1836 05 Oct 2021
ThaiNGO : ที่ผ่านมา ตั้งแต่ รัฐประหาร ( 2557) จาการติดตาม คิดว่า มีความคืบหน้า ในการแก้ไข หรือไม่อย่างไร ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ ทั้งในการนำของ คสช. และรัฐบาล ซึ่งนำโดยคนๆ เดียว
We Watch : we watch ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เริ่มทำงานตั้งแต่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เราพบว่า การทำงานที่ผ่านมาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา และองคาพยพ ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ตรงกันข้าม กลับสร้างปัญหา และขัดขวางการแก้ไขปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ กล่าวคือ เรื่องการเลือกตั้ง เดิมทีการเลือกตั้งไทยมีปัญหาหลายประการ เช่น การซื้อเสียง ส.ส. ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในช่วงการหาเสียง การขาดการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งและสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้ง เป็นต้น แต่ภายหลังการทำงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ปัญหาเหล่านี้ยังคงมีอยู่ และที่สำคัญคือ มีปัญหาใหม่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่กระทบกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนอย่างมาก นั่นคือ มีการตรารัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจของประชาชนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งขององคาพยพของ พลเอก ประยุทธ์ สามารถออกเสียงลงคะแนนร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ ระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบขึ้นใหม่ที่จำกัดทางเลือกของประชาชนในการเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ละเลยมาตรฐานความเป็นตัวแทนด้วยสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบใหม่ (คะแนนเพียง 30,000 ก็ได้เป็น ส.ส.) และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยองคาพยพของตนเอง แทน กกต. ชุดเดิม ทำให้มาตรฐานเรื่องความเป็นอิสระของ กกต. ถูกทำลาย และเป็นพื้นฐานของปัญหาความโปร่งใส่ในการจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนั้น ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี เนื่องจากรัฐบาลใช้กลไก ต่าง ๆ ปิดกั้น ทั้งการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่รับรองอำนาจพิเศษของ คสช. ศาลทหาร รวมถึงกลไกอื่น ๆ ที่ไม่น่าไว้วางใจ
ขณะที่ความพยายามของประชาชนและพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ กลับถูกขัดขวางโดยรัฐบาลด้วยกลไกต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้น
ThaiNGO : ในกรณี ปัญหา...ที่ทำงานอยู่ ปัญหาสำคัญ คือ อะไร และ คุณมีแนวคิด หรือ ทางแก้ไข อย่างไร ทั้งในเชิงนโยบาย เร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว
We Watch : ปัญหาสำคัญของการพัฒนาการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน คือ การบ่อนเซาะอำนาจอธิปไตยของประชาชน ประชาชนถูกลดอำนาจในการกำหนดผู้แทนและรัฐบาล รวมถึงอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้านต่างๆ การบ่อนเซาะนี้ถูกกระทำโดยกลไกที่มิได้มีที่มาจากประชาชน และรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
กลไกที่มิได้มีที่มาจากประชาชน คือ คสช. กระทำการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยหยุดชะงัก ขาดความสม่ำเสมอในการจัดการเลือกตั้ง (ที่ต้องจัดการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี) ออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญให้ตนเองใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ออกแบบการเลือกตั้งให้เสียงของประชาชนสำคัญน้อยลง และแต่งตั้งกลไกทางการเมืองต่างๆ โดยที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน
รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญปี 2560 รับรองให้ คสช. ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กำหนดให้การเลือกตั้งลดทอนอำนาจของประชาชนในการเลือกผู้แทนและรัฐบาล รับรองอำนาจของกลไกทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่าการรับรองอำนาจของประชาชน และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถคุ้มครองอำนาจของประชาชนจากการใช้กฎหมายอื่นๆ ในการจำกัดสิทธิของประชาชน เช่น มีการใช้ พ.ร.บ. การจราจร โดยเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง
แนวทางเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่สำคัญ เช่น ยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง โดยกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งแทนยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ยกเลิกที่มาของกลไกทางการเมืองที่แต่งตั้งโดย คสช. และให้กลไกเหล่านั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งของสภาผู้แทนราษฎรแทน ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และต้องกำหนดให้ชัดเจนถึงการจัดการเลือกตั้งที่เกิดความโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากประชาชน เช่น กำหนดให้ กกต. เปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยแบบเวลาจริง หรือเรียลไทม์ ให้มีการเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยอย่างเป็นทางการ ภายใน 1 สัปดาห์หลังวันเลือกตั้ง ถ่ายทอดสดการนับคะแนนและรวมผลคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งและศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งแต่ละเขต และกำหนดให้แต่ละหน่วยเลือกตั้ง ศูนย์อำนวยการฯ ประจำอำเภอ และศูนย์อำนวยการฯ ประจำเขต มีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นประชาชนทั่วไป ผู้สังเกตการณ์ของพรรคการเมือง และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
ระยะต่อไปคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การถกเถียงในประเด็นสำคัญ การออกแบบ การเลือกตัวแทนในการร่าง และการลงประชามติ
ThaiNGO : มองการว่า การเมือง ภาคประชาชน ควรจะมีบทบาท หรือไม่ อย่างไร ในสถานการณ์นี้ ครับ
We Watch : การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกผู้แทนเพื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรทางการเมืองต่างๆ เช่น รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และอื่นๆ เพื่อใช้อำนาจแทนประชาชนในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันประชาชนสามารถตรวจสอบ ส่งเสริม ไล่ออก/เลือกใหม่ และกระตุ้นการทำงานของผู้แทนและองค์กรเหล่านั้น รวมถึงต่อกลไกต่างๆ ของรัฐได้ ผ่านทั้งในระดับปัจเจกและการรวมกลุ่มกัน หรือเรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” เพื่อทำให้การดำเนินการด้านต่างๆ ตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด
ดังนั้น หากองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชน กฎหมาย และกลไกต่างๆ ของรัฐขัดขวางอำนาจอธิปไตยของประชาชน ดังเช่นในปัจจุบัน จึงต้องมีปฏิบัติการที่แข็งขันของการเมืองภาคประชาชน โดยเริ่มจากการสร้างพลังของการเมืองภาคประชาชน ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูล จัดทำแนวทางในการแก้ไขปัญหา และผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับตัวบุคคล องค์กร และกฎหมาย เช่น หากประชาชนพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หรือขัดขวางอำนาจอธิปไตยของประชาชน ก็ดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลลาออก เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมาทำงานแทน และหากประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชน ประชาชนสามารถผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามกระบวนการประชาธิปไตยที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราเห็นว่า การปกป้องและขยายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นใน “พื้นที่สาธารณะ” ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการถกเถียง/แลกเปลี่ยนนั้น ควรเป็นวาระร่วมกันของทุกปัจเจคและกลุ่มก้อนที่จะประสานความร่วมมือกัน
ภูมินทร์ พาลุสุข (ตึ๋ง) ผู้ประสานงานอาสาสมัคร We Watch
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม