวันศุกร์จึงเป็นเพียงทางออกหนึ่งในชุมชนมุสลิมเท่านั้น ในการแก้ปัญหาการประกอบศาสนกิจ แต่อีกหลายปัญหาที่เป็นเชิงระบบในการบริหารแผ่นดินทั่วประเทศที่มีความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายของคน จังหวัดชายแดนภาคใต้กับทั่วประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องผ่านกระบวนชูรอ (ประชุมปรึกษาแบบมีส่วนร่วมตามทัศนะอิสลาม) และการประชุม ปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างได้เป็นอย่างดี ท้ายนี้ผู้เขียนขอประณามการระเบิดที่เทศบาลตะลุบันครั้งนี้และขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อทุกครอบครัวของผู้สูญเสีย และผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและทางจิตใจจากเหตุการณ์นี้และทุกเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมาที่ขาดซึ่งมนุษยธรรมทั้งจากภาครัฐหรือทุกกลุ่มที่ปฏิบัติการ และขอเรียกร้องให้ผู้ก่อเหตุได้หยุดคิดพิจารณาถึงผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ที่นำมาสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและร่างกาย ตลอดถึงทรัพย์สิน ขณะเดียวกันผู้เขียน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอำนาจการปกครองที่สอดคล้องกับคนพื้นที่ บริหารความรู้สึกอธรรมด้วยกระบวนการทางยุติธรรมที่โปร่งใส และแสวงหาทางออกทางการเมืองโดยการสร้างกระบวนการในการเปิดพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม