แม่เจ้าโว้ยยยย….!! อภิมหาวาทกรรมป้องกันน้ำท่วม มูลค่า 300,000 ล้านบาท

1346 07 Jul 2012

ต้องตะโกนออกมาดังๆ  ว่า  “แม่เจ้าโว้ยยยย…..!!”  เลยครับงานนี้  ตะโกนอย่างตื่นหูสว่างตา หลังจากติดตามข่าวการเร่งผลักดันแผนการจัดการน้ำ ซึ่งผ่าน ครม. เห็นชอบร่าง TOR ด้วยงบ  300,000 ล้านบาท โดยมี  นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ.กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่ กบอ. เสนอร่างทีโออาร์ มาและเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนทั้งในเเละต่างประเทศ เข้ามาเสนอโครงการโดยรัฐบาลจะใช้เวลา 1 เดือนในการพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 3 บริษัท และจะเริ่มต้นก่อสร้างในช่วงต้น ปี 2556 ซึ่งตามแผนงานของรัฐบาลที่นำโดย  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ได้แบ่งแผนงานการจัดการน้ำออกเป็นลุ่มน้ำ โดยเน้นหนักที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 พื้นที่   4 กลุ่มคือ 1 พื้นที่ต้นน้ำ  มี 10 จังหวัด คือ  เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา วงเงิน  69,000 ล้าน  ภารกิจคือเน้นการปลูกป่า ฟื้นฟูป่า โดยเฉพาะการปลูกป่านั้นตั้งเป้าไว้ 330,000 ไร่ มี 3 กระทรวงหลักรับผิดชอบคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรฯ และวางระบบป้องกันการบุกรุกป่า 2 พื้นที่กลางน้ำ มี 14 จังหวัด กลางน้ำตอนบน 6 จังหวัด พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร ชัยนาท  กลางน้ำตอนล่าง  มี 8 จังหวัด สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปราจีน สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี นครนายก โดยมีแผนงาน ดังนี้ สร้างพื้นที่รับน้ำหรือทุ่งรับน้ำ อาทิ สร้างเขื่อน 5 เขื่อน งบ 50,000 ล้านบาท ในพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ต้นน้ำ คือ เขื่อนแม่แจ่ม ในจังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนแก่งเสือเต้น ในจังหวัดแพร่ เขื่อนน้ำตาด ในจังหวัดน่าน เขื่อนแม่วงศ์ จังหวัดอุทัยธานีและ สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รองรับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์  ทั้งหมดตั้งเป้ากักเก็บน้ำได้ 1,800 ลบ.ม. โดยมีระยะเวลาศึกษาโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี สร้างที่รับน้ำแกมลิงบนพื้นที่ 2,000,000 ไร่ งบประมาณ 60,000 ล้านบาท  ตั้งเป้ารับน้ำได้ 5,000 ล้าน ลบ.ม. มีระยะเวลาศึกษา 2 ปี เช่นกัน และ สร้างทางน้ำหลาก ( food way ) ขุดคลองเชื่อมถึงกันทั้งเล็กใหญ่ ทั่วทั้งลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำงบประมาณ  120,000 ล้านบาท 3 พื้นที่ปลายน้ำ มี 7 จังหวัด คือ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา วงเงิน  153,000 ล้านรวมถึง โครงการขุดลอกปากแม่น้ำท่าจีน บางปะกง  เจ้าพระยา 1,492 ล้านบาท นอกจากนั้น รัฐบาลยังมี แผนงานสร้างคันคูเพื่อปิดล้อมและเพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด นิคมอุตสาหกรรมและโบราณสถาน แบ่งเป็นสร้างคันคูป้องกันเขตเศรษฐกิจ และเขตสำคัญๆ  30,000 ล้านบาท สร้างกำแพงป้องกันน้ำ สูง 4 เมตร รอบนิคมอุตสาหกรรมอีก 4,833 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่อีก 15 แห่ง เห็นความแผนงาน เห็นความเร่งรีบ เห็นวิธีการจัดการและงบประมาณแล้วต้อง ตะโกนแม่เจ้าโว้ยยยย…!!  เลยไหมครับ เพราะแม้แต่ค่าชดเชยยังไม่มีปัญญาจ่ายให้เสร็จ นี่กี่เดือนมาแล้ว จ่ายให้ทั่วถึงเป็นธรรม และจ่ายให้สมน้ำสมเนื้อโดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนเพราะถูกทำให้ท่วม มากกว่าท่วมเองโดยธรรมชาติ คนกลุ่มนี้ รัฐบาลจะชดเชยหรือบอกกับเขาอย่างไร เช่น ชาวบ้านแถบทุ่งพระพิมล ชาวบ้านคลองโยง ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ฯลฯ  ว่าการชดเชยผู้เสียหายกับการป้องกันน้ำท่วม ที่เน้นหนักปกป้องกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม คนเมืองและคนกรุงเทพฯนี้นั้นสำคัญกว่า ยังไม่นับรวมถึงกลุ่มทุน กี่มากน้อยกันแน่ที่ได้ประโยชน์ กับอภิมหาโครงการป้องกันน้ำท่วมนี้ เอาตั้งแต่บริษัทที่รับงานศึกษานี่ก็ฟันเงินงบประมาณไปไม่รู้กี่พันล้าน แล้วบริษัทไหนกันแน่ได้ประโยชน์ ? ฮั้วกับพรรคไหน ?   หรือหายไปกับเบี้ยใบ้รายทางเท่าไหร่ ? เพราะยิ่งเร่งรีบก็ยิ่งบกพร่อง เอาเรื่องละเอียดอ่อนมาใส่และเร่งเอาตอนร้อนๆ ก็มีแต่จะพลาดกับพลาด ไม่นับรวมผลกระทบอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นตามมา เมื่อระบบน้ำถูกเปลี่ยนแปลง ทั้งระบบ การจัดการจัดการโดยใคร เพื่อใคร ?   ทั้งคน สัตว์ และระบบนิเวศ และเมื่อคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมันจะเท่าไหร่ ?   อีกทั้งต้องจ่ายค่าชดเชย  ตามมาเท่าไหร่  ?   คิดกันง่ายๆ เอาแค่เขื่อน 5 เขื่อน ที่จะดันทุรังสร้าง กินพื้นที่ป่าไปกี่แสนไร่  ทรัพยากรมหาศาล ? ที่ทุ่มไปกับแผนการต่อกรกับธรรมชาติ !!! ชาวบ้านยังยากจน เศรษฐกิจดูเหมือนฟองฟูเงินสะพัดแต่ไม่พอรายจ่าย ดังนั้น การคิดเรื่องการจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องคิดอย่างมีสติ ทำอย่างระมัดระวัง ศึกษาอย่างรอบคอบ การปกป้องใครสักคนหนึ่งต้องไม่ยืนบนฐานคิด ว่าต้องยอมเหยียบชีวิตอีกคน อีกทั้ง ต้องมองด้วยว่าคนทั้งประเทศจะได้อะไร และเสียอะไร ? ที่สำคัญประเด็นสุดท้าย ใครมีอำนาจตรวจสอบอภิมหาโครงการนี้ ? ลำพังสื่อมวลชนที่มีน้ำยาไม่ถึง ลำพัง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเรี่ยวแรงมีน้อยตามจำนวน ดังนั้น กลไกอิสระต้องทำงาน และ องค์กรภาคประชาชนต้องจับมือกันตรวจสอบเพื่อพิทักษ์งบประมาณแผ่นดิน โดยรัฐบาลยอมรับในบทบาทของทุกฝ่าย  ครับ….

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม