ดองแร็กแก้จน (3) พันธุ์พืชแก้จน

18 05 Nov 2024

 

วันนี้ เราคนไทยกำลังเจอข่าวเศร้า คือ ผลไม้ที่กินกันเกลื่อนตลาด อย่าง องุ่นไซมัทแคส ตรวจพบเจอสารเคมีอันตรายเกินมาตรฐาน กว่า 30 ชนิด และบางชนิด เป็นยาฆ่าแมลงที่ อียู ประกาศห้ามใช้!!  ประเทศที่เป็นประเทศเกษตรกรรม แต่กลับมาซื้อผลไม้เอเลี่ยน หรือนำเข้ากิน  องุ่น สาลี่ แอปเปิ้ล พลับ ฯลฯ มีเกลื่อนทุกตลาด ทุกตรอก ซอก ซอย ชุมชน ทั่วประเทศ แต่ผลไม้ไทย หดหาย ไปจากแผงเกือบหมด เดี๋ยวนี้ บ้านเราเดินตลาด หาละมุด มะม่วงอกร่อง ฝรั่ง พุทธา น้อยหน่า มะขามเทศ ฯลฯ ที่มีขาย กลาดเกลื่อนสมัยแต่ก่อน ไม่มีแล้ว !!

 

เราจะเป็นประเทศแบบไหนกัน ผมว่า เรากำลังเป็นประเทศที่ถูกปกคลุมด้วยการ คลุมตลาด ผูกขาด และการกดขี่ภายใต้ข้อสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศที่เราเสียเปรียบ  หรือ ข้อกฎหมายที่เราเป็นทาส จากการลงนาม เซ็นสัญญา โง่ๆ ของผู้นำรัฐบาลที่ไม่เคยนึกถึงโชคชะตาประชาชน และรัฐ (ราชการ) ที่เขลา ก้มให้นายทุนผูกขาด เช่น กรณี พ.ร.บ.สุรา ที่ไม่ยอมให้ประชาชน มีสิทธิ์ มีโอกาส แปรรูป พัฒนา เป็นสุราชนิดต่างๆ ได้ตามความสามารถ

 

ผม ปวารณา ชีวิตตัวเองเรื่องการสร้างมูลค่าให้ผลไม้พื้นเมือง โดยเฉพาะ แปรรูป “ผลไม้พื้นเมือง” เป็นผลิตภัณฑ์ ต่างๆ อาทิ เครื่องดื่ม ที่หมัก บ่ม หรือ กลั่น อย่างปรานีต เป็น wine เป็น Whisky หรือ Brandy ( แผนการในอนาคต)

 

และ พยายาม ต่อต้าน หรือ โน้มน้าว ให้คนรอบตัว อย่าหลงใหลได้ปลื้ม กับพืชนอกถิ่น ( Alien species ) มากเกินไป บางทีราคา หรือมูลค่า ไม่ได้แตกต่าง หากเราสามารถแปรรูป เปลี่ยนสภาพ หรือ ดงเอาสสาร เอาคุณประโยชน์ เด่นๆ ในพืชชนิดนั้นออกมา ดังนั้น การหมัก การบ่ม การกลั่น การสกัด การแช่ เผา บด ฯลฯ ล้วนแต่สามารถให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เมื่อใส่สีสัน ใส่แพ็คเกจ รูปลักษณ์ให้ดูทันสมัย ใส่ไอเดีย งานออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้างความหมาย ที่เหมาะเฉพาะกลุ่ม  สร้างกระแส ความนิยม และใส่มือ นักการตลาด ที่เฉียบแหลม รวดเร็ว เจาะตลาดเป็น มีกลยุทธทางการค้า ที่สร้างสรรค์ ฉีกกรอบ แหวกแนว โดนใจผู้บริโภค จากพืชธรรมดา อาจจะกลายเป็นสินค้า เลิศหรู มีราคา เฉิดฉายได้

 

ผมจึงกระตือรือร้นมากกับการร่วมมือกับโครงการวิจัย พันธุ์พืชป่า ที่ชื่อ ตะเปียงจู หรือ องุ่นป่า ซึ่งนำโดยทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ภายใต้ชื่อ โครงการ ดองแร็กแก้จน ส่วนหนึ่งเพื่อปลดปล่อยคนจน คยไทย ออกจากเงาสัญญาทาส หมายถึง พันธุ์พืชเศรษฐกิจที่ปลูกหรือขายกันในท้องตลาด ล้วนแต่ถูกจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ดังนั้น การเพาะขยาย ขายต่อ จึงทำไม่ได้ มากกว่านั้น พันธุ์พืชหลายชนิดถูกออกแบบพันธุกรรม (GMO)  ให้ตอบรับ ตั้งแต่ปุ๋ย สารบำรุง ต้น ใบ ราก หัว ดอก ผล  และยา ต่างๆ ทำให้เกษตรกร ปัจจุบัน วนเวียน อยู่ในห่วงโซ่ ทาส ตามวัฏจักรของทุนนิยมอุตสาหกรรมเกษตร   ความใฝ่ฝันถึงคำว่า “แก้จน” จึงเป็นจินตภาพที่ต้องใหญ่ เข้าใจมูลเหตุว่า ทำไม คนไทย หรือ เกษตรกร (รายย่อย) อย่างชาวบ้าน ถึงจน และไม่มีทาง แก้จนได้ ?

 

เมื่อรวมกับ ต้นทุนที่แพง ค่าไถ ค่าเก็บเกี่ยว ขนส่ง ไปถึงตลาด เจอค่ากด หรือหักราคา หัก ลบ ต่างๆ ยิ่งหนัก อีกทั้ง ชีวิตเกษตรกรจนๆ ยังไงก็ต้องมาเผชิญ กับปัจจัยทางธรรมชาติ ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด พืชผลเสียหายบ่อยๆ จึงทำให้เรา ชาวบ้าน หรือเกษตรกร วนเวียนอยู่บ่วงลำบาก “โง่-จน-เจ็บ”

 

พืชพื้นเมือง เติบโตมีวิวัฒนาการ สายพันธุ์ อยู่กับธรรมชาติในพื้นที่อย่างคุ้นเคย ลูกอาจจะเล็ก แกร็น แต่กฎเกณฑ์ ธรรมชาติ ถ้ามีข้อด้อย ก็อาจจะมีข้อดี ต้านทานโรค ตายยาก หรือ ลูกเล็ก แต่ หอมฟุ้ง หรือ หวานเจี๊ยบ อาทิ กระท้อนพื้นเมือง มะขามพื้นเมือง กระเจี๊ยบพื้นเมือง เสาวรส ( โนนดินแดง) ลูกเล็ก เปรี้ยว แต่หอมมาก หรือ ตะเปียงจู ไม้ป่าพื้นถิ่นบ้านเรา  ที่มีฐานะเป็นวัชพืช ปัจจุบันกำลังวิจัย พัฒนาพันธุ์ ให้ เปลือกบาง น้ำเยอะ เปรี้ยวน้อยลงและหวานขึ้น เพื่อคั้นน้ำ มาสู่กระบวนการทำไวน์ ได้อย่างมีคุณภาพ

 

นอกจากตะเปียงจู ผมยังสนใจพืชพื้นเมืองอีกหลายชนิด ที่จะเอามาพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ มีอนาคต เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไว้เปิดตลาดในโลกสินค้า  ความยากจน (เงิน) ของคนไทย ไม่ได้น่ากลัว เท่า ยากจน สิทธิ และ โอกาส ที่จะกำหนดทางเลือกให้ตัวเอง ผมจึงบอกเหน้าที่รัฐ และนักการเมือง แทบทุกระดับไปว่า ถ้าอยากช่วยให้ไปแก้ ให้ไปหาทาง พูด เขียน เสนอ ให้แก้ “กฎหมาย พ.ร.บ.สุรา” เสีย อย่างตะเปียงจู เอามาพัฒนาเป็น Whisky หรือ Brandy บ่มให้ ปรานีต รับรอง ไทยจะเป็นแหล่งผลิตสุราชั้นดี อีกแห่งของโลก

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม