ถึงแม้ว่าในช่วงเช้าที่มีฝนตกลงมา อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อการออกมาดำนารวมของกลุ่มชาวบ้าน และนักศึกษาในครั้งนี้ ชาวบ้านทุกคนต่างช่วยกันทำตามบทบาทหน้าที่ขอนแต่ละคน ทั้งถอนกล้า ปักดำ ส่วนนักศึกษาก็คอยเรียนรู้และลงมือทำนาตามคำแนะนำของชาวบ้านที่ในวันวันนี้ ได้ทำหน้าที่ครูนอกห้องเรียนให้กับพวกเขา โดยมีเจ้าของที่นาคอยขับรถไถปรับพื้นที่ให้มีความเหมาะสมสำหรับการทำนา อย่างแข็งขันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ได้ช่วยกันทำข้าวปลาอาหารสำหรับมื้อเที่ยงให้ทุกคนที่ เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
นายคณิศร ทอนสูงเนิน แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ในปีนี้เขาได้อุทิศแปลงนาของตนเองให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุดรธานี ดำเนินกิจกรรมทำนารวม โดยที่เขามีมุมมองว่าที่ผ่านมาการทำนารวมของชาวบ้านมีความจำเป็นเป็นอย่าง มากในการระดมทุน เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ซึ่งตนเองก็มุ่งหวังอยากให้กลุ่มได้ข้าวเป็นจำนวนมากจากการทำนารวม
“เห็นกลุ่มทำนารวมมาทุกปีก็ คิดว่ามีความสำคัญในการนำข้าวมาขาย เพื่อได้เงินทุนมาคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งผมก็เอาแปลงนาของผมเองให้กลุ่มทำ เพราะว่ามีอยู่สองแปลงทำแปลงเดียวก็พอกินแล้ว ที่เหลืออีกแปลงหนึ่งก็อยากเสียสละให้กลุ่มมาทำนารวม ซึ่งผมก็มาช่วยไถนาปรับพื้นที่ให้ และถ้าเกี่ยวเสร็จก็จะมาช่วยสีข้าวให้อีก ซึ่งผมไม่ได้คิดที่จะแบ่งส่วนข้าวจากการทำนารวมของกลุ่มเลย กลุ่มทำได้เท่าไหร่ก็ให้กลุ่มทั้งหมดเลย” นายอดิศรกล่าว
ส่วนนางสาวเพ็ญนภา พึ่งกลิ่น นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวถึงการออกมาหาประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยการออกมาช่วยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีดำนารวมในครั้งนี้ ว่า
“นักศึกษาที่พากันมาในวันนี้ เป็นกลุ่มที่ลงเรียนวิชาวิถีไทยพื้นถิ่นอุดร จึงได้พากันมาศึกษาวิถีชีวิตของชาวนา ทำให้เข้าใจสภาพชีวิตของชาวบ้านที่มาทำนา เห็นการออกมาช่วยเหลือกันของกลุ่มชาวบ้าน สำหรับตัวนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมด้วยกันในวันนี้ก็ได้ความสามัคคีกัน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และบางคนที่ไม่เคยทำนาก็ได้ลองมาสัมผัสกับการออกแรงทำนา และที่สำคัญทำให้เข้าใจกลุ่มชาวบ้านที่ออกมารวมกันทำนารวมเพื่อคัดค้าน โครงการเหมืองแร่โปแตช” นาวสาวเพ็ญนภากล่าว
ด้าน อาจารย์สุภี สมอนา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ได้กล่าวถึงเหตุผลและความสำคัญในการนำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ อุดรธานี ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมการทำนารวมของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในครั้งนี่ว่า
“มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ ที่จะทำให้นักศึกษารู้ถึงรากฐานวิถีชีวิตของการทำนาซึ่งเป็นสิ่งที่มีความ สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวอีสาน และนักศึกษาก็จะได้เห็นการรวมพลังของกลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมกันทำนารวมเพื่อ ที่จะปกป้องสิทธิชุมชน ซึ่งผมคิดว่ากิจกรรมลักษณะนี้คงจะมีแต่ที่นี่ที่เดียวที่ยังคงมีการรวมตัว กันทำนารวม โดยชาวบ้านมาออกแรงร่วมกันเพื่อทำนาข้าวแล้วนำข้าวไปขายนำเงินทุนเข้ากลุ่ม และที่สำคัญกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนเกี่ยวกับวิถีไทย พื้นถิ่นอุดร ซึ่งผมคิดว่าไม่สามารถเรียนเพียงแค่ทฤษฎีในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออกมาปฏิบัติจริงด้วย” อาจารย์สุภีร์กล่าว
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ศสธ.)