847 02 Aug 2021
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีโพสต์เฟซบุ๊คสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการข่าวปลอมในช่วงโควิด โดยสั่งให้ดำเนินคดีกับผู้ปล่อย Fake News รายใหญ่ ไม่เว้นคนดัง - สื่อมวลชน พร้อมให้ติดตามใกล้ชิดนั้น
แต่ทว่ากลับใช้อำนาจตาม ม.9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน 2548 ออกข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ 11 ที่กำหนดมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร
การใช้อำนาจดังกล่าวทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดดังกล่าว หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนดพร้อมแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
ทว่านายกรัฐมนตรีกลับไม่แคร์โดยออกข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ออกมาสำทับห้ามเสนอข่าวอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอีก พร้อมสั่งให้ กสทช.แจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้มงวดกวดขันกับผู้ใช้บริการ หากกระทำผิดให้ส่งให้ตำรวจดำเนินคดีต่อไป ซึ่งอาจเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.35 วรรคสอง และม.36 ได้
จริงๆแล้วกฎหมายที่ใช้จัดการพวกปล่อยข่าวปลอมหรือการบิดเบือนข่าวนั้น สามารถใช้กฎหมายปกติดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องออกเป็นข้อกำหนดมาให้เป็นที่ขุ่นเคืองของหลายๆฝ่าย อาทิ ใช้ ป.อ. เอาผิดฐานหมิ่นประมาทใน ม.326 โดยมีม.328 เป็นบทเพิ่มโทษที่ใช้กันบ่อยๆ หรือเอาผิดพวกบอกเล่าความเท็จ ให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจตาม ม.384 ก็ยังได้ อีกทั้งยังมี ป.อ.แพ่งฯ ในหมวดของการ "ละเมิด" กำหนดเรื่องการหมิ่นประมาทไว้แล้วใน ม.423 เพื่อเรียกค่าเสียหายได้
นอกจากนั้น ยังมี พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปี 2560 ม.14 ที่ใช้เอาผิดผู้ที่นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเป็นเท็จได้ ซึ่งก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้ อีกทั้ง กสทช. ก็มีกฎหมายของตนเองที่จะเอาผิดสื่อมวลชนที่เสนอข่าวบิดเบือนได้อยู่แล้ว ผ่านกลไกทางปกครองหรือศาล เป็นต้น
ดังนั้น นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องใช้อำนาจตาม ม.9 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯ มาปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชนเลย ทางออกที่เหมาะสมคือปรับปรุงข้อกำหนด ฉบับที่ 27 และ 29 เสียใหม่ โดยตัดทิ้ง ข้อ 11 และทบทวนหรือยกเลิกฉบับที่ 29 ออกไปเสีย ซึ่งไม่ทำให้กระบวนการเอาผิดผู้ที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารของรัฐเสียไป เพราะมีกฎหมายอื่นดูแลอยู่แล้วนั่นเอง นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม