สัมปทานเหมืองทองในเขตป่าสงวนจังหวัดเลย

813 15 Jul 2012

ข่าวแผนงานมวลชนทางลึกเหมืองทองคำ จ.เลย แฉ แผนมวลชนเหมืองทองเลย !! ล้อมชาวบ้าน ดัน “ประยูร” ผู้ต้องหาบุกรุกภูหลวง คุมพื้นที่ หวังฮุบสัมปทานยาวขยายเหมืองป่าสงวน หวั่นเด็ดหัวแกนนำชาวบ้าน –เอ็นจีโอ ต้านเหมือง มีความเคลื่อนไหวจากพื้นที่การทำเหมืองแร่ ทองคำ จ.เลย ภายหลังกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เดินหน้าเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง การขยายการทำเหมืองทอง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของบริษัททุ่งคำ จำกัด ที่ดำเนินการทำเหมืองทองมาเกือบ 10 ปีและกำลังส่งผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง รายงาน ข่าวในพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ เปิดเผยว่า มีความเคลือนไหวการเดินหน้าของบริษัททุ่งคำ เพื่อให้ได้รับการต่ออายุและขยายเหมืองทองคำ โดยล่าสุดได้มีการกำหนดทีมทำงานมวลชนในพื้นที่อย่างชัดเจน ภายใต้ชุดทำงานชื่อ “ชุดควบคุมภูผ่อง/ด้านงานมวลชนทางลึกในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งรอบๆ บริเวณเหมืองแร่ทองคำบริษัททุ่งคำ อ.วังสะพุง จ.เลย” ใช้ชื่อย่อว่า “ชุดควบคุมภูผ่อง” โดยแบ่งการทำงานออกเป็นชุดบัญชาการ 1 ชุด และชุดปฏิบัติงาน 3 ชุด เพื่อปฏิบัติภารกิจ ในพื้นที่รอบๆ เหมือง และพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงคาน อ.เมืองเลย อ.วังสะพุง และอ.ภูหลวง ซึ่งเริ่มปฏิบัติงาน 5เม.ย. 55 ไปจนจบภารกิจ โดยมี พ.อ.ประยูร ผิวผ่อง ทหาร กอ.รมน. เป็นหัวหน้าชุดควบคุม รายงานข่าวระบุว่า ชุดควบคุม “ภูผ่อง” มีแผนการจัดตั้งเครือข่ายมวลชนแต่ละหมู่บ้าน โดยใช้แกนนำชาวบ้าน และแกนนำ NGO เข้าทำงานมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านเห็นด้วยกับเหมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เวทีการประชาคมจากราษฎร ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ ผ่านความเห็นชอบ และให้บริษัทได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำต่อไป “บริษัท ทุ่งคำเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณทั้งหมดแก่ชุดควบคุมภูผ่อง และให้ค่าตอบแทนแก่แกนนำ สำหรับใช้ปฏิบัติงานด้านมวลชนสัมพันธ์ทุกรูปแบบในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้ภารกิจบรรลุผลสำเร็จ” รายงานข่าวระบุ รายงาน ข่าวในพื้นที่เหมืองทองคำ ตั้งข้อสังกตว่า จากการติดตามแผนงานมวลชนทางลึกดังกล่าว มีการระบุอย่างชัดเจนในเอกสารว่า ให้ชุดปฏิบัติการจะต้องคอยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ไปพร้อมๆ กับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยคาดไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีวิธีการใช้แผนใต้ดินกับกลุ่มที่ต่อต้าน และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเหมือง “จากพฤติกรรมของ พ.อ.ประยูร หัวหน้าชุดควบคุม ที่มีประวัติที่ไม่ดีอยู่แล้ว จึงกังวลว่าแผนงานมวลชนทางลึก จะมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งการลอบสังหารเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่ต่อต้าน หรือกลุ่มคนที่ติดตาม และตรวจสอบการทำเหมือง เพราะในแผนได้มีการจัดทำผังเชื่อมโยงโครงข่ายบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน” รายงานข่าว กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ ปี 2554 พ.อ.ประยูร ผิวผ่อง เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ได้ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จับกุมดำเนินคดีฐานบุกรุกภูหลวง ซึ่งเป็นต้นน้ำป่าสัก ไหลผ่าน จ.เพชรบูรณ์ ลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลทหารตัดสินให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมโทษจำคุก ขณะนี้อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาที่ศาลากลางจังหวัดเลย กลุ่มชาวบ้านรักษ์บ้านเกิด ที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองทอง ของบริษัททุ่งคำ จำกัด พื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง ได้เดินทางมาชื่นคัดค้านการขยายการทำเหมืองทอง บริษัททุ่งคำ จำกัด ในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ที่ใกล้จะหมดอายุลง และทางบริษัทกำลังดำเนินการ ยื่นขออนุญาต ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ต่อไปอีก 10 ปี เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ โดยชาวบ้านในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ในนาม กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ประกอบด้วย บ้านห้วยผุกหมู่ 1,บ้านกกสะทอน หมู่ 2 ,บ้านนาหนองบง หมู่ 3,.บ้านแก่งหิน หมู่ 4, บ้านโนนผาพุงพัฒนาหมู่ 12 และ บ้านภูทับฟ้าพัฒนา หมู่ 13 ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าไม้เมื่อหมดอายุ และให้บริษัทยุติการทำเหมืองแร่ทันที เนื่องจากได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากมากเนื่องจากเหมืองอยู่ในพื้นที่ชุมชน ทั้ง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านปัญหาต่อสุขภาพ เสียง และฝุ่นละออง ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของบริษัททุ่งคำ จำกัด ที่กำลังดำเนินการต่ออายุทำเหมืองทองคำในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาคม การพิจารณาขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หากส่วนท้องถิ่นเห็นชอบก็นำไปสู่การพิจารณาการขอประทานบัตรต่อไป เนื่องจากการทำเหมืองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของบริษัททุ่งคำจะสิ้นสุดลง ในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 นี้ ทั้งนี้ มีมติ ครม. เมื่อ วันที่ 8 ก.พ.2554 ระบุว่า ให้มีการชะลอการขยายพื้นที่หม่ หรือการขอประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ จำกัด ห้ามขยายพื้นที่ แปลงที่ 104/2538 และ แปลงอื่น ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถี ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพหรือ HIA รวมทั้งจัด ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการเปิดทำการเหมืองของบริษัทฯ เมื่อปี พ.ศ. 2549 นั้น ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปตรวจสอบด้วยว่าผู้ประกอบการได้มี การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการประกอบการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยหรือไม่ จาก: ศูนย์สื่อชุมชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม <huktin.ud@gmail.com> ขอบคุณ สมลักษณ์  หุตานุวัตร

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม