Marginal in marginal (ชายขอบของชายขอบ)

21 21 Feb 2025

 

วิถีของสรรพสิ่งในโลกของการค้า มูลค่าหรือราคาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ไม่ใช่ อรรถประโยชน์ หรือคุณค่า กระแส หรือความนิยม หรือสถานะของความหมายที่ถูกสร้างขึ้น คือ ตัวกำหนดมูลค่า ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่ไม่ถูกสร้าง หรือถูกมอง จึงไม่มีราคา

 

มนุษย์เอง ก็เช่นกัน จึงทำให้สังคมมนุษย์แต่โบราณเพียรพยายาม ต่อสู้ ต่อรอง หรือช่วงชิง อำนาจ หรือ โอกาส เพื่อกำหนดสถานะตัวเอง ให้มีความสำคัญ หรือมีมูลค่า ในสังคม โลกใบนี้ไม่ได้ เคลื่อนตัวไปด้วยความสงบสุข ราบรื่น ไม่มีความพยายามเปลี่ยนแปลง กลับตรงกันข้าม คือดิ้นรน ต่อสู้ แย่งชิง รักษาไว่ซึ่งสถานะตัวเองตลอดเวลา จึงเห็นเป็นยุคใด สมัยใด ใครคือผู้ครอบครอง กำหนด ควบคุม

 

และใครคือผู้ตกหล่น สูญหาย และไร้อำนาจ !!

 

ถ้าเราเข้าใจหลักการนี้ก็เข้าใจ ภาพอีกภาพของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม คนที่ตกหล่น ไร้ซึ้งอำนาจต่อรองใดๆ จึงเรียก ชายขอบ ( ตามคำนิยามของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงหมายถึง  คนที่อยู่ห่างไกลจากสังคม หรือ ผู้ที่ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับบริการหรือความคุ้มครองจากรัฐอย่างที่คนอื่น ๆ ได้รับ )

 

ในโลกของทุนนิยม ชายขอบมีความหมายซับซ้อนกว่านั้น เพราะราคา หรือ มูลค่าเกิดจาก กระบวนการทำให้มี โดยผู้มีอำนาจหรือ ทุน นี่คือสาเหตุว่า อำนาจการทำให้มี ต้องเป็นระบอบที่เปิดกว้าง ให้สิทธิ เสรีภาพ ทุกคนทำได้ เปลี่ยนแปลงได้

 

โลกเราปัจจุบันนี้ ตลาดหรือทุน คือผู้เดียวที่กำหนด ทั้ง มูลค่าและคุณค่า ต่างๆ แทบทั้งหมด จนเราไม่อาจจะดิ้นรนได้ ตลาดบอกว่า ยางพารา มีราคาเราโค่นหรือกำจัดทุกอย่าง ปลูกยางพารา หรืออ้อย หรือมันสำปะหลัง ทุเรียน ข้าวโพด ฯลฯ พืชนอกนั้น คือ วัชพืช คือสิ่งมีชีวิตที่เกะกะ รกเรื้อ เป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของพืชหลัก ทำให้โลกเรา ณ ปัจจุบันนี้ แทบไม่เหลือความหลากหลาย ระบบนิเวศทางธรรมชาติ และมนุษย์เอง ก็กำลังกลายเป็นมนุษย์เชิงเดี่ยว มีรูปแบบชีวิต มีวิถีคล้ายๆ กัน ตื่นตี 2 ออกไปกรีดยาง กินข้าว 9 โมง นอนเที่ยงๆ จวบบ่าย เป็นชีวิตที่กำหนดอะไรไม่ได้มากนัก เป็นชายขอบของโลกแบบทุนนิยม

 

ลึกและห่างไปจากชายขอบ คือ คนที่ไม่มีแม้แต่ทรัพยากรดำรงชีพหรือ ปัจจัยการผลิต ไม่มีที่ดิน ไม่มีทุน ไม่มีทักษะฝีมือ ดำรงชีพ อยู่รอดด้วยแรงงาน รับจ้าง หรือ หาของป่าขาย ของป่าที่เหลือน้อยร่อยหรอ ของป่าที่เล็ดรอดอยู่บ้างบนพื้นที่กรรมสิทธิ์ ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้ง ต่างๆในท้องถิ่น

 

การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การบริหารประเทศ บริหารท้องถิ่น และการปกครอง ส่งเสริมเศรษฐกิจ ต่างๆ จึงต้องพัฒนาคน หรือ คัดสรร คัดเลือก อบรม สร้างทัศนคติ แนวคิด และความรู้ความเข้าใจ ต่อโลกปัจจุบันให้มาก เพราะหากละเลยก็ยิ่งผลักไส คนให้ตกหล่น จากคุณค่าความเป็นคน เป็นชายของชายขอบ ที่เลยพ้นไปจากเส้นแบ่ง “ความยากจน”  ขาดโอกาสแทบทุกอย่าง

 

จาก จากกระท้อน (พื้นเมือง) มามะขาม ลูกจัน ตะเปียงจู มะม่วงป่า จนถึง มะขามป้อม ทำให้ผมเห็น มากกว่าการซื้อผลผลิต นั่นคือ การเห็นคนจน ที่จนกว่าเส้นแบ่งความยากจน ที่ได้โอกาสเข้าถึงความหมายของคำว่าเศรษฐกิจ ที่หลายปีมานี้ หดแคบ จำกัด และขาดความสร้างสรรค์ ในการสร้างราคา มูลค่า และแตกแขนงช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างสินค้า สร้างตลาด การแลกเปลี่ยนซื้อขาย ที่ซึ่งวันนี้ มีแค่ลานรับซื้อ มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวเปลือกและโรงงานน้ำตาล เหมือนกันทุกที่ !! 

 

บ้านผม มีแค่นี้จริงๆ มีแค่นี้มา 30-40 ปีแล้ว เราจึงต้องคิด ต้องออกแบบรูปร่าง หน้าตาทางเศรษฐกิจใหม่ ทำให้หลากหลาย สร้างสรรค์ ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างสินค้า และนั่นคือหนทางให้คนออกไปจากเส้นแบ่งของความยากจน อีกทาง ครับ...

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม