พ่อแม่ไม่สั่งสอน

27 09 Oct 2024

ครั้งหนึ่งผมเคยโต้แย้งกับเพื่อน เรื่องโรงเรียนลูกๆของเขาที่เลือกสถานที่เรียน “โคตรแพง” (เทอมละเกือบแสน) สำหรับชีวิตคนทำงานเงินเดือนต้อยต่ำอย่างเรา และผมไม่เคยเชื่อว่า ความแพง หรือความโด่งดังของโรงเรียนจะทำให้ลูกเรา มีคุณภาพกว่าลูกคนอื่นที่เรียนโรงเรียนวัด !

เมื่อวาน เด็กๆ (ลูกหลานยายจ่อย) เอาลูกตะเปียงจูมาขาย ผมชอบมาก เวลาเห็นลูกหลานใครรู้จักทำงาน หรือ หาเงิน แต่เด็กๆ ผมรักครอบครัว หรือ เด็กๆ ที่อบรมลูกหลานแบบนี้ อย่างแรกเลย สอนให้ทำงาน สอนให้รับผิดชอบ ตามระดับของวัย หุงข้าว ล้างจาน ซักผ้า เลี้ยงวัวควาย เข้าไร่ทำสวน ฯลฯ สาเหตุ ที่ผมชอบคือ อย่างแรก รู้จักกำพืดตัวเอง รู้ว่าพ่อแม่ ทุกวันทำอะไร ทำอย่างไร กว่าจะได้ข้าวปลามากิน กว่าจะได้เงินค่าเสื้อผ้าค่าเทอม รู้รสชาติ ความเหนื่อย ความหิว ความอ่อนหล้า ความท้อ และความอร่อย หรือความสุขเวลาเลิกงานได้กลับบ้าน ซะที!!

นอกจากนั้น รู้ว่า เงิน ทุกบาทกว่าจะได้มา ทำให้รู้สึกว่าจะใช้ จะซื้ออะไร คิดก่อน หรือ รู้สึกเสียดายตังค์ รู้สึกรักและหวงแหนสิ่งของ

และการเรียนในสถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนวัด สถาบันของลูกหลานคนจนๆ ข้อเสียอาจจะดาษดื่น อาทิ คลุกคลีกับลูกหลานคนชั้นล่างที่มีพฤติกรรม ถ่อยๆ กระด้างกระเดื่อง เกเร หยาบคาย ก้าวร้าว เนื่องจากอาจจะขาดการอบรม บ่มเพาะนิสัยมาแต่เด็ก และขาด “มารยาทผู้ดี” ซึ่ง เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ใช่คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับลูกหลานคนจน ความเข้มแข็ง ความอดทน ความใจสู้ชีวิตสู้คนมากกว่า ที่พ่อแม่เน้นสั่งสอน การเรียนในที่แบบนี้ ก็สอนให้ลูกรู้จักตัวเอง ให้รู้จักระมัดระวังและ ให้เห็นความจริงอีกด้านของมนุษย์ ว่า ไม่ได้มองกันที่เปลือกนอก เพราะเด็กบางคนเขาแค่ขาดการอบรม ไม่ได้ชั่วช้าหรือเลวในสันดาน !!

อีกอย่างการเรียนในวัด ในชุมชน ของตน ก็สร้างความรักความผูกพัน ความรู้จักคุ้นเคยหรือมีเพื่อนเล่นหัวกัน ในละแวกใกล้เคียง เพราะเดี๋ยวนี้ คนรุ่นใหม่ มักมีรั้วรอบขอบเขตทั้งพื้นที่กายภาพ (บ้าน) และพื้นที่ชีวิต ลูกๆจึงโตกับของเล่น เล่นคนเดียว เล่นกับพี่กับน้อง ไม่อนุญาตให้ออกจากบ้าน ไม่มีเพื่อนละแวกใกล้เคียง ไม่สนิทคุ้นเคยกะใคร สุดท้ายก็ มีแต่เพื่อนในโซเชี่ยล ก้มหน้าอยู่กับโทรศัพท์ ทั้งวัน เป็นสัตว์เลี้ยงที่ขาดภูมิต้านทาน

ผมโต้แย้งไปอีกมากมาย และพยายามบอกเพื่อนว่า “มึงก็เรียนโรงเรียนบ้านนอก ในหมู่บ้านของมึง ทำไม มึง เติบโตมาได้ ?” ทฤษฎีสถานศึกษาและวิธีการเรียการสอน การอบรมต่างๆมีผลต่อ ทัศนคติ พฤติกรรมเด็ก นั้นก็จริง แต่ไม่ใช่ว่า จะสำคัญ แค่นั้น การอบรม บ่มเพาะนิสัยของพ่อแม่ ก็มีผลไม่น้อย พ่อแม่ที่ทำแต่งาน หาแต่เงิน และใช้เงินแทนความรัก ก็จะได้ลูกที่ใช้เงิน แทนความรัก เช่นกัน

ผมจำได้ เวลาผมขอตังค์แม่ เมื่อตอนเด็กๆ ที่บ้านป่าของเรา ไม่ค่อยมีร้านค้า ไม่มีขนมขายบางวันผมได้มา 1 บาท ถือว่าเยอะมาก เพื่อนๆส่วนใหญ่ ยากจน ไม่มีเงินกันหรอก แม่ผมมักจะสั่งกำชับว่า ให้แบ่งให้เพื่อนกินด้วย ไอติม 1 แท่ง เราจึงเลียด้วยกัน 4-5 คน และกลายเป็นความผูกพัน เมื่อผมแบ่งขนม เพื่อนก็ช่วยทำของเล่นให้ผม รอผม รอแทบทุกอย่างเพราะผมเป็นคนอืดอาด ล่าช้า สมองทึบ!!

เมื่อวานผมมองแววตาหลานยายจ่อย แล้ว รู้สึกดี เหมือนเห็นตัวเอง ยายจ่อยแกขยันมากๆ ถ้าใครตื่นตีสี่ตีห้า จะเห็นยายจ่อยลากรถเข็น เก็บของขายบ้าง เก็บทางมะพร้าวเอามาเหลาขายบ้าง หรือ ขุดข่า ตะไคร้ สารพัดอย่าง มาขาย ความจน ไม่ใช่ปัญหาของการมีชีวิตที่ดี มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่ ความละเลยต่างหาก ที่ทำลูกหลานเรากลายเป็นมนุษย์ที่ป่วย ความจนไม่ได้ทำให้เราเลี้ยงลูกยาก นักหรอก เด็กๆเขาเข้าใจได้ สอนให้เขาใฝ่ดี จิตใจดี ยังไงๆ เขาก็เติบโตเป็นคนที่ดี มีครอบครัวที่ดี ไม่ใช่ รวย หรือ มีพร้อม แต่ขาดการสั่งสอน อบรมให้เข้าใจการมีชีวิต และการเป็นมนุษย์ เด็กแบบนี้ ผมเห็นมากขึ้นทุกวัน จนบางครั้งรู้สึกระอา คิดในใจตลอดว่า มึง (พ่อแม่) ก็ลำบาก ทำไมไม่สั่งสอนลูกให้รู้จักความลำบาก ให้ทำงาน ให้เข้าใจพื้นฐานชีวิต ( ว่ะ ) บ้านนอกเดี๋ยวนี้ ดาษดื่นไปด้วยเด็กเปราะบาง

...

วาบหนึ่ง ผมกลับมาคิดถึงลูกสาว เพื่อนคนนั้น... ข่าวว่า วันนี้เธอป่วยกลายเป็นโรคซึมเศร้า เสียแล้ว!!

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม