สมการเก่าทางเศรษฐกิจ

636 26 Jun 2024

เหตุผลหนึ่งที่ผมเลิกภารกิจทางเกษตร คือ ความคุ้มทุน มันเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ทุกคนรู้ เกษตรกรเองก็รู้และพยายามแก้โจทย์นี้ให้ตัวเอง แต่น้อยคนทำได้ ผมเคยนำเสนอความคิดเรื่อง ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ว่าทุกคนควรความรู้พื้นฐานเรื่องนี้ เพื่อแก้สมการตัวเองได้ อาทิ อะไรคือต้นทุน กำไร อะไรคือ ปัจจัยการผลิต ราคาของปัจจัยการผลิต อะไรคือตลาด คือ ราคาขั้นต่ำ คือมูลค่า คือคุณค่า อะไรคือ แรงงาน เครื่องจักร skill หรือ ทักษะ และอะไร คือ โอกาส ฯลฯ

 

ผมทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าวผกาอำปึล  ต้องพูดความจริงว่า ต้นทุนสูงมาก เกือบสองหมื่นบาท ต่อรอบปี ผลผลิตเต็มที่ 1.5-1.8 ตัน ตามสภาพที่ดิน และการลงทุนเรื่องปุ๋ย และความผันผวนเรื่องสภาพดินฟ้า อากาศ ฝน 1.5 ตัน ถ้าขาย ก็ราวๆ สองหมื่นนิดๆ ตีราคาที่ 12บาท / กก. นี่ถือว่าขาดทุน เมื่อคิดถึงต้นทุนแรงงานและเวลา ผมจึงแปรรูป เป็นข้าวสาร จะได้ประมาณ 800 กก.(ข้าวผกาอำปึล มีอัตราการลีบสูง ถ้าสภาพดินไม่สมบูรณ์)  เท่ากับ 800x45 บาท (ราคาข้าวกล้อง) รวมเท่า 36,000 บาท ได้กำไรมาราวๆ 10,000 บาท นี่คือ รายได้ จากการทำนาปีละครั้ง

 

การทบทวน ประเมินผลลัพธ์ และแก้โจทย์ แก้สมการทางเศรษฐศาสตร์เป็นสิ่งที่เรา หรือ ข้าราขการ หรือนักพัฒนา นักขุดทองงบประมาณราชการ จอมโปรเจกต์  หรือ นักการเมืองที่ผลักดัน กิจกรรมต่างๆที่เรียกว่า เศรษฐกิจ ต้องขบคิด มีบางกลุ่ม เอางบประมาณจากรัฐ มูลค่าหลายล้าน หรือหลายๆครั้ง ในสกุล พ่วงท้าย ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็ดี หรือ “เศรษฐกิจชุมชน” ก็ดี หรือ ทฤษฎีใหม่ ก็ตาม โดยไม่ถูกตั้งคำถามว่า คุ้มค่า หรือ  คุ้มทุน หรือไม่ ?

 

ผมเห็นแผงไฟโซล่าเซลล์ บ่อบาดาล กลาดเกลื่อน  สระน้ำ โคกหนองนา  แท็งค์ประปามหึมากลายเป็นขยะทางสายตา ตลอดสองข้างทาง   ราคาบางโครงการหลายล้าน หรือ ศูนย์เรียนรู้ รกร้าง สิ้นเปลืองทั้ง เวลาและงบประมาณ หรือ เงินกองทุน รวมๆ แต่ละที่ หลายล้าน และโครงการ พวกนี้ ก็มักจั่วหัวว่า เศรษฐกิจ ภาพแบบนี้มีทุกปี โดยไม่เห็น รูปร่าง ความเข้มแข็งยั่งยืนจริงๆจังๆ ทางเศรษฐกิจ ว่าเติบโตยังไง มีรายได้เพิ่มกี่ล้าน ต่อปี

 

ความแถกดิ้นของหน่วยงานราชการ ที่เอาเงินมาถลุงเล่นทุกปีในนาม “วิสาหกิจ” ก็ไม่น้อย วนเวียน ยัดงบเพื่อหล่อเลี้ยงคนในกลุ่มของตน เพื่อปิดรอยโหว่ความล้มเหลว ต่างๆ และลืม หรือ ไม่แยแส  คำว่า ต้นทุน กำไร ตลาด  ในมิติทางเศรษฐศาสตร์ ผมเคยไปขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำกับธนาคาร ธกส.  ผมเขียนแผนการตลาด ละเอียดยิบ ตั้งแต่ ปลูก แปรรูป จ้างงาน ทำตลาด และเส้นแบ่ง จุดคุ้มทุน ซึ่งนโยบายเงินกองทุนนี้ คือ จ้างงาน กับ แปรรูป ผลผลิต ผมถูกปฏิเสธ เพราะอำเภอ ขอเงินก้อนนี้ให้ วิสาหกิจชุมชน ผมถามผู้จัดการ ด้วยความขัดข้องใจ ว่าทำไม ? คำตอบคือ นี่เป็นโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ว่าฯ จะมาเปิดป้าย เสียดายเงินหลายล้านก้อนนั้น ผมคิดว่า ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ชำระ  นี่ถ้า DeSimone ได้นำมาขยายโรงบ่ม จัดซื้อวัตถุดิบ จ้างงานชาวบ้าน ทำตลาด ให้กว้างออกไป จะสร้างมูลค่าอีกกี่สิบล้าน ?

 

มีข้าราชการบางคน ถึงกับมากระซิบให้ผม จดทะเบียนใหม่ เป็น “วิสาหกิจชุมชน” เพื่อผันงบประมาณมาช่วย ผมปฏิเสธไป และตอบสั้นๆ ไปว่า รู้ไหมว่า ความเป็นบริษัท จ่ายภาษีมากแค่ไหน ? นั่นคือ รายได้เข้ารัฐ หมายถึง คือเงินงบประมาณกลับมาสู่ชุมชน

 

บางกิจกรรม เอาทั้งงบประมาณ ทั้งคน หมายถึงเจ้าหน้าที่  อบต. ข้าราชการในพื้นที่ ตลอดจน กลุ่มส่งเสริมสนับสนุนจาก หน่วยงานนอกพื้นที่  ต่างๆ ลงมามะรุมมะตุ้ม ผมคำนวณต้นทุน ทั้งจากงบกิจกรรม ซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย วัสดุอุปกรณ์ และคำนวณต้นทุน ค่าแรงเจ้าหน้าที่ เงินเดือน ค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหารน้ำดื่ม ต่างๆ ทั้งหมด คือ ต้นทุน ในเศรษฐศาสตร์ ที่ต้องขบคิด และดีดออกมาเทียบกับ ผลผลิตหรือ ผลลัพธ์ ที่ได้ เป็นเงิน หรือ กำไร เท่าไหร่ ต้องปลูกพริก มะเขือ ให้ได้กี่ตัน จึงจะคุ้มทุน ?

 

ไม่มีทางทำได้ ยกเว้น ว่า อธิบายไปในทิศทางสังคม ความเข้มแข็งชุมชน ความสุขของคนเฒ่าคนแก่ ทำให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ บลาๆ ก็ว่าไป ก็เข้าใจได้ แต่การลงน้ำหนักแบบนี้ ทั้งงบประมาณ คน เจ้าหน้าที่ แล้วทอดทิ้ง กลุ่มเกษตรกรที่ทำการผลิต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจริงๆ อันนี้ คือความผิดพลาด หลายหน่วยงาน ทำงานผลาญงบประมาณ ให้หมดไป แต่ละปี นานวันเข้าก็แยกส่วนจากสิ่งที่ควรทำ ไปให้ความสำคัญ กับการลงทุนที่ไม่ก่อผลทางเศรษฐกิจเลย  แต่กลับเรียกกิจกรรม ว่า โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจ  ซึ่งไม่แปลกที่ประเทศนี้ ถดถอย อ่อนแรง และสิ้นหวังลงทุกวัน เพราะรัฐลงทุนไปกับเรื่องที่ไม่คุ้มทุน  มากเกินไป หรือ ทำในสิ่งที่ขาดทุน ถ้ามองในทางเศรษฐศาสตร์ แทบทุกเรื่อง

 

 

ข้าวเปลือกโลละ 12 บาท เมื่อสีออกมาเป็นข้าวสาร ได้ราคาที่ 45 บาท สร้างมูลค่าเพิ่มถึง 4 เท่า แถม สร้างงาน คนเกี่ยว คนนวด โรงสีข้าว คนเก็บเมล็ดคัดแยกบรรจุ และ ชิปปิ้ง (บริษัท ขนส่งต่างๆ) หรือ หม่อน กก.ละ 50 บาท หมักได้ ไวน์ ได้ 2 ขวด 700 บาท สร้างมูลค่าเพิ่ม 12 เท่า !! ความอยู่รอดหรือความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ที่พร่ำเอ่ยกัน คือการต้องสร้างมูลค่าให้สินค้า ดังนั้น การใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ คุ้มทุน ไม่ใช่ถลุงเอาภาพ มาอวด หรือมาเคลมถึงสถาบันสูงส่ง ที่เชิดหน้าว่า เศรษฐกิจพอเพียง ที่ใช้เงินมากมายแลกกับภาพประเดี๋ยวประด๋าว

 

ชีวิตเกษตรกร มันเป็นวิถีวัฒนธรรม ที่เราคนชนบทเลือกที่จะดำรงอยู่ แต่วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์มันคือหัวใจ ของการอยู่รอดอย่างเข้มแข็งในโลกทุนนิยมปัจจุบัน จวบไปถึงอนาคต ถ้าเกษตรกรไม่ยอมปรับตัวเรียนรู้ ถ้าระบบราชการไม่ยอมแก้ไขวิธีคิดวิธีทำงาน ถลุงงบประมาณไปวันๆ ประเทศนี้มีแต่จม ทางรอดมีทางเดียว ฝึกตัวเองคิดเรื่อง ต้นทุน กำไร ความคุ้มทุน ในทางเศรษฐศาสตร์ให้ชิน ครับ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม