832 08 Apr 2023
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ทำบุญภูทับฟ้า ภูซำป่าบอน และภูเหล็ก ครั้งที่ 14 ประกาศ การฟื้นฟูเหมืองทองคำกับอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ฯ เป็นของประชาชน ไม่ควรตกอยู่ในความรับผิดชอบของอำนาจรัฐรวมศูนย์
28 ก.พ. 66 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย จัดกิจกรรมทำบุญ “งานบุญภูทับฟ้า ภูซำป่าบอน และภูเหล็ก”ครั้งที่ 14/2 ณ ประตูแดงทางเข้าออกเหมืองแร่ทองคำ บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมและเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ระลึกถึงบุญคุณของภูเขา แหล่งต้นน้ำลำธาร ป่าไม้ของชุมชน ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต วิถีชีวิต และอาชีพเกษตรกร ย้ำเจตนารมณ์ของกลุ่มว่ายังคงยืนหยัดต่อสู้จนกว่าพื้นที่จะปราศจากสารมลพิษจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 66 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ได้จัดกิจกรรม “งานบุญภูทับฟ้า ภูซำป่าบอน และภูเหล็ก” ครั้งที่ 14/1 ที่บ้านกกสะทอน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้เริ่มขึ้นในเวลา 07.00 น. ด้วยการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป ซึ่งได้มีทั้งผู้เฒ่าผู้แก่และคนหนุ่มสาวมาร่วมกิจกรรมพร้อมนำข้าวปลาอาหารมารวมทำบุญถวายให้พระสงฆ์ ระหว่างที่รับประทานอาหารร่วมกันตัวแทนกุล่มได้พูดคุยอัพเดทสถานการณ์ในปัจจุบัน ว่ากำลังอยู่ระหว่างการประกาศขายสินทรัพย์ในส่วนของ อาหารโรงงาน เครื่องจักร ถังใส่สารเคมี และทรัพย์สินภายในโรงงาน และอยู่ในขั้นตอนกระบวนการพูดคุยเรื่องแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หลังจากนั้นก็ได้ประกอบพิธีพราหมณ์และร่วมกันอ่านแถลงการณ์ที่ระบุใจความสำคัญว่า ขณะที่องค์กรสหประชาชาติประกาศให้ปี 2564-2573 เป็นทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยเรียกร้องให้รัฐและภาคเอกชนประเทศต่าง ๆ เพิ่มการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ หยุดยั้งหายนะจากอุณหภูมิโลกร้อน ที่จะส่งผลให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ล้มเหลว ทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ได้เริ่มฟื้นฟูเหมืองทองคำโดยปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตังเองตั้งแต่ปี 2556 หลังจากที่ปิดเหมืองด้วยตัวเองสำเร็จ แต่ในส่วนของผลกระทบจากสารมลพิษนั้นต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐและบริษัทเจ้าของเหมือง
แนวคิดสำคัญที่จะไปถึงเป้าหมาย คือการให้ความสำคัญว่าทรัพยากรแร่และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เป็นของประชาชน ไม่ใช่อำนาจรัฐรวมศูนย์ และการฟื้นฟูเหมืองก็เช่นกันจะต้องให้ความสำคัญกับหลักการที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ
แนวทางนี้เท่านั้นถึงจะให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และลดโลกร้อนได้สำเร็จอย่างแท้จริง
//////////
แถลงการณ์
บุญภูทับฟ้า ภูซำป่าบอนและภูเหล็ก ครั้งที่ 14/2
สหประชาชาติประกาศให้ปี 2564 - 2573 เป็นทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อต่อสู้กับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่ถูกทำลายลงอย่างรุนแรง
โดยเรียกร้องให้รัฐและภาคเอกชนประเทศต่าง ๆ มีความพยายามเพิ่มขึ้นในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ มิเช่นนั้นจะไม่สามารถหยุดยั้งหายนะจากอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นได้เลย ซึ่งจะลุกลามบานปลายไปที่เรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ความแห้งแล้ง ซึ่งจะส่งผลให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ทั้ง 17 เป้าหมายล้มเหลวอย่างยั่งยืน
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้เริ่มทำการฟื้นฟูเหมืองทองคำโดยปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองมาตั้งแต่ปี 2556 จากการที่เราปิดเหมืองด้วยสองมือสองตีนของเราเอง ไม่สามารถพึ่งพารัฐได้ แต่ในส่วนที่เป็นผลกระทบจากสารพิษจักต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐและบริษัทเจ้าของเหมือง ซึ่งยังไม่เห็นความคืบหน้าใด ๆ ที่จะแสดงความรับผิดชอบ
เหตุที่ไม่คืบหน้าก็เพราะ หนึ่ง-เจ้าของเหมืองตัวจริง คือ บริษัท ทุ่งคา ฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่เน้นการขายทองคำเทียมด้วยการปั่นหุ้นมากกว่าการผลิตทองคำแท้ ได้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นมาให้รับผิดชอบการทำเหมืองทองคำโดยตรง จนทำให้ทุ่งคำต้องล้มละลายแทนทุ่งคาฯ ไม่มีเงินฟื้นฟูเหมืองตามคำพิพากษาของศาล และเพื่อที่ทุ่งคาฯอยู่รอดต่อไปได้ในตลาดหลักทรัพย์
และสอง-ส่วนราชการ คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่ต้องรับผิดชอบการฟื้นฟูแทนผู้ประกอบการ ในฐานะที่เป็นผู้อนุญาตให้เกิดการทำเหมืองขึ้น พยายามดึงอำนาจการฟื้นฟู หรือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ออกไปจากประชาชนในพื้นที่ เหมือนที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ทำกับพี่น้องประชาชนในกรณีการฟื้นฟูลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้จากสารพิษตะกั่วที่เกิดจากการทำเหมืองตะกั่ว
จึงทำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านยอมไม่ได้ เหตุเพราะว่ารากฐานความคิดที่ทำให้เราลุกขึ้นมาสู้เหมืองก็เพราะเราเห็นว่าทรัพยากรแร่ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อาทิ ดิน น้ำ ป่า อากาศ เป็นของประชาชน มิควรเป็นของอำนาจรัฐรวมศูนย์ การฟื้นฟูเหมืองก็เช่นเดียวกัน จะต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเหมืองด้วยหลักการที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การฟื้นฟูเหมืองทองคำที่นี่ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำจัดสารพิษและการปรับสภาพพื้นที่ให้กลับคืนธรรมชาติเดิมที่สุดเป็นไปด้วยความล่าช้า ยกเว้นในส่วนที่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองค่อนข้างเกิดผลดี เหตุเพราะว่า กพร. ต้องการฟื้นฟูเหมืองโดยดึงอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ออกไปจากมือประชาชนเจ้าของพื้นที่
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดขอประกาศว่า การฟื้นฟูเหมืองทองคำกับอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เป็นของประชาชนนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แยกออกจากกันมิได้ มิควรตกอยู่ในความรับผิดชอบของอำนาจรัฐรวมศูนย์
ด้วยแนวทางนี้เท่านั้นถึงจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติได้อย่างประสบผลสำเร็จ ด้วยแนวทางนี้เท่านั้นถึงจะทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ทั้ง 17 เป้าหมายประสบผลสำเร็จ และด้วยแนวทางนี้เท่านั้นถึงจะลดโลกร้อนได้สำเร็จ เพราะเป็นแนวทางที่บังคับให้รัฐและบรรษัทต่าง ๆ ต้องลดมลพิษคาร์บอนจากแหล่งกำเนิด มิใช่อาศัยอำนาจบังคับแผ่นดินประเทศอื่นเสมือนว่าเป็นอาณานิคมให้ต้องปลูกป่าเพื่อที่ตัวเองจะได้คาร์บอนเครดิต เพื่อเอาคาร์บอนเครดิตไปล้างมลทินให้บรรษัทตัวเองสามารถทำการผลิตโดยปล่อยมลพิษคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณเดิมต่อไปได้ หรือเพิ่มกำลังการผลิตโดยปล่อยมลพิษคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอีกได้
เมื่อถึงเวลานั้นประชาชนจะทิ้งรัฐไว้ข้างหลัง เหตุเพราะว่าการฟื้นฟูเหมืองทองคำที่นี่ไม่สามารถแยกออกจากอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ได้
เมื่อถึงเวลานั้นประชาชนจะทิ้งรัฐไว้ข้างหลัง เหตุเพราะว่าอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตกเป็นของประชาชนโดยสมบูรณ์
ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน
28 กุมภาพันธ์ 2566
ณ ประตูแดงทางขึ้นภูทับฟ้า
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม