ทั้งนี้ กพร. มีความเห็นว่าให้ชะลอการจัดเวทีอีเอชไอเอในครั้งนี้ไว้ก่อน สืบเนื่องจากคณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ตามคำสั่งแต่งตั้งของอธิบดีกพร.ได้ประชุม เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา และมีข้อสรุปร่วมกันว่า ขอให้บริษัท ยุติการจัดเวที เพราะเป็นห่วงถึงความขัดแย้งรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และขณะนี้คณะกรรมการกำลังอยู่ในระหว่างการวางแนวทางในการดำเนินการเพื่อจะ ศึกษาตรวจสอบการขอประทานบัตร และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการศึกษาอีเอชไอเอ ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย จึงควรต้องยุติ เพื่อรอผลการศึกษาและตรวจสอบของคณะกรรมการให้แล้วเสร็จเสียก่อน
“กพร. พิจารณาเห็นแล้วว่าหากมีเวทีเกิดขึ้นจะทำให้เกิดความแตกแยกแบ่งชาวบ้านเป็น สองฝักสองฝ่ายทั้งคัดค้านและสนับสนุน จนนำสู่การเกิดความรุนแรงในพื้นที่ตามมาได้ จึงได้ส่งหนังสือถึง บริษัทเอพีพีซี ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว เพื่อขอความร่วมมือชะลอการจัดเวทีในครั้งนี้ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในพื้นที่ ในระหว่างที่คณะกรรมการกำลังศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องโครงการเหมือง แร่โปแตช จ.อุดรธานี” เนื้อหาในหนังสือระบุสาระสำคัญ
ทว่า นายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ประสานงานว่า หลังจาก กพร.ได้ส่งหนังสือฉบับนี้ถึงบริษัทเอพีพีซีแล้ว ทางบริษัทเองก็ยังคงยืนกรานที่จะจัดเวทีขึ้นในวันที่ 24 พ.ค. 2555 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวในพื้นที่รายงานเพิ่มเติม ว่า ที่บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้มีการประชุมหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวต่อเวทีดังกล่าว
โดยนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ เตรียมพร้อมจะเดินทางไปที่โรงแรมบ้านเชียงในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) เพื่อสร้างความเข้าใจแก่คนเมืองอุดรฯ และผู้มาเข้าร่วมเวที เนื่องจากว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ ไม่ได้เข้าข่ายโครงการรุนแรง ซึ่งบริษัทฯ ไม่ต้องทำรายงานอีเอชไอเอตามกฎหมาย แต่บริษัทฯ กำลังจะสร้างภาพหลอกลวง ให้คนมาร่วมรับรองรายงานดังกล่าว
“วันนี้เห็นชัดแล้วว่าผู้ที่ ไม่ยอมเดินตามกระบวนการคือบริษัทฯ ไม่ใช่ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการกำลังร่วมกันศึกษา อีกทั้ง กพร.และผู้ว่าฯ ก็ทำหนังสือแจ้งไปแล้ว แต่ก็ไม่ยอมฟัง โดยเขาได้เตรียมการจ้างคนเอาไว้แล้วหัวละ 300 บาท เพื่อเข้าร่วมประชุมรับรองรายงาน และคอยปะทะกลุ่มอนุรักษ์ฯ” นางมณีกล่าว
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวว่า เวทีในครั้งนี้ขาดความชอบธรรมทางกฎหมายในการที่จะจัดขึ้น ไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากเวทีในครั้งนี้ไม่อยู่ในขั้นตอนของโครงการศึกษาตามกฎหมายโครงการ รุนแรง ในส่วนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 แต่สิ่งที่ บริษัทเอพีพีซี อยากให้มีเวทีในครั้งนี้เนื่องจากต้องการสร้างภาพการขยับโครงการพื้นที่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชอยู่แล้ว
“สิ่งที่เราสงสัยคือเวทีนี้ จัดทำไม จัดเพื่ออะไร ทั้งที่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าจะต้องให้มีการจัดขึ้นตามกระบวนการเลย บริษัทแค่ต้องการสร้างภาพต่อนักลงทุนโดยเฉพาะจีน เพื่อระบายหุ้นออกไป เพื่อนำเงินลงทุนไปหนุนบริษัทแม่หรืออิตัลไทย ที่กำลังจะลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในทวาย ที่ประเทศพม่า” นายสุวิทย์กล่าว.
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)