6 ปี สุวิทย์ วัดหนู คนดีไม่มีวันตาย

1786 11 Jul 2012

วรภัทร  วีรพัฒนคุปต์

                บนเส้นทางสายธารที่พานพบ  คือทำนบเหี้ยมโหดบนโขดหิน  คือตำนานแห่งประชาน้ำตาริน  จึงอยากเดินบนดินจนสิ้นใจ”   เป็นบทกวีที่กินใจจนทำให้คนสมองปลาทองอย่างผมจำได้จนขึ้นใจ  เป็นบทกลอนสั้นๆที่สะท้อนได้ถึงจิตวิญญาณ ตัวตนของคนจริงที่ชื่อ “สุวิทย์ วัดหนู” ได้เป็นอย่างดี ผมต้องออกตัวก่อนเลยว่า  ที่จริงผมกับพี่สุวิทย์ไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยเจอหน้ากัน  ไม่เคยมีความเกี่ยวข้องใดๆกันมาก่อนเลย  ผมได้เข้ามาในแวดวงขบวนการภาคประชาชนก็หลังจากที่พี่สุวิทย์ได้จากไปแล้ว อันที่จริง ถ้าไม่ใช่เพราะได้เห็นข่าวการตายของพี่สุวิทย์  ผมก็ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร  หรือในทางกลับกัน ถ้าผมรู้จักพี่สุวิทย์เร็วกว่านั้น  แกก็คงได้รับการเหยียดหยามจากผมอย่างเดียวกับที่ผมเคยทำไว้กับบุคคลอีกหลาย คนที่วันนี้ผมให้ความเคารพนับถือเป็นพี่น้องครูบาอาจารย์   ด้วยเหตุผลควายๆว่า ในอดีต ที่ผมรู้สึกว่า “NGO” แปลว่า “โง่” คำสบถที่ผมมักใช้แสดงถึงความรู้สึกรังเกียจที่มีต่อเอ็นจีโอคือ “ไอ้เอ็นจีโอห่าพวกนี้ นอกจากรับจ้างประท้วงแล้วมันเคยทำประโยชน์อะไรให้ประเทศบ้างวะ” จนกระทั่งการรัฐประหาร19กันยายน2549  ซึ่งได้เปลี่ยนชีวิตของผม จากการที่ยอมรับแต่การทำกิจกรรมแนวผู้นำเยาวชนในระบบของสภานักศึกษาใน มหาวิทยาลัย  สภาเยาวชน   หรือกิจกรรมแนวจิตอาสาอย่างการสอนหนังสือเด็ก ทำกิจกรรมกับเด็กพิการ ผู้สูงอายุ อะไรทำนองนี้   มาสู่การเดินเข้าหาในสิ่งที่ผมเคยรังเกียจสุดลิ่มทิ่มประตู อย่างขบวนการประชาธิปไตยภาคประชาชน (ที่ภาพแรกที่มักผุดในหัวก่อนเลย คือการชุมนุมประท้วง แหกปากจับผิดนักการเมือง) ด้วยเหตุที่ว่า ผมเริ่มรู้สึกว่า “ประชาธิปไตย” ในความหมายของผมที่เคยคิดเพียงว่าต้องเคารพการเลือกตั้งและวิถีทาง รัฐสภา(เพราะผมเป็นยุวชนประชาธิปไตยของรัฐสภาด้วย) มันเริ่ม “ไม่ใช่แล้ว(ว่ะ)!!!” และบังเอิญว่าช่วงรอบปี2550  ก็ดันเป็นช่วงปีที่เราได้สูญเสียนักรบประชาชนคนสำคัญไปถึง 3 ท่านรวด  หนึ่งในนั้นก็คือพี่สุวิทย์ (อีก 2 ท่านคือ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์  และ นันทโชติ ชัยรัตน์) แม้ว่าผมจะเริ่มเข้าสู่กิจกรรมการเมืองภาคประชาชนและการเคลื่อนไหวเรื่อง สิทธิมนุษยชน  จากจุดที่ผมยอมรับไม่ได้กับการรัฐประหาร  และได้กล่าวโทษ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”  ว่าเป็นขบวนการ “เอ็นจีโอสายอำมาตย์” ที่สนับสนุนการรัฐประหาร  แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย” สำหรับผม การเดินทางตามหาความหมาย ได้ทำให้ผมเจอผู้คนในแวดวงนักรบประชาชนมากมาย  ที่ได้มีส่วนหล่อหลอม  เคี่ยวกรำ ความคิด  อุดมการณ์ จิตวิญญาณของผมมากมาย  ทั้ง เมธา  มาสขาว  , บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ , ลัดดาวัลย์  ตันติวิทยาพิทักษ์ , อาจารย์ภัทรมน สุวพันธุ์ (ที่ผมมักเรียกว่า “เจ๊”)  , นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์  , บำรุง คะโยธา , มาลีรัตน์ แก้วก่า ,สุริยะใส กตะศิลา , ประสาร มฤคพิทักษ์ , สุนี ไชยรส , กานต์ ธงไชย(ลูกชายของ “พิภพ ธงไชย”) ,  ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  และอีก ฯลฯ ที่ผมไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ทั้งหมด บุคคลดังที่กล่าวมานี้  เป็นบุคคลที่อาจมีความเกี่ยวข้องผูกพัน คุ้นเคย สนิทสนมมากน้อยแตกต่างกันออกไป   บางท่านอาจเคยร่วมงานกันมา  บางท่านอาจได้พบเจอกันตามเวทีต่างๆหรือกินเหล้าด้วยกันบ่อยบ้างไม่บ่อยบ้าง แต่ก็ได้ให้ข้อคิดดีๆแก่ผมเสมอทุกครั้งที่เจอกัน  หรือแม้แต่บางท่านอย่าง “หัวหน้าโย”(บำรุง คะโยธา)  ผมก็เคยเจอเพียงครั้งเดียวด้วยซ้ำ  จากการไปกิจกรรมค่ายสิทธิมนุษยชน ลงพื้นบ้านกุดนาไก้  แต่กระนั้นบุคคลเหล่านี้ก็นับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อ “จุดเหวี่ยง” ทางความคิด จิตวิญญาณของผมอย่างมาก (คนที่สนิทกับผมจะรู้ดี ว่าในเส้นทางนี้ ผมมีจุดเหวี่ยง ผกผันเยอะมาก กว่าจะมาเป็นตัวผมในวันนี้ จนหลายคนก็ตามไม่ค่อยทัน  บางทีก็ทำให้เพื่อนพี่น้องหลายคนปรับตัวหรือทำใจกับผมไม่ได้ ฮา) แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมเดียวกันที่ทำให้ผมต้องพูดถึงและเอ่ยชื่อบุคคลเหล่า นี้  เพราะพวกเขาเหล่านี้ ล้วนเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ที่เคยร่วมงานกับ “สุวิทย์ วัดหนู” มาทั้งสิ้น เพราะว่าพี่สุวิทย์  คือหนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมการต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516    เป็นแกนนำ “แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย” ในช่วงยุคแตกแยกรุนแรงระหว่างอุดมการณ์ซ้ายขวา จนในที่สุดเมื่อเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519  พี่สุวิทย์ได้เดินหน้าตามอุดมการณ์  มุ่งสู่ป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตงาน508 ช่องช้าง สุราษฎร์ธานี  ต่อมาก็ได้รับมอบหมายจากพรรคให้ไปขยายงานในพื้นที่ชุมพร รวมแล้วพี่สุวิทย์ใช้ชีวิตจับปืนอยู่ในป่ายาวนานถึง 8 ปี หลังออกจากป่า  พี่สุวิทย์ก็ได้กลับมาเริ่มกลับมาสู่งานภาคการพัฒนากับทางมูลนิธิดวง ประทีป(ซึ่งเริ่มจากโรงเรียนวันละบาทในชุมชนแออัดคลองเตยของ “ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ”) จากการทำงานเพื่อสร้างอนาคตและสังคมที่พึงประสงค์ให้เด็กด้อยโอกาสในสลัม คลองเตย  ก็ได้ยกระดับมาสู่การทำงานแบบเกาะติดประเด็นคนยากจนในเมือง  สิทธิชุมชน ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  ในนามของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งต่อมาพี่สุวทย์ได้เป็นเลขาธิการและกรรมการของมูลนิธินี้มาตลอด(จนภาย หลังได้ลาออกมาเพื่อเดินหน้างงานสร้างพรรคการเมืองทางเลือกของภาคประชาชน) นอกจากนี้พี่สุวิทย์ยังเคยเป็นทั้งที่ปรึกษาสมัชชาคนจน , เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม4ภาค , เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  และได้สนับสนุนการต่อสู้ของสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน(สกยอ.) อันที่จริงการต่อสู้ของพี่สุวิทย์เพื่อผู้ยากไร้ แกก็ทำมานานแล้วตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา  อย่างการต่อสู้คัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ปี2517 หลังจากที่แกนนำในพื้นที่ถูกยิงเสียชีวิต  ซึ่งอ่างเก็บน้ำนี้สร้างเพื่อเอื้อบรรดาโรงแรม มิใช่เพื่อการชลประทาน  มีคนพื้นที่เดือดร้อนกว่า 2,000ครอบครัว  พี่สุวิทย์ต่อสู้จนโครงการก่อสร้างนี้ชะงัก  ถูกบรรดานายทุนโกรธค้น ส่งมือปืนมาลอบฆ่า แต่เคราะห์ดีที่รอดมาได้ (และผมเข้าใจว่าจุดนี้เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “สุทธิ อัชฌาศัย” กลายเป็นนักสู้เพื่อประชาชนภาคตะวันออก  เพราะพี่สุทธิก็เคยพูดไว้ว่าพี่สุวิทย์คือคนหนึ่งที่เป็นรุ่นพี่ผู้สร้างแรง บันดาลใจให้พี่สุทธิ)   พี่สุวิทย์  เป็นคนที่ให้มรดกทางความคิดในการยกระดับประชาชน  โดยได้ทำให้พวกเราเห็นถึงความสำคัญของการที่ต้องทำงานขับเคลื่อนภาคการพัฒนา ที่ทำต่อประชาชน(บุคคล) ชุมชน  ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนภาคการเมือง  การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยพี่สุวิทย์ได้เป็นผู้ผลักดันพระราชบัญญัติชุมชนแออัดฉบับภาคประชาชนอีก ด้วย และพี่สุวิทย์ก็ไม่ได้ละทิ้งบทการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ท้าทายอำนาจเผด็จการ  โดยในเหตุพฤษภาทมิฬ2535                พี่สุวิทย์ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการรณรงค์เพื่อ ประชาธิปไตย(ครป.)ที่เป็นองค์กรร่วมสู้ในเหตุการณ์นี้  และทำหน้าที่โฆษกบนเวทีในระหว่างการต่อสู้นี้ด้วย ต่อมาในปี2549  เมื่อการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มาถึงจุดของการลุอำนาจอย่างที่สุด  จนทำให้เอ็นจีโอ นักวิชาการ  เครือข่ายประชาชนมากมายต้องรวมขบวนกันเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” พี่สุวิทย์ก็ยังทำหน้าที่โฆษกบนเวที  และต้องยอมรับว่าการก่อตั้งขบวนการพันธมิตรฯในยุคนั้น  ได้สร้างปรากฎการณ์น่าสนใจคือ การที่ประชาชนที่เป็นชนชั้นกลาง  ชนชั้นผู้มีอันจะกิน  กับขบวนการคนจนสลัม  ชาวนา แรงงาน มาอยู่ในการชุมนุมประท้วงเดียวกัน  เรียนรู้ความเป็นพลเมืองผู้ไม่ยอมจำนนต่อเผด็จการรัฐสภาด้วยกัน(วันนี้ตัวผม ยังบ่นบ่อยครั้งกับบรรดาพี่ๆที่เคารพทั้งหลาย รวมทั้งเพื่อนฝูงนักกิจกรรม  ลูกหลานคนเดือนตุลา  ลูกหลานแกนนำในพันธมิตรฯ ว่าจะทำยังไงให้เรารักษาขบวนการประชาชนให้มันได้อย่างตอนเริ่มก่อตั้ง พันธมิตรฯ เพราะวันนี้มันแตกกระจายจนสมานกลับได้ยาก และเหมือนจะเริ่มหลงทางมาหักล้าง ทำลายกันเอง) ผมเข้ามาในแวดวงขบวนการภาคประชาชนหลังพี่สุวิทย์จากไปแล้ว  แต่อย่างน้อยๆการที่ผมได้เข้าร่วมกลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก  มาเจอหัวหน้าไผ่(นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์) เจ๊เอ๋ (อ.ภัทรมน สุวพันธ์) และพี่ๆเอ็นจีโอ ผู้นำกรรมกร ผู้นำเกษตรกร นักสู้เพื่อคนสลัม คนไร้ที่ คนไร้บ้านอีกหลายท่าน ก็ได้ทำให้ผมรู้ว่าพี่สุวิทย์ฝากมรดกไว้ก่อนหมดลมหายใจอีกอย่างคือ ภาพฝันอนาคตการมี “พรรคการเมืองทางเลือก”ของภาคประชาชน พรรคที่สมาชิกคือผู้มีอำนาจสำคัญสูงสุด  มีอุดมการณ์และปฏิบัติการเพื่อสนองความหลากหลายของกลุ่มประเด็นสังคม มีทั้งชาวนา  กรรมกร  สตรี  เด็กเยาวชน เป็นปีกของพรรค ภารกิจนี้พี่สุวิทย์ยังทำได้ไม่ทันจบก็สิ้นลมจากพวกเราไปเสียก่อน  เพราะแกไม่ได้ต้องการสร้างพรรคเพื่อให้ตัวเองได้ไปสู่การมีตำแหน่งทางการ เมือง(ที่จริงถ้าแกอยากมี แกยอมขายตัวตามข้อเสนอที่พวกนักการเมืองพยายามยื่นให้แกมาตลอดยังง่ายกว่า เยอะ) แต่แกอยากสร้างพรรคที่เป็นของประชาชน  พรรคที่สามารถเคลื่อนอุดมการณ์สาธารณะของชนทุกทุกชั้นทุกกลุ่ม  เพื่อยกระดับการเมืองภาคประชาชนหลุดพ้นการผูกขาดจากการเมืองที่รับใช้ทุนเอา เปรียบประชาชน ในโอกาสที่กำลังจะครบรอบ 5 ปี แห่งการจากไปของพี่สุวิทย์ ในวันที่11 มีนาคม 2555 ที่กำลังจะถึงนี้  ผมจึงขออุทิศบทความนี้เพื่อแทนความศรัทธา  คาราวะ และรำลึกถึงพี่สุวิทย์ที่ได้ทำให้คนรุ่นหลังอย่างผมยังมีแรงบันดาลใจ ไม่อยากเดินหนีออกไปจากเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของปวงประชา  และเปลี่ยนจากความเบื่อหน่าย อ่อนล้า มาเป็นความภาคภูมิและศรัทธากับหนทางการต่อสู้ที่ “ยิ่งสู้ ยิ่งจน แต่อิ่มใจ” (พี่น้องหลายคนที่รู้จัก สู้ร่วมกันมากับพี่สุวิทย์ วันนี้กลายเป็นอำมาตย์บ้าง นายทุนบ้าง เขาไปตามแนวทางการเมืองแบบที่เขาเชื่อว่าใช่  หรือเพราะไปรับงานใคร ถูกใครจ้างให้มาทำลายพี่น้องภาคประชาชนด้วยกัน อันนี้ผมขอไม่พูดถึงแล้วกัน) อย่างน้อยวันนี้พี่สุวิทย์ก็จะยังมีชีวิตอยู่ในความคิด จิตวิญญาณของผมและเพื่อนพี่น้องอีกหลายคน ผมเชื่อว่าคนดีคนนี้…จะไม่มีวันตายไปจากใจพวกเรานะครับ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม