ประวัติศาสตร์ในเพลง เพลงในประวัติศาสตร์

8 20 Sep 2024

เพลงเพื่อชีวิต จริงๆ เคยเป็นศิลปะดนตรีที่มีบทบาทมากในห้วงเวลาหนึ่ง เป็นพลังทางวัฒนธรรม ที่ปลุกใจคนให้ตื่น ให้กล้าหาญ ให้จดจำ ให้มีปณิธาน หรือ สำนึกต่อเหตุการณ์ ต่ออุดมการณ์ ที่มนุษย์แน่วแน่ มั่นคง จริงๆ ผมไม่รู้หรอก ว่า จุดเริ่มจริงๆ นั้นเมื่อไหร่ จากแนวลูกทุ่ง ลูกกรุง หรือสตริง แต่แน่ใจว่า ถูกจำแนกจากเนื้อหาเป็นหาสำคัญ ที่ไม่ได้เอ่ยถึงแค่ความรัก ความเพ้อฝัน หรือโลกสวยงาม แต่เอ่ยถึงปัญหา ความเจ็บปวด ขุ่นแค้นจากความเป็นธรรม หรือจาก เน่าเฟะของสังคม การเมือง บ้างก็เพลงมนต์การเมืองของครูคำรณ สัมบุญนานนท์  คือ เพลงยุคแรก ปี 2495 ถอดภาพการเมืองยุคทหารครองเมือง คือ ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม และเพลงนี้มาดังเป็นที่รู้จักกว้างขวางในยุคแอ้ด คาราบาวเอามาร้อง

 

ยุคที่เฟื่องฟูที่สุดของเพลงเพื่อชีวิตคือ ระหว่าง 2516-2527-28 วงดนตรีเพลงเพื่อชีวิตก่อเกิดในยุคนั้นมากมาย มีบทบาททั้งเพื่อความบันเทิง สนุกสนาน สร้างฝันสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นข่าวสาร ที่สื่อออกไปในสังคม ที่โดดเด่นที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น วงคาราวาน ตามด้วย คุรุชน กรรมาชน โคมฉาย รวมฆ้อน ลูกทุ่งสัจธรรม (จากรามคำแหง) เพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้น เนื้อหาค่อนข้างหนักแน่น เข้มข้น เต็มไปด้วยราวชีวิตผู้ทุกข์ การต่อสู้ ความไม่เป็นธรรม การกดขี่ ฯลฯ

 

การเข้าใจบริบทสังคมการเมือง ก็เข้าใจเพลง เข้าใจความหมายที่สื่อสาร และเข้าใจเพลงก็เข้าใจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่เลือกสื่อผ่านเพลงเพราะมีความนิ่มนวล แยบยล ให้ความซึมซาบ แทรกลึก กินใจและทรงพลัง ด้วยทำนองไพเราะ ในสถานการณ์ที่คนไทยในยุคนั้น ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ การฟังเพลงจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่เพลงเหล่านี้บางช่วง ก็ถูกสั่งห้าม ห้ามร้อง ห้ามเล่น ห้ามเปิด การบันทึกเสียง บางช่วงบางอัลบั้มจึงทำง่ายๆ ในป่า

 

หลังสถานการณ์คลี่คลาย จากนโยบาย 66/2523 คนหนุ่มสาว รวมถึงศิลปิน นักดนตรี ทยอยออกจากป่า เพลงเพื่อชีวิต อย่างคาราวานและวงอื่นๆ จึงได้สำแดงฐานะบทเพลงอีกแนวหนึ่งซึ่งได้ความนิยมและเผยแพร่ไปทั่ว ตามด้วยวงใหม่ๆ น้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ คนด่านเกวียน คาราบาว คันไถ กรรมาชน ซูซู อินโดจีน เอราวัณ (เพลง ม.21 ) ฯลฯ ซึ่งเป็นยุคที่เพลงเพื่อชีวิตเฟื่องฟูที่สุด เนื้อสะท้อนความจริงความเจ็บปวดความโหดร้ายป่าเถื่อนของอำนาจรัฐ ที่กระทำกับประชาชน

 

สำหรับผมแล้วในช่วงทศวรรษ 2540 คือช่วงที่สูงสุดและตกต่ำที่สุด เปลี่ยนแปลง ดนตรีเพื่อชีวิตถูกโยกย้ายไปอยู่ในผับ ในบาร์เหล้า ศิลปินเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ๆ หมกมุ่นคร่ำครวญแค่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ชวนหญิงสาวไปนอนขนำ ริมหาดทราย ค่าวๆ !!

 

งานดนตรีในสวน “คิดถึงลมหนาว” จัดขึ้นในวันที่ 19 ตค. คือช่วงปลายฝน เข้าต้นหนาว พอดีตามชื่อ แต่ในอีกแง่ คือคิดถึง ห้วงยามที่บ้านเมือง ในยุคหนึ่งที่อยู่ด้วยความเหน็บหนาวหวาดกลัว อำนาจทมิฬ การจับกุม คุมขัง อุ้มฆ่า!! จากฝีมือทางการ

 

เพลงสันทรายมูล ของวงคาราวาน ที่พี่ตุ๊ก (1 ในศิลปินที่จะมาร่วมขับขานในงานดนตรี) มักนำมาร้องแทบทุกครั้ง เพลงนี้ผมฟัง ตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษา (20 กว่าปีมาแล้ว) และปวดร้าวทุกครั้งที่ได้ฟัง เพราะสันทรายมูล คือ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศนี้ที่ถูกทหาร กระทำการกวาดล้าง เผา ทำลาย ลบทิ้งออกจากแผนที่ประเทศไทย ด้วยข้อหา “ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์” ๆ

 

เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพลงที่พี่เล็ก วงดาวเหนือ ( 1 ในศิลปินที่จะมางานนี้ ) ชื่นชอบมากเพลงหนึ่ง เป็น บทเพลงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ อดีตนักคิดนักเขียน คนสำคัญคนหนึ่งของประเทศนี้ และเป็นปัญญาชนไทยที่กล้าหาญเขียน “โฉมหน้าศักดินาไทย” และ “ความเป็นมาของคำว่า สยาม ไทย ลาวและขอม ”  จิตร ภูมิศักดิ์ สร้างผลงานวิชาการสำคัญๆ ไว้มากมาย ตั้งแต่อายุยังน้อย และถูกทางการซุ่มสังหาร อย่างโหดร้าย ด้วยวัยเพียง 35 ปี ที่อำเภอวาริชภูมิ สกลนคร   เพลงนี้ คาราวานนำมาใส่ทำนองขับขาน เช่นเดิม และกลายเป็นเพลงทรงพลังสร้างปณิธาน ให้คนหนุ่มสาวตราบทุกวันนี้

 

หรือ แม้แต่ วงสะเลเต ( เป็นวงที่ 2 ที่จะเล่นในงานดนตรีในสวน “คิดถึงลมหนาว” )  สะเลเตเป็นวงดนตรีเล็กๆ กำเนิดจากทีมคนทำงานกับพี่น้องสลัม (หรือที่เรียกใหม่ว่า ชุมชนแออัด ที่อุบลราชธานี)  ที่รวมตัวกันทำดนตรี ปลุกใจสำนึกการต่อสู้ให้พี่น้องประชาชน ผมรู้จักวงสะเลเต เมื่อราวๆ 20 กว่าปีที่แล้ว ตอนทำงาน NGOs เป็นวงที่รับงานเล่นตามม็อบ ตามถนน ตามงานชุมนุมต่อสู้ของชาวบ้าน บทเพลงอันเป็นผลงานที่ควรฟัง ก็ เพลงครูครอง จันดาวงศ์ เพลงนายเตียง ศิริขันธ์ 2 นักต่อสู้ทางการเมือง อดีตเสรีไทย และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร   ที่ถูกทหารในรัฐบาลเผด็จการนำไปประหาร !!

 

เพลงเพื่อชีวิต ที่ผมสดับรับฟัง มาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว นั่นเพราะว่า เพลงเหล่านี้มีบทบาท ทั้งในฐานะเพลงให้ความบันเทิง และประวัติศาสตร์ให้เรา จดจำ เรียนรู้ และเตือนตนตระหนัก ว่า จงอย่าปล่อยให้ใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เพียงผู้เดียวในบ้านเมือง เหมือนเพลง ม.21 ของวงเอราวัณ ที่เล่าถึง กฎหมาย อำนาจนายกรัฐมนตรี สั่งฆ่าประชาชนได้โดยไม่ผ่านกระบวนการทางศาล!!

...

อันนี้ ผมเขียนเล่าเรื่องเพลง นะครับ เรื่องราวมันอาจจะดูเครียดๆ แต่ในงานจริงๆ เน้น สนุกสนานครับ ( ฮ่าๆๆ ) ผมยังกังวลอยู่ว่า  คนจะมาร่วมงานถึง 30 คน ไหม ก็ไม่เป็นไร ครับ งานนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้คนคอเดียวกันมาเจอะเจอกัน  ไม่มุ่งเน้นรายได้ จากงาน

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม