บทเรียนสื่อ บทเรียนที่สังคมไทยไม่เคยจำ

630 27 May 2024

0

 

เมื่อก่อนผมเป็นคนติดข่าว อ่านข่าวหนักมาก ตั้งแต่ช่วงเป็นนักศึกษาบางสันนี่ ยอมอดข้าวเพื่อให้ได้อ่าน นสพ.และอ่านมากกว่า หนึ่งฉบับเพื่อดูว่า สื่อแต่ละหัวสีคิดอย่างไร หรือมีท่าทีอย่างงไร วิเคราะห์ไปทางไหน ในสถานการณ์ต่างๆ อ่าน ทั้งรายวัน และรายสัปดาห์ มติชน เนชั่น สยามรัฐ สื่อคือตัวชี้วัด บรรยากาศทางการเมือง ที่ดีที่สุด การอ่านข่าวนี้เอง ที่ทำให้ผมใฝ่ฝันอยากเป็นคอลัมนิสต์ เพราะติดตามนักเขียนหลายคนแบบงอมแงม คอยแต่ทึ่งว่า เขาเอาความรู้ความคิดมากมาย หลากหลายแบบนั้นมาจากไหน ถึงเขียนได้ทุกวัน และนี่คือ เหตุผลที่ผมเขียนทุกวันในปัจจุบันนี้

 

จากนั้น ก็หันมาติดทีวี เมื่อครั้งก่อเกิด ITV ทีวีสาธารณะ สถานีแรกของประเทศ กลายเป็นความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาวสมัยนั้น คืออยากเป็นนักข่าว เป็นสื่อมวลชน ฝึกตัวเอง คิด วิเคราะห์ แยกแยะ วิพากษ์วิจารณ์ ทั้ง พูดและเขียน ฝึกแม้กระทั่ง หัดทำน้ำเสียง แบบ “อาจารย์กราบ” แบบสุทธิชัย หยุ่น

 

สื่อทีวี ขยับมามีบทบาทสูงมากในสังคมไทย แทบจะเป็นตัวชี้นำกระแสสังคมในเวลานั้น จนเกิดสถานการณ์การต่อสู้ แตกขั้วความคิด ขั้วอำนาจในสังคมไทย และการลุกขึ้นของคนไทยเพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ ชินวัตร จึงก่อเกิด สื่อที่สร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจต่อสู้ คือ ASTV อิทธิพลของ ASTV สมัยนั้น แรงถึงขนาดบ้านไหนไม่ติดจาน เจ้านี้ถือว่า ไม่รักประชาธิปไตย บางคนถึงกับคลั่งเพราะเสพติดหนักมาก

 

 วันหนึ่ง  ขณะนั่งเงียบๆ ดูทีวี อยู่ที่ บขส.พะเยา ฟังการพูดวิเคราะห์ของแกนนำ เคลื่อนไหว ฟังชุดคำถาม ของพิธีกร ที่พยายามรบเร้าให้ เข้าประเด็นสรุปว่า ทั้งหมด ระบอบทักษิณ เลว นักการเมืองเลว เลว พรรคนี้ ชั่ว ๆๆๆๆ ฯลฯ จู่ๆผมก็ถึงบางอ้อ กลับมาทบทวน เหตุการณ์ ทั้งหมดและทบทวนความคิด ความเชื่อ ความชิงชัง ที่เกิดขึ้นในใจ ในสมอง ตัวเอง ที่ฝังลึก ตามสิ่งที่มวลชน ครอบงำ ยัดเยียด ด้วยภาพด้านเดียว ด้วยข้อมูลชุดเดียว และแนวคิดแบบเดียว เราถูกปั่นหัว เราถูกครอบงำ จากสื่อมาโดยตลอด ด้วยความยินยอมไว้ใจและชอบใจ  ใช่ครับ “เราชอบใจกับความ นำเสนอคอนเท้นต์ แรงๆ แบบสะใจ เราเสพความสะใจ และเราเอง ก็มีส่วนสร้างแบบนี้ เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ในเวลานี้

 

ผมหันหลังให้การเสพสื่อแต่นั้นมา !!!

เกือบ ๒๐ ปีแล้ว ที่ไม่ดูทีวีเลย หนังสือพิมพ์ก็ไม่ค่อยได้อ่าน แต่ถ้าให้ไว้ใจหน่อย ผมยังเลือกหนังสือพิมพ์ ให้ความระแวงน้อยกว่า และวันนี้ ผมยังเห็นสังคมไทย เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาตามแรงสื่ออยู่ไม่น้อย แต่เบาบางลวเพราะพลังของโซเชี่ยล สามารถตรวจสอบ นำมาแชร์ มาวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสังคมที่ยังพอถ่วงดุล ข้อมูล ความคิด และกระแสที่ปลุกปั่นกัน

 

บทเรียนสำคัญมาก จากยุค ASTV คือ สังคมไทย ไว้ใจสื่อเกินไป และคล้อยตาม มีอารมณ์ร่วมรวดเร็ว รุนแรง แบบขาดสติ หลายครั้ง แทบจะออกมาฆ่ากันเอง ในห้วงการปะทะกันของคน เสื้อแดง เสื้อเหลือง ความลำเอียง เอนข้าง ความใส่ร้ายป้ายสี ปลุกปั่น กลายเป็นเรื่องปกติของคนทำสื่อ ทั้ง อัมรินทร์ ท็อปนิวส์ และ ว๊อยซ์ ทีวี

 

ฉะนั้น หากมองในแง่การต่อสู้ การสร้างบรรยากาศ ประชาธิปไตย ในยุคที่สื่อ ไม่สนใจความเป็นกลาง แต่ทุ่มโถมปลุกปั่นความคิดในสังคม ดึงกระแสสังคมมาเข้าข้าง โจมตีทำลายกันอย่างไร้มนุษยธรรม การมีสื่อของฝ่ายต่างๆ ผมเห็นด้วยว่าควรมี เพื่อถ่วงดุล ข้อมูลข่าวสาร แต่สังคมก็ต้องเข้าใจตระหนัก และ เสพเป็น ไม่ใช่เชื่อตาม... แบบฝังหัว แต่สื่อแบบนี้ เกิดดับตามภารกิจ ไม่มีค่าแก่การรักษาไว้ครับ ส่วนสื่อไหนวางตัวเป็นกลาง ให้ข้อมูลรอบด้าน ให้อิสรภาพนักข่าว นักเขียน รายงานข่าว ตรงไปตรงมา อย่างหลากหลายแง่มุม สื่อแบบนั้นก็ควรรักษาไว้

 

เพราะเสรีภาพสื่อ ก็คือ อีกภาคหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ครับ 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม