ทีวีสาธารณะของประชาชน ต้องไม่กลับไปเป็นของกลุ่มทุนหรือกลุ่มการเมืองหน้าไหนอีกต่อไป

1982 11 May 2012

วรภัทร  วีรพัฒนคุปต์

“ …เลิกฝันเสียทีว่าสักวันหนึ่งจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม  สังคมยอมรับองค์กรนี้ว่าเป็นสื่อสาธารณะไปแล้ว จากเวทีที่จัดกับภาคประชาชน   ประชาชนส่วนหนึ่งได้รู้สึกไปแล้วว่าไทยพีบีเอสเป็นสื่อของเขา…” เทพชัย หย่อง (8 ก.ย. 2554  ที่รัฐสภา) นี่คือคำกล่าวอย่างหนักแน่นของ “เทพชัย หย่อง”  หรือที่ใครหลายคนที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับ ThaiPBS เรียกแกว่า “น้าสิ่ว”(ชื่อเล่นคุณเทพชัย)  ในระหว่างการเข้าชี้แจงผลการดำเนินงานของ “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” (ส.ส.ท. หรือ TPBS) ต่อสภาผู้แทนราษฎร ตอนแรกผมก็ทราบเพียงว่ามีการแถลงผลการดำเนินงานต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะผมทำงานสนามอยู่ต่างจังหวัด  จนกระทั่งมีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง Broadcast ข้อความใน BB มา ใจความว่า “มีความพยายามของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่จะแทรกแซงการทำงานของ ThaiPBS”  ผมจึงได้ตามข่าวในภายหลังจากการสอบถามเพื่อนที่ทำงานอยู่ TPBS  และได้เปิดคลิปในYou tube ดูการอภิปรายของ “นายจิรายุ ห่วงทรัพย์”  และ “นายสุนัย จุลพงศธร” สำหรับนายสุนัยหน้าดำหัวขาว  ผมคงไม่พูดถึงมาก  เพราะผมไม่หวังจะได้ฟังอะไรที่เป็นสาระดีๆจากปากของนายคนนี้อยู่แล้ว (ทั้งๆที่ผมก็เคยชอบผลงาน “นิราศบาหลี”ของแก)   แต่ที่น่าผิดหวังที่สุด  ก็คงเป็นนายจิรายุ  ที่เป็นคนทำงานสื่อมวลชนมาก่อนและเป็นลูกหม้อเก่าของสถานีโทรทัศน์ ITV ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “ทีวีเสรี” (แต่จริงๆนายคนนี้ก็รับใช้ ITVในยุคที่กลายเป็น “ทีวีทรราชย์” น่ะแหละ)  การอภิปรายของนายจิรายุ ทำให้ผมต้องเอ่ยว่า นอกจากจะไม่เหมาะสมแก่ความเป็นผู้แทนปวงชนแล้ว  ยังต้องถือว่าเป็นบุคคลที่ล้มละลายในความเป็น “สื่อมวลชน” ด้วย   ….และต้องถือว่า เป็นคน“เนรคุณ” ที่ควรต้องถูกสาปแช่งอย่างถึงที่สุด !!!!   เมื่อพูดมาถึงตรงนี้  ผมก็อยากจะขอย้อนรอยถึงที่มาที่ไปของ “ทีวีสาธารณะ”  ช่องนี้เสียหน่อย…   ก่อนจะมาถึงการเป็นทีวีสาธารณะ  ต้องเล่าย้อนไปถึงการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF ที่ชื่อว่า “ITV” ที่หมายถึง “Independent TV” หรือ “ทีวีเสรี”   ซึ่งเกิดขึ้นจากดำริของ “นายอานันท์ ปันยารชุน” ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี(รอบที่ 2 ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535)  โดยท่านนายกฯอานันท์ได้เล็งเห็นว่า จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่เกิดขึ้นนั้น   นอกจากความเลวร้ายของทหาร ตำรวจ  ที่ทำร้าย เข่นฆ่าประชาชน รับใช้นายกรัฐมนตรี(พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำการรัฐประหารปี2534 และตระบัดสัตย์มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยตนเองไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร)แล้ว  ความเลวร้ายอีกอย่างจากเหตุการณ์ครั้งนั้นคือ  การที่สื่อวิทยุโทรทัศน์ทุกช่องอยู่ในกำกับดูแลของรัฐ  ได้ทำตัวเป็นเหมือน “สถานีวิทยุยานเกราะยุค 6 ตุลา 19” ในการเป็นกระบอกเสียงบิดเบือนข้อเท็จจริงที่รัฐบาลผสม                          “ทหาร + นักการเมืองทรราชย์” สั่งฆ่าประชาชนบ้าคลั่ง  และปิดกั้นการรับรู้ความจริงของประชาชนต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น(จะบอกว่า ประเทศไทยเวลานั้นตกในภาวะเหมือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าก็คงไม่ผิด) ท่านนายกฯอานันท์จึงเห็นว่า ควรจะต้องมี “ทีวีเสรี” ที่สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างเป็นอิสระต่ออำนาจรัฐ และอำนาจทุนทั้งปวง  ที่สามารถสื่อสารความจริงต่อสังคมและเป็นกระบอกเสียงของประชาชนได้  รวมทั้งเป็นช่องโทรทัศน์ที่สามารถนำเสนอรายการต่างๆที่เป็นประโยชน์ เป็นสาระต่อสังคมได้มากกว่าช่องโทรทัศน์ทั่วๆไปที่ต้องบริหารผลประโยชน์ร่วม กับฝ่ายการเมือง  ฝ่ายรัฐ ฝ่ายทุน (บางทีเขาก็เรียกว่า “มาเฟียสื่อ”) จึงได้มีนโยบายการจัดตั้ง “ทีวีเสรี” เป็นนโยบายทิ้งทวนก่อนหมดวาระการเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล ในปี 2538  เราจึงได้รู้จัก “ITV” เป็นครั้งแรกภายใต้สโลแกน “ITV ทีวีเสรี” โดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) เป็นเจ้าของคลื่นความถี่และเป็นผู้กำกับดูแลการเปิดประมูลให้เอกชนเช่า สัมปทาน โดยผู้ชนะสัมปทานคือกลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด  และได้ชักชวนพร้อมทั้งเชิญชวนให้บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมถือหุ้น และบริหารสถานีฯ ด้วย  ก่อนจะมาเป็น “บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน)” ไอทีวีในยุคนั้นจึงเป็นสถานีโทรทัศน์ที่โดดเด่นในด้านรายการข่าวและสารคดีเชิงข่าว  ก่อนที่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาซื้อหุ้นของ บมจ.ไอทีวี จากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่แสดงความจำนงจะขายหุ้น หลังประสบปัญหาในการบริหารสถานีฯ ส่งผลให้พนักงานฝ่ายข่าวของสถานีฯ บางส่วนไม่เห็นด้วย และเมื่อ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าซื้อหุ้นเป็นผลสำเร็จ กลุ่มผู้บริหารและพนักงานฝ่ายข่าวบางส่วน ที่นำโดย นายเทพชัย หย่อง จึงตัดสินใจลาออกจากสถานีฯ ITV จึงปิดฉากการเป็น “ทีวีเสรี” นับแต่นั้นมา  พร้อมกับการเริ่มต้นเป็นทีวีของกลุ่มทุน “ชินคอร์ป” ที่เน้นขายรายการบันเทิงและโฆษณา  รวมทั้งการเป็นสื่อที่รับใช้อำนาจการเมือง “ชินวัตราธิปไตย” นับแต่นั้น แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องขอบคุณที่ กระบวรนการยุติธรรมของศาลปกครองท่านมีตา เวรกรรมมีจริง  ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ สปน.ลดค่าสัมปทานแก่สถานีฯ เป็นเงิน 230 ล้านบาท ตลอดจนการปรับเพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิงในผังรายการ เป็นร้อยละ 50 เท่ากับรายการข่าวและสาระ รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยโดย สปน. ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองสูงสุดก็ พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ บมจ.ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานสำหรับเช่าสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นเงิน 1,000 ล้านบาทต่อปีตามเดิม และต้องปรับเพิ่มสัดส่วนให้รายการข่าวและสาระ เป็นร้อยละ 70 ต่อรายการบันเทิง ร้อยละ 30 ตามเดิม นอกจากนี้ บมจ.ไอทีวี ยังต้องเสียค่าปรับจากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานในแต่ละปี คิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มมีการปรับผังรายการ รวมระยะเวลา 2 ปี ต่อมา14 ธันวาคม พ.ศ. 2549 นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศให้ บมจ.ไอทีวี ชำระค่าสัมปทานที่ค้างอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 2,210 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 เป็นจำนวนเงินรวม 464 ล้าน 5 แสนบาท มาชำระกับ สปน.ภายใน 45 วัน และให้ชำระค่าปรับ กรณีทำผิดสัญญาเรื่องปรับผังรายการ อีกกว่า 97,760 ล้านบาท  ซึ่งเมื่อ บมจ.     ไอทีวี ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานและคำเสียหายดังกล่าวให้กับ สปน.ได้   ที่สุดแล้ว ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีจึง มีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี ระหว่าง สปน.กับ บมจ.ไอทีวี และสั่งให้ยุติการออกอากาศ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 24.00 น(จนเกิดปรากฎการณ์ “ทีวีจอดำ”) จึงสรุปได้ว่า จุดจบของทีวีเสรีช่องนี้ เกิดขึ้นเพราะการเข้าครอบงำของกลุ่มทุนการเมือง ที่เข้ามาแล้วทำผิดเงื่อนไขการให้สัมปทาน รวมทั้งผิดต่อเจตนารมณ์การเป็นทีวีเสรี  แต่ก็ยังมีพวกยอมรับความจริงไม่ได้ กล่าวหาว่าเป็นเพราะการรัฐประหารบ้าง  เพราะเอ็นจีโอสายอำมาตย์บ้าง (รวมทั้งตัวผมเวลานั้น ที่สวมเสื้อต่อต้าน คมช. อยู่  และมองอะไรที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล คมช. เป็นเรื่องเลวร้ายไปเสียหมด) ต่อมาภายหลัง  สถานีโทรทัศน์ UHF ช่องนี้  ได้ฟื้นคืนชีพใหม่  โดยการจัดตั้งให้เป็น “ทีวีสาธารณะ” ซึ่งมีสถานะที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือ  เป็นสถานีโทรทัศน์ที่กำกับดูแลโดย “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งตามกฎหมาย มีความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ  กำหนดทิศทางโดยคณะกรรมการนโยบายที่มาจากการสรรหาโดยภาคประชาสังคม  มีงบประมาณจากภาษีสุราและยาสูบ  อิสระจากอำนาจทุนเพราะไม่ต้องพึ่งรายได้จากงบค่าเวลาโฆษณา  รวมทั้งมีการติดตามตรวจสอบการทำงานโดย “สภาผู้รับชมและรับฟังรายการ” ที่มีผู้แทนจากภาคประชาสังคมสายงานต่างๆ จากผลงานที่ผ่านมา 4 ปี ของ “ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” มีสิ่งที่ผมต้องยอมรับกันตรงๆ แม้ว่าโดยส่วนตัวผมเอง จะค่อนข้างได้รับเกียรติให้ไปร่วมเป็นวิทยากรในรายการของช่อง “สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ”(สทท.11 เดิม)บ่อยกว่าช่อง            ทีวีไทย   แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งช่องสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ และช่องทีวีอื่นๆทำไม่ได้อย่างทีวีไทย  คือการที่ทีวีไทยวันนี้ ไม่เพียงถือว่าเป็นทีวีที่ให้ความรู้ ข่าวสารสาระที่เป็นประโยชน์ ในรูปแบบที่สร้างสรรค์และฉีกกรอบเดิมๆเท่านั้น  แต่ยังถือได้ว่าเป็นทีวีที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน  เป็นสื่อแทนความทุกข์ยากในมุมมืดของสังคม  และเป็นสื่อที่ตีแผ่ความจริงในสังคมได้อย่างถึงลูกถึงคน ตรงไปตรงมา ทั้งรายการข่าว  และรายการสัมภาษณ์ต่างๆ สามารถหยิบยกประเด็นต่างๆในสังคมมานำเสนอได้อย่างรอบด้าน  และในความรู้สึกของผมที่ผูกพันกับแวดวงขบวนการสิทธิมนุษยชน  ผมต้องยอมรับเลยว่าช่องนี้มีรายการดีๆที่ผมไม่คิดว่าจะหาดูได้ในฟรีทีวีหลัก 5 ช่องได้  อย่างรายการ “สิทธิวิวาทะ”  และ “เวทีสาธารณะ” ที่ผมชอบในการเป็นทีวีสิทธิมนุษยชนที่หาดูได้ยากมาก  และดูแล้วรู้สึกว่า ไม่เป็นเพียงรายการที่เราจะฟังคนพูด แต่เราฟังแล้วได้คิด ได้ตระหนักต่อปัญหาสังคมที่รายการนำเสนอจนเรารู้สึกว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในมุมต่างๆของสังคม เป็นปัญหาร่วมของพวกเราทุกคนในสังคม หรือแม้แต่รายการละครอย่าง “หมอหงวน…แสงดาวแห่งศรัทธา”  และ “โรงงานสำราญใจ” ก็ยังเป็นละครที่สามารถให้ปัญญาแก่สังคมได้อย่างดียิ่ง (ขออภัยที่ผมอาจไม่ได้กล่าวถึงอีกหลายรายการดีๆในช่องนี้) และที่ต้องเรียกว่า  เป็นความเหนือชั้นยิ่งสำหรับทีวีไทย  คือการที่ TPBS สามารถทำให้ทีวีไทยเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง  กับการที่ส่วนงาน “สำนักทุนทางสังคม” สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในยามวิกฤตของประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตการเมืองปี 2553  ที่TPBSได้มีส่วนในการระดมเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มทำงานประเด็นปัญหา ต่างๆ รวมทั้งขบวนการการเมืองที่มีความขัดแย้งกันสุดขั้ว มาร่วมกันคิดหาทางออกให้กับประเทศไทยที่กำลังมีความขัดแย้งรุนแรงสุดๆ ซึ่งจะบอกว่าเป็นก้าวแรกแห่งการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ในเวลาต่อมาที่เป็นรูปธรรม ก็คงไม่ผิด นอกจากนี้ในวิกฤตอุทกภัยเมื่อปลายปี 2553  ก็ต้องยอมรับว่า TPBS เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมกันของขบวนการภาคประชาชนทั้งเอ็นจีโอ สายงานต่างๆ  กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม สามารถมาร่วมกันคิดจนเกิดการปฏิรูปแนวทางบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยภาคประชาชน ได้อย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จริงๆ  และในปี2554  TPBS ก็ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด “ศูนย์ประสานงานเสียงประชาชน” และทำให้การเลือกตั้งในปีนี้  มีความหมายมากกว่าแค่การไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง  แต่ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้งที่ประชาชนควรมีส่วน เป็น “เจ้าของนโยบายสาธารณะ”ของประเทศด้วย สรุปแล้ว  ทีวีไทยวันนี้ได้ทำให้ประชาชนอย่างผม  ได้รู้จักสื่อสารมวลชนที่เป็น “สื่อของมวลชน”  ที่ทำได้มากกว่าแค่การเป็นสื่อ  แต่ยังสามารถเป็นผู้ระดมทุนทางสังคมให้เกิดพลังปัญญา พลังองค์ความรู้ ที่จะร่วมกันปฏิรูปสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ก้าวข้ามออกจากแค่ในจอทีวี หรือลำโพงวิทยุ ผมจึงขอเป็นประชาชนหนึ่งเสียง  ที่อยากเรียกร้องให้ภาคประชาสังคมทุกเครือข่าย และปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง และโดยเฉพาะพี่น้องประชาชนทุกคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 รวมทั้งวิกฤตการเมือง วิกฤตสังคมต่างๆ ควรออกมาแสดงพลังร่วมกันปกป้ององค์กรTPBS และสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยให้เป็นของประชาชน  ทีวีช่องนี้ต้องเป็นของประชาชนตลอดไป พวกเราต้องไม่ยอมและยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด ที่จะให้ทีวีช่องนี้ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อ จิตวิญญาณประชาชน  และเป็นทีวีที่เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม  จักต้องถูกกระทำย่ำยีให้หายไป หรือกลับไปเป็นสื่อใต้อาณัติของกลุ่มทุนการเมือง หรือกลุ่มชั่วร้ายใดๆในสังคมอีกต่อไป

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม