698 27 May 2023
แอมเนสตี้เรียกร้องทางการลาวสอบสวนการยิงสังหาร ‘แจ็ค’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนวัย 25 ปี โดยทันที
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการลาวเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ยิงสังหาร “แจ็ค” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเลือดเย็น โดยเขาถูกยิง ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่งเมื่อสองวันก่อนและเสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
อานุซา “แจ็ค” หลวงสุพม อายุ 25 ปี ได้โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในลาว และมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากในสื่อโซเชียล เขาถูกยิงสองนัดโดยบุคคลซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา
โจ ฟรีแมน รักษาการรองผู้อำนวยการระดับภูมิภาคด้านการสื่อสารประจำแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าทางการลาวต้องดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ครบถ้วนรอบด้าน เป็นอิสระ และเป็นกลาง ต่อเหตุการณ์การสังหารอันเป็นที่น่าสะเทือนขวัญของนักกิจกรรมเยาวชนที่กล้าออกมาพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในลาว ไม่ควรมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนใดถูกฆ่าเพียงเพราะการทำงานของเขา
แจ็คเป็นผู้วิจารณ์การเมืองและสังคมลาวอย่างแหลมคม เขาทำเพจเฟซบุ๊กสองเพจ โดยมีชื่อเป็นคำแปลภาษาไทยว่า “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” และ “สทล. - สาธารณรัฐ” ทั้งสองเพจนี้เผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยรวมไปถึงปัญหามลพิษฝุ่นควันในลาว สิทธิมนุษยชนของเด็กนักเรียน และสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พูดคุยกับเพื่อนนักกิจกรรมสองคนของแจ็ค ซึ่งบอกว่าการยิงสังหารครั้งนี้ ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นและส่งผลให้ประชาชนลาวรู้สึกเกรงกลัวที่จะแสดงความเห็นที่แหลมคมเกี่ยวกับปัญหาสังคมยิ่งขึ้นไปอีก
“ผมสะเทือนใจอย่างมากกับการเสียชีวิตครั้งนี้ และก็กลัวมากว่า อาจจะเกิดอะไรขึ้นกับผมด้วย” หนึ่งในเพื่อนนักกิจกรรมที่ทำงานกับแจ็ค เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟัง
เพื่อนคนดังกล่าว ซึ่งไม่ประสงค์จะระบุชื่อด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย บอกว่า เขาไม่ได้ไปเยี่ยมแจ็คที่โรงพยาบาลเพราะกลัวจะตกเป็นเป้าสอดแนมของทางการ เขากังวลว่ากำลังตกเป็นเป้า หากทางการพบว่าเขาเป็นเพื่อนของแจ็ค
“ผมนอนไม่หลับเลยในช่วงสองคืนที่ผ่านมา กลัวจนทำอะไรไม่ถูก ช่วงนี้ผมคงจะต้องหยุดการเคลื่อนไหวสักพักหนึ่ง” เขากล่าวเสริม
คลิปเหตุการณ์ยิงสังหาร ถูกเผยแพร่ตามรายงานข่าวของ ลาวพัดทะนาเดลินิวส์ สื่อซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับทางการลาว และได้รับการแชร์อย่างกว้างขวางในบรรดาผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จวบจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม ทางการลาวยังไม่ได้ระบุตัวผู้ก่อเหตุ แม้จะมีคลิปวิดีโอเป็นหลักฐาน
ลาวเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิต ตามข้อ 6 และสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกตามข้อ 19 อย่างไรก็ดี รัฐบาลลาวยังคงควบคุมสื่อมวลชนเกือบทั้งหมด และที่ผ่านมา ลาวมีประวัติของการปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน
“ประชาคมนานาชาติ และหน่วยงานของสหประชาชาติ ต้องเรียกร้องให้ทางการลาวรับประกันให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โจ ฟรีแมนกล่าว
ข้อมูลพื้นฐาน
แจ็ค เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงในลาว เพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่า 41,000 คน ส่วนเพจ ”สทล.-สาธารณรัฐ” มีผู้ติดตามกว่า 6,800 คน
การเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระและการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในลาว เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง และปรากฏกรณีการทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนบางกรณี ซึ่งไม่ได้รับการคลี่คลายแม้จะผ่านไปหลายปี ในวันที่ 15 ธันวาคม 2555 สมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคม ถูกบังคับสูญหายเข้าไปในรถกระบะของบุคคลซึ่งระบุตัวตนมิได้ หลังถูกตำรวจเรียกให้หยุดตรวจที่เวียงจันทน์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือได้รับข่าวสารจากเขาอีกเลย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้บันทึกข้อมูล การจับกุมสามนักสิทธิมนุษยชนชาวลาว รวมทั้งสุกาน ชัยทัด สมพอน พิมมะสอน และหลอดคำ ทำมะวง ในเดือนมีนาคม 2559 หลังจากพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบที่ด้านนอกของสถานเอกอัครราชทูตลาวที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 พวกเขายังได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก วิจารณ์รัฐบาลลาวเกี่ยวกับปัญหาการทุจริต การตัดไม้ทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อมาพวกเขาทั้งสามคนได้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ถึง 20 ปี ภายหลังการพิจารณาคดีลับเมื่อเดือนเมษายน 2560 ภายหลังศาลมีคำพิพากษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านี้โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
ในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 อ๊อด ไชยะวง อดีตสมาชิกกลุ่ม 'ลาวเสรี' ซึ่งเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชน การทุจริต และปัญหาสิ่งแวดล้อมในลาว ได้หายตัวไปจากบ้านที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น เขาอยู่ระหว่างการลี้ภัยในประเทศไทย และเพิ่งจะเข้าพบกับผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนสุดโต่งและสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ก่อนที่ผู้รายงานพิเศษจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นทางการต่อไป ณ ประเทศลาว ในเดือนกันยายน 2565 เลขาธิการองค์การสหประชาชาติชี้ว่า การหายตัวไปของอ๊อด อาจเป็นการตอบโต้เอาคืนจากการที่เขาให้ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม