1005 08 Apr 2023
20 กุมภาพันธ์ 2566 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้มีการนัดหมายกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ในการประชุมเพื่อหาแนวทางในการจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม บริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ
เวลา 09.30 น. นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในที่ประชุม โดยในวันนี้ได้มีการทบทวนถึงปัญหาของการจัดทำ(ร่าง) แผนการฟื้นฟูของหน่วยงานต่างๆ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผนวกกับเรื่องของสัดส่วนของคณะกรรมการจัดทำร่างดังกล่าว ที่ไม่ให้สัดส่วนของภาคประชาชนอย่างเหมาะสม นำมาสู่การคัดค้าน ร่างแผนการฟื้นฟู ฉบับ กพร.
การประชุมในวันนี้ได้มีมติให้มีการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำและพิจารณาร่างแผนฯ โดยมีสัดส่วนจาก หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นักวิชาการ และสัดส่วนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ โดยคณะทำงานชุดนี้จะร่วมกันในการจัดทำ ร่างแผนการฟื้นฟูฉบับใหม่ ที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาผลกระทบให้ครอบคลุมทั้ง สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ได้มากที่สุด
ในการประชุมดังกล่าวทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้แสดงข้อกังวลต่อการขายทรัพย์สินทอดตลาด ซึ่งเป็นส่วนของโรงงานที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีและโลหะหนักหลายส่วน ที่ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากในการกำจัดสารพิษออกจากพื้นที่เมื่อมีการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินออกไป ด้านนักวิชาการจึงมีการเสนอให้หน่วยงาน กพร. ได้มีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านมลพิษในพื้นที่ทั้งในดินและในน้ำ เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบเมื่อมีการขนย้ายทรัพย์สินว่าจะไม่สร้างผลกระทบเพิ่ม และใช้เป็นข้อมูลในการทำแผนฯต่อไป
ด้านนายอดิทัศน์ วะสีนนท์ รองอธิบดี กพร. ยืนยันรับทุกข้อเสนอ และมีการร่างคำสั่งเพื่อจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน รวมทั้งวางกรอบการทำงานและอำนาจหน้าที่ โดยในที่ประชุมมีการย้ำถึงการทำงานร่วมกันที่ต้องเริ่มจากความไว้วางใจกัน เพื่อให้การจัดทำร่างแผนฯมีการเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ทางตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า วันนี้ชาวบ้านไม่ได้ต้องการความเร็วของการฟื้นฟู มากไปกว่าความรอบคอบในการจัดทำการฟื้นฟู ว่าทำอย่างไรจะสามารถแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนได้อย่างดีที่สุด
จุดเริ่มต้นของการทำงานระหว่างภาครัฐและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจุดเริ่มต้นแห่งการเกิดมลพิษในพื้นที่เกิดมาจากการอนุมัติ/อนุญาตของ กพร. ให้เกิดการทำเหมือง แต่คนที่ต้องแบกรับผลกระทบคือชาวบ้านในพื้นที่ โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดๆเข้ามาให้ความช่วยเหลือ การประชุมร่วมกันในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำงานร่วมกันในอนาคต และสิ่งสำคัญในการร่วมกันทำงานคือการให้การเคารพกันบนความเท่าเทียมและให้ความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการประชาชนเข้ามาให้ครบองค์ประกอบ
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม