เบ้าหลอม

571 27 May 2024

(ขอบคุณ รูปภาพจาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=1480556881992024&set=pcb.1480557168658662&locale=th_TH )

เมื่อวานสนทนากับเพื่อนคนหนึ่ง นางกลับบ้านที่อีสาน และบ่นว่า ไม่ได้พักผ่อน อย่างที่ตั้งใจเพราะกิจกรรมชีวิต ในครอบครัวเครือญาติเยอะมาก ชีวิตนางเติบโตที่อื่นมาทั้งชีวิต บวกกับความเป็นหญิงด้วย จึงเหมือนมีภาระซ้อนๆ เยอะมาก ตั้งแต่ตื่นเช้าต้องตักบาตรทำบุญ ยาวไปทั้งวัน แถมมี ทั้งเรื่องร้อน ฝุ่นเต็มบ้าน บ้านสกปรก ขยะ ฯลฯ ผมฟังแล้วอึ้ง ไปพักหนึ่ง ผมเข้าใจสิ่งที่นางพูด ทั้งหมด มองเห็นภาพ และเห็นใจมากๆ และตอบสั้นๆ ว่า นี่แหละเบ้าหลอม สร้างคนชนบทอีสานให้ทรหด แกร่ง และสู้ชีวิต

 

ผมเลยเล่า ครั้งเมื่อผมพาคนรักเข้ามาร่วมชีวิต ผมบอกนางแต่วันแรกเลยว่า อะไรที่ ทำไม่ไหว ไม่ต้องทำ อาทิ บ้านเรือน เพราะบ้านนอกลมแรง ฝุ่นฟุ้ง และบ้านเรือนเราเป็นเปิด ไม่ได้ปิดมิดชิด เพื่อให้ลมถ่ายเท เพราะถ้าปิดมิดชิด ต้องติดแอร์ เราไม่มีฐานะจ่ายได้ และผม ไม่ปรารถนาให้เพศหญิงเป็นทาสในเรือน ผมทะเลาะกับแม่บ่อย เพราะนางมักบ่น ว่า บ้านเรือนถ้วยชาม จาน ช้อน หม้อไห ไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบ

 

จินตภาพบ้านเรือน ที่สะอาดสะอ้าน เพราะคนแต่ก่อน มีเวลามาก แต่ ความจริงคือ เรือนชานแบบนั้น เป็นเรือนเจ้าขุนมูลนาย เป็นเรือนที่มีไพร่ ทาส บริวารคอยทำ คอยรับใช้ ครอบครัวไพร่ หรือ ชาวนาชาวบ้าน คนจนๆ อย่างเรา ตื่นมาก็หุงหาอาหาร กินเสร็จก็ออกไปทำงานดิ้นรน กลับมามืดค่ำ รีบกินรีบนอน ทำช่วยกันทั้งผัวทั้งเมีย ไม่มีเวลา ใส่ใจจัดบ้านจัดเรือน ให้สะอาดสะอ้านมากนัก ฉะนั้น บ้านใครที่ทำได้ ผมมักชื่นชม แต่ถ้าทำไม่ได้ ผมก็ไม่ตำหนิ การตำหนิ เรื่องเรือนชาน มาจากคนที่มีอันจะกิน มาจากชาติอาณานิคม ที่มาเห็นคนพื้นเมือง แล้วรังเกียจ มองว่าสกปรก น่ารังเกียจ เราก็พยายามดูแคลน อวดกัน เหยียดกันเรื่องความสะอาด   และไปลงที่เพศหญิง

ชีวิตคนจน แค่ทำให้พอมีกิน มีใช้ ไม่ขัดสนเวทนา ไม่ดูน่าเวทนา ก็เหนื่อยมากแล้ว ยิ่งปัจจุบัน ยิ่งหนัก แถมวัฒนธรรมอีสาน ๔๐ -๕๐ ปีมานี้ แข่งขันกัน อวดกัน เรื่อง บ้านเรือนหลังใหญ่ แต่ขนาดครอบครัวเล็กลง เครือญาติน้อย ทำให้เกิดภาระ ในบ้านคือ งานทำความสะอาด ตอนอายุหนุ่มสาวคล่องตัว ก็ทำไหว เดินขึ้นบันไดคล่อง แต่เมื่ออายุมากๆ หรือ ภาระเยอะๆ ไหนจะงาน ไหนจะลูกๆ วุ่นวายมาก ทั้งวัน งานบ้านเรือนก็หดหายไป บ้านหลังใหญ่ในอีสาน เกือบทั้งหมดจึงคล้ายกัน คือ นอน หรือ ใช้ชีวิต แค่ชั้นล่าง กับในครัว

 

ผมเลยบอกนางไปว่า นี่คือ อีสานในอีกมิติหนึ่ง ที่เธอเห็น แต่รู้ไหม เด็กที่เติบโตมากับสภาพครอบครัว สังคมแบบนี้ ในแง่ดีคือ เขาแข็งแกร่ง สู้งาน สู้ชีวิต ไม่งอแงฟูมฟาย เรียกร้อง ไร้สาระ และเล่าเรื่องเศร้าให้นางฟังว่า คนรักของผมเธอก็จากไปด้วยเหตุผลนี้แหละ คือ อยู่ไม่ได้ กับคน กับสภาพแวดล้อม และผมก็ไม่เหนี่ยวรั้งเธอเลย เพราะที่นี่ เหมาะสำหรับคนที่ เข้าใจ และสู้ กับการมีชีวิต ยามร้อนก็ร้อนแทบคลั่ง ครายามหนาวก็หนาวแทบบ้า เมื่อฝนมาก็แฉะชื้นอบอ้าว ทั้งยุง แมลง นานาสัตว์ คนที่โตมากับ ความสบาย ฉ่ำในห้องแอร์ ไม่มีวิบากกรรมกับฤดูกาล จึงอยู่ยาก แต่.. เราอยากจะให้ ลูกหลานเราเติบโต แบบไหน ?  (ผมถามนาง)

 

วิถีชีวิต บ้าน เครือญาติ ชุมชน สิ่งแวดล้อมรอบตัว พิธีกรรม ความเชื่อ ประเพณี และ ศาสนา รวมถึง ตำแหน่งแห่งหนในสังคม หรือ  พื้นที่ชีวิต(Space)   คือเบ้าหลอมสำคัญ ในการสร้างเด็ก หรือหล่อหลอม ความเป็นมนุษย์ นตัวเด็กๆ ให้ค่อยเติบโต หมือนเหล็ก ถ้าเราเคี่ยวเข็ญ เคี่ยวกรำ ก็จะได้เหล็กเนื้อดี
 

วันนี้ ไม่ใช่เรื่องเด็กที่อื่น ติดสบาย แต่หมายถึง เด็กอีสาน ลูกหลานชนบทเอง ก็เป็นกันมาก ติดสบาย ถูกเลี้ยงมาแบบ ปรนเปรอให้ทุกอย่าง แม้ว่าจะยาก หาเช้ากินค่ำ แต่ก็ประเคนให้แทบทุกอย่าง เราจึงได้เด็ก ได้คนหนุ่มสาว ได้คนที่กำลังเป็นผู้ใหญ่ ที่เปราะบาง อ่อนแอ เรียกร้องสูง และไม่อดทน กับอะไรเลย ออกไปผจญข้างนอกไม่ได้ อยู่ก็ไม่ฝึกฝน ทนทำ เรากำลังพ่ายแพ้ไปทั้งสังคม เพียงเพราะเราทิ้งเบ้าหลอมสำคัญ

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม