463 08 Apr 2023
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงทั่วโลกมักนำกระสุนยางและพลาสติกมาใช้อย่างมิชอบ รวมทั้งการใช้อาวุธเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างโหดร้าย และเรียกร้องให้มีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการใช้งาน และให้มีสนธิสัญญาระดับโลกเพื่อควบคุมการค้าที่เกี่ยวข้อง
รายงานชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ที่เป็นการตีพิมพ์ร่วมระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนบกับมูลนิธิโอเมกา ที่เก็บข้อมูลจากงานวิจัยในกว่า 30 ประเทศในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยเก็บบันทึกข้อมูลจากผู้ชุมนุมประท้วงและผู้อยู่โดยรอบหลายพันคนที่ได้รับบาดเจ็บ และอีกหลายสิบคนที่เสียชีวิตจากการใช้อาวุธเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่มีความร้ายแรงต่ำ อย่างไม่บันยะบันยังและไม่ได้สัดส่วน รวมทั้งการใช้กระสุนจลนศาสตร์ (Kinetic Impact Projectiles - KIPs) เช่น กระสุนยาง และการยิงกระสุนลูกปรายใหญ่หุ้มยาง (rubberized buckshot) และระเบิดแก๊สน้ำตาที่เล็งและยิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงโดยตรง
แพทริก วิลเคน นักวิจัยด้านการทหาร ความมั่นคงและการควบคุมมวลชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า “เราเชื่อว่า มาตรการควบคุมระดับโลกที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อการผลิตและการค้าอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำ รวมทั้งกระสุนจลนศาสตร์ และแนวปฏิบัติที่เป็นผลในการใช้กำลัง เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ มูลนิธิโอเมกา เป็นส่วนหนึ่งใน 30 องค์กรที่เรียกร้องให้มี สนธิสัญญาการค้าที่ปลอดจากการทรมานที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ เพื่อห้ามการผลิตและการค้ากระสุนจลนศาสตร์ และอาวุธเพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิโดยพื้นฐาน และให้นำมาตรการควบคุมการค้าตามกรอบสิทธิมนุษยชนมาใช้ เพื่อควบคุมการจัดส่งอุปกรณ์การบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งกระสุนยางและพลาสติก
นายแพทย์ ไมเคิล ครอลีย์ ผู้ช่วยวิจัยที่ มูลนิธิโอเมกา เปิดเผยว่า “สนธิสัญญาการค้าที่ปลอดจากการทรมานจะเป็นข้อห้ามต่อการผลิตและการค้าใดๆ ของอาวุธและอุปกรณ์เพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิโดยพื้นฐาน รวมทั้งกระสุนจลนศาสตร์แบบยิงทีละนัด ที่โดยพื้นฐานมีอันตรายหรือไม่แม่นยำ กระสุนโลหะหุ้มยาง (rubber-coated metal bullets) กระสุนลูกปรายใหญ่หุ้มยาง และเครื่องยิงแบบหลายลำกล้อง (multiple projectiles) ซึ่งทำให้เกิดการตาบอด และอาการบาดเจ็บร้ายแรงและการเสียชีวิตทั่วโลก”
การใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำอย่างมิชอบทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงทั่วโลก
อาวุธเหล่านี้ทำให้เกิดความพิการถาวรในหลายร้อยกรณี และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งอาการลูกตาแตก จอประสาทตาลอก การสูญเสียการมองเห็นอย่างสิ้นเชิง และการร้าวของกระดูกและกะโหลกศีรษะ การบาดเจ็บที่สมอง การฉีกขาดของอวัยวะภายใน และเลือดออกภายในร่างกาย ซี่โครงที่แตกและทิ่มแทงหัวใจและปอด ความเสียหายต่ออวัยวะเพศ และความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ
จากการประเมินของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของชิลี การปฏิบัติงานของตำรวจระหว่างการชุมนุมประท้วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตากว่า 440 ครั้ง ทำให้สูญเสียดวงตาหรือลูกตาแตกกว่า 30 คน มีอย่างน้อย 53 คนที่เสียชีวิตจากกระสุนที่เจ้าหน้าที่ยิงใส่ จากการศึกษางานวิจัยทางการแพทย์ในระหว่างปี 2533 ถึงเดือนมิถุนายน 2560 ทั้งยังสรุปว่า จากผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,984 คน มีผู้พิการถาวรมากถึง 300 คน โดยจำนวนที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก
นับแต่นั้นมา ความแพร่หลาย ประเภท และการใช้งานของกระสุนจลนศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้มีการใช้รูปแบบทางทหารมากขึ้นเพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วง รายงานยังพบว่า แนวปฏิบัติระดับประเทศเพื่อควบคุมการใช้กระสุนจลนศาสตร์ มักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้กำลัง ซึ่งระบุว่า การนำอาวุธเหล่านี้มาใช้จะต้องใช้งานเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น กล่าวคือเมื่อบุคคลที่รุนแรงเป็นภัยคุกคามอย่างเร่งด่วน และอาจทำอันตรายต่อบุคคลอื่น ตำรวจมักละเมิดระเบียบปฏิบัติเหล่านี้โดยไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
ในเดือนเมษายน 2564 เลดี คาเดนา ตอร์เรส ซึ่งขณะนั้นอายุ 22 ปี กำลังเดินไปในที่ชุมนุมเพื่อต่อต้านการปฏิรูปภาษีที่กรุงโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย เป็นจังหวะที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางใส่หน้าของเธอในระยะประชิด ทำให้เสียดวงตาไปข้างหนึ่ง
“ตอนนั้นฉันยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงได้เอาโทรศัพท์ออกมาถ่ายรูปตัวเองไว้ แต่มองไม่เห็น” เธอบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
“พวกเขาพยายามทำให้เรามีอาการบาดเจ็บที่เห็นได้ชัด เช่น การสูญเสียดวงตา เพื่อขู่ให้คนกลัว ทำให้พวกเขาไม่กล้าออกมา [และมาชุมนุมประท้วง]”
การตาบอดของเลดี คาเดนา ตอร์เรสกลายเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนน่าตกใจ โดยเกิดขึ้นในพฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันในประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และสหรัฐอเมริกา ระหว่างการชุมนุมประท้วงช่วงที่ผ่านมาและในปัจจุบัน
กุสตาโว กาติกา นักศึกษาจิตวิทยาวัย 22 ปี สูญเสียการมองเห็นในตาทั้งสองข้าง เพราะถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนโลหะหุ้มด้วยยางที่ใบหน้า ระหว่างการชุมนุมประท้วงความไม่เท่าเทียมในกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครต้องรับผิดจากการกระทำนี้ เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ผมรู้สึกเหมือนมีน้ำไหลออกมาจากตา.....แต่ความจริงมันคือเลือด” เขาหวังว่าการบาดเจ็บของเขาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนี้กับคนอื่นอีก เขาบอกว่า “ผมยอมสละดวงตาเพื่อให้คนอื่นตื่นขึ้นมา”
ในสหรัฐอเมริกา การใช้กระสุนยางเพื่อปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เป็นสิ่งที่เกิดเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเรื่องทั่วไป ผู้ชุมนุมประท้วงคนหนึ่งถูกยิงที่ใบหน้าที่เมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “ลูกตาผมแตกจากกระแทกของกระสุนยาง จมูกผมเลื่อนออกมาจากตำแหน่งเดิมมาที่บริเวณใต้ตาอีกข้าง คืนแรกที่นอนโรงพยาบาล พวกเขาพยายามรวบรวมชิ้นส่วนดวงตาของผมและเย็บเข้าด้วยกัน จากนั้นพวกเขาก็ขยับจมูกของผมกลับไปที่เดิมและซ่อมจมูกใหม่ พวกเขาใส่ตาเทียมให้ผมแทน ทำให้ปัจจุบันผมมองเห็นจากดวงตาข้างขวาเท่านั้น” ในสเปน การใช้กระสุนยางจลนศาสตร์ขนาดลูกเทนนิสซึ่งอันตรายโดยตัวมันเองและมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งคนจากการถูกยิงที่ศีรษะ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 24 คน มี 11 คนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ดวงตา ตามข้อมูลของกลุ่มรณรงค์ Stop Balas de Goma ที่ฝรั่งเศส จากการตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย 21 คนที่ได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าและดวงตาจากกระสุนยาง พบอาการบาดเจ็บร้ายแรง รวมทั้งแตกเป็นชิ้น ร้าว และแตกหักของกระดูก อันเป็นผลทำให้ตาบอด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังบันทึกข้อมูลการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตา ซึ่งเล็งและยิงใส่โดยตรงต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส กาซา กินี ฮ่องกง อิหร่าน อิรัก เปรู ซูดาน ตูนิเซีย และเวเนซุเอลา
ในอิรัก กองกำลังความมั่นคงจงใจยิงระเบิดแบบพิเศษที่มีน้ำหนักมากกว่าระเบิดแก๊สน้ำตาทั่วไป 10 เท่าใส่ผู้ชุมนุมประท้วง ทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรง และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยกว่า 20 คน เมื่อปี 2565 ที่ตูนิเซีย ชายอายุ 21 ปี เฮย์กัล รัชดี เสียชีวิตหลังถูกยิงด้วยกระบอกแก๊สน้ำตาที่ศีรษะเมื่อเดือนมกราคม 2564
ในโคลอมเบีย กองกำลังความมั่นคงได้ใช้ระบบยิงกระสุนวิถีโค้งแบบหลายนัน 30 ลำกล้อง ที่ชื่อว่า VENOM ที่เดิมจัดทำขึ้นสำหรับการใช้งานของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ ฯ เพื่อยิงระเบิดแก๊สน้ำตาครั้งละหลายลูกใส่ผู้ชุมนุมประท้วง
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม