หาดแสงจันทร์ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชายหาดหลังการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

1642 11 Jul 2012

หาดแสงจันทร์ เป็นชายหาดที่ตั้งอยู่ในเมืองระยอง อยู่ระหว่างมาบตาพุดและบริษัท IRPC ซึ่งสามารถที่จะพูดได้ว่า เป็นชายหาดที่สวยงามแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ในสมัยก่อนนั้นนอกจากจะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง ที่ขยายตัวมาจากปากน้ำเมืองระยองแล้ว ยังมีผู้คนมากมายทั้งจากท้องถิ่นเองและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ได้ใช้ประโยชน์ในด้านสันทนาการ แต่ปัจจุบันชายหาดแห่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปแล้ว โดยชายหาดแห่งนี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้ ซึ่งผู้เขียนเองได้สังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การกัดเซาะชายหาดนั้นเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว ปัญหาการกัดเซาะชายหาดนี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากเป็นวัฏจักรทางธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดจากวัฏจักรนี้เกิดขึ้นช้ามาก เนื่องจากกระบวนการกัดเซาะชายหาดของคลื่น-ลมตามธรรมชาตินั้น จะมีการนำทรายจากใต้ท้องทะเลขึ้นมาแทนที่ด้วย เปรียบเสมือนเป็นการเสริมและทดแทนของธรรมชาติ การกัดเซาะชายหาด จะรุนแรงมากเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพทางกายภาพและภูมิศาสตร์ของชายหาดนั้นๆ เอง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านองศาความชันของชายหาด ปริมาณปะการังและหญ้าทะเลในบริเวณนั้น แต่ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ระดับความรุนแรงของการกัดเซาะชายหาดเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น ปัจจัยนั้นก็คือกิจกรรมของมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณนั้นนั่นเอง โดยที่มนุษย์เหล่านั้นไม่รู้ตัวและคาดไม่ถึงว่า กิจกรรมที่ทำนั้นจะส่งผลกระทบต่อชายหาดรุนแรงถึงเพียงใด หาด แสงจันทร์แห่งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปเมื่อมีการถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกของนิคมฯ มาบตาพุดและท่าเรือของบริษัท IRPC ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเลนี้ ทำให้กระแสคลื่นและลมเปลี่ยนแปลงทิศทาง มุ่งโจมตีชายหาดแห่งนี้อย่างรุนแรง การกัดเซาะของน้ำทะเลได้รุกเข้ามาถึงถนนเลียบชายหาด ส่งผลให้ถนนดังกล่าวเกิดความเสียหาย และมีแนวโน้มว่าบ้านเรือนของประชาชนจะถูกผลกระทบจากการกัดเซาะด้วย ทางราชการที่เกี่ยวข้องจึงต้องสร้างถนนใหม่ให้ถอยร่นเข้ามา และมีการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันคลื่นน้ำทะเลกัดเซาะชายหาด   สาเหตุที่แท้จริงในการที่ทำให้ชายหาดแห่งนี้เปลี่ยนสภาพไป สามารถที่จะสรุปได้ว่าเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมนั่นเอง ถึงแม้ว่าการพัฒนาดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศ ที่จะสามารถดึงเงินลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาเสริมเศรษฐกิจ แต่ความผิดพลาดของรัฐ ที่มองเห็นแต่ตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน อีกทั้งขาดการวางแผนในการแก้ปัญหาที่ดีและรอบครอบนั้น เป็นอันตรายต่อการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง อีกประเด็นหนึ่งก็คือ สภาพพื้นที่ภูมิศาสตร์ชายฝั่งของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่จึงต้องแตกต่างกันไปด้วย เมื่อผู้รับผิดชอบขาดความรู้ ความเข้าใจถึงสภาพการณ์ แล้วนำแบบอย่างการแก้ไขปัญหาของต่างพื้นที่เข้ามา จึงทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีประสิทธิผล อีกทั้งยังจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างมากมาย นี่จึงเป็นบทเรียนหนึ่งที่สอนว่า การที่มนุษย์เข้าไปแทรกแทรงธรรมชาติอย่างเกินพอดี ทั้งๆ ที่ไม่มีแผนแม่บทรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระบบนิเวศ และภูมิศาสตร์อย่างรุนแรง ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้นมนุษย์ที่จะต้องรับไป และไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม