2941 16 Jun 2020
เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน 53 องค์กร 23 บุคคล ยื่นหนังสือเปิดผนึก 7 ข้อถึงคณะผู้จัดการประชุมสหประชาชาติผ่านอินเตอร์เน็ต เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: ปัญหาท้าทายใหม่ แนวทางการดำเนินงานใหม่ เอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน เพื่อจี้รัฐไทยยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิฯโดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ หลังพบถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ พีไอ เผยสถิติ ฟ้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชน 6 ปีอย่างน้อย 440 คดี ระบุเป็นยุทธศาสตร์ของบริษัทเอกชน ตั้งใจฟ้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ หวังสร้างปัญหาให้เกิดในครอบครัว-ชุมชน ด้านทนายความชี้ดำเนินคดีเพื่อให้ปิดปาก ใช้โทษแรงแค่แชร์ทวิตเตอร์ให้กำลังใจ
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน โพรเทคชั่นอินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) และภาคีเครือข่ายอีก 53 หลากหลายองค์กรอาทิเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย
ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะผู้จัดการประชุมสหประชาชาติผ่านอินเตอร์เน็ต เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: ปัญหาท้าทายใหม่ แนวทางการดำเนินงานใหม่ เอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายนนี้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้จัดการประชุมมีการอภิปรายในประเด็นการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมซึ่งเกิดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอจากเวทีนี้
น.ส. ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) กล่าวว่า การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐ หรือหน่วยงานธุรกิจ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และยังเป็นการละเมิดหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่กำหนดว่า “เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบริษัท รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดการเยียวยาที่เข้มแข็งและเหมาะสมต่อผู้เสียหาย” ดังนั้นการพิจารณาของเวทีนี้ ควรมีประเด็นสำคัญอย่างการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) ของภาคธุรกิจในทุกเวทีอภิปรายด้วย โดยสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าหมายการฟ้องคดีเพื่อขัดขวางการดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในท้องถิ่น
พีไอ เผย สถิติ ฟ้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 6 ปี 440 คดี
ตัวแทนจากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 พบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 440 คนถูกดำเนินคดี ซึ่งผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงยากจนในเขตเมืองที่ถูกไล่รื้อจากที่อยู่อาศัย ตามมาด้วยจำเลยที่เป็นผู้หญิงซึ่งทำงานปกป้องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตนเอง โดยผู้ที่เป็นคนฟ้องคดี คือ บริษัทเหมืองแร่ บริษัทปาล์มน้ำมัน และหน่วยงานของรัฐบางแห่ง ทั้งที่รัฐควรจะสนับสนุนและคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยมีท่าทีเพิกเฉยในการที่บริษัทสามารถคุกคามและข่มขู่โดยผ่านกระบวนการยุติธรรมและรูปแบบอื่น ๆ เช่น บริษัทเหมืองทองคำ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง รวมทั้งมีการทำร้ายร่างกายสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด องค์กรชุมชนที่มีแกนนำเป็นผู้หญิงในจังหวัดเลยในปี 2557 ซึ่งบริษัทเหมืองทองคำและหน่วยงานรัฐ ได้ฟ้องดำเนินคดีถึง22 คดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
แฉ บ.เอกชน ตั้งใจเอาผิดผู้หญิง หวังสร้างปมในครอบครัว
น.ส.ปรานม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังพบด้วยว่ามีอีกในหลายพื้นที่ที่มีการดำเนินคดีกับผู้นำชุมชน ในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากการรวมตัวประท้วงอย่างสงบเพื่อต่อต้านโครงการที่สร้างความเสียหายในพื้นที่ของตนเอง โดยคดีที่มักมีการฟ้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้แก่ คดีหมิ่นประมาท ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของบริษัทในการดำเนินคดีกับผู้หญิง เพราะจะส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัว และรวมถึงทั้งชุมชน
"ผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบดูแลครอบครัว เมื่อต้องใช้เวลาต่อสู้คดี ย่อมมีเวลาน้อยลงในการทำงานดูแลครอบครัว นอกจากเป็นการแทรกแซงต่อความจำเป็นในการดูแลครอบครัวแล้ว การที่ผู้หญิงต้องออกไปต่อสู้คดีทำให้ถูกมองว่าเพิกเฉยต่อหน้าที่ของตนเอง กลายเป็นตราบาปอันเป็นเหตุให้มีการมองว่าผู้หญิงไม่ได้ดูแลครอบครัวของตนเองอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่พบในชุมชนชนบท"น.ส.ปรานม กล่าว
ชี้ใช้การดำเนินคดี หวังปิดปาก นักปกป้องสิทธิฯ
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี 2562 กล่าวถึงปัญหาในกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลของนักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคาม ว่า การพิจารณาคดีมักเกิดขึ้นที่ศาลระดับจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกล ทำให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ถูกฟ้องมีภาระที่เพิ่มขึ้น ทั้งการดูแลบุตร การเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการสู้คดี ทำให้เกิดความเครียดและความยากลำบากในชีวิตมากขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงที่จะเป็นการปิดปากให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯไม่สามารถแสดงความเห็นที่สำคัญ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าดีใจที่ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยให้ความสำคัญกับ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) แต่แผนดังกล่าวกลับไม่ได้นำสู่การปฏิบัติ ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้หญิงยังคงมีชีวิตอยู่กับความกลัว ความไม่ปลอดภัย และการถูกคุกคามโดยเฉพาะการคุกคามทางเพศ และการคุกคามทางโซเซียลมีเดีย (Cyber Bullying)ในขณะที่การเยียวยาเป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย การขอความคุ้มครองจากรัฐมักเป็นไปโดยยากลำบาก เพราะแทนที่จะให้ความคุ้มครอง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมักได้รับคำแนะนำให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือหยุดเคลื่อนไหว แผนปฏิบัติการชาติ (NAPs) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงเป็นเพียงสิ่งที่เขียนไว้ในกระดาษ แต่ไม่มีผลทางปฏิบัติ
ทนายความเผยรายชื่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ถูกฟ้องร้อง
ขณะที่ น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ และผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ยังเกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่ทำงานสนับสนุนผู้หญิงและชุมชนระดับรากหญ้า อย่างคุณอังคณาก็เป็น1ใน 22 คน รวมถึง น.ส.พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน , น.ส.ธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่ องค์กรฟอร์ทิไฟท์ ไรทส์ , น.ส.สุธารี วรรณศิริดีต นักวิจัยประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน , นางสุชาณี คลัวเทรอ ผู้สื่อข่าว , น.ส.สุธาสีนี แก้วเหล็กไหล นักสหภาพแรงงาน, น.ส.งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ที่ถูกฟ้องร้องจากบริษัทแห่งเดียวกันนี้
คดีหมิ่นประมาทต่อบุคคลเหล่านี้มีโทษจำคุกระหว่าง 8-42 ปี และมีค่าปรับระหว่าง 8แสน ถึง 4.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำเพียงเล็กน้อย รวมทั้งการแชร์ทวีตให้กำลังใจแรงงานข้ามชาติ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิด้านแรงงานของตน การถูกดำเนินคดีเช่นนี้ เป็นการโจมตีอย่างจงใจและมียุทธศาสตร์ เมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญถูกฟ้อง ย่อมส่งผลให้ผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ เกิดความหวาดกลัว ถือเป็นฟ้องคดีฟ้องปิดปาก
ด้าน น.ส.พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fority Rights ระบุว่า "ในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 และหลังจากนี้ หน่วยงานธุรกิจย่อมมองหาแนวทางที่จะฟื้นฟูกิจการจากภาวะขาดทุน และมุ่งทำกำไรให้เร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จะยิ่งมีความสำคัญ เพราะเป็นบุคคลที่มีบทบาทมากสุดที่จะเน้นให้เห็นปัญหาการละเมิด หรือการคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน เพื่อประกันว่าหน่วยงานธุรกิจจะปฏิบัติตามหลักการและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน แต่การที่รัฐบาลปล่อยให้เกิดการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อไป ย่อมส่งผลให้การทำงานที่สำคัญเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนมีความเสี่ยงอันตราย และดำเนินการได้ยากขึ้น สุดท้ายแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจและสิทธิมนุษยชน"
เครือข่ายชง 7 ข้อเสนอ ช่วยเจรจากับรัฐบาลไทย
จดหมายเปิดผนึกของกว่า 40 องค์กรจากเครือข่ายภาคประชาชนจากชุมชนองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและต่างประเทศและผู้ลงนามบุคคลหลายท่าน กล่าวถึงข้อเสนอว่า ขอให้คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNWG) ใช้โอกาสนี้แสดงจุดยืนที่เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้ปลอดจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและการฟ้องคดีปิดปาก ด้วยการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ไปนี้เพื่อพูดคุยกับรัฐบาลไทย ดังนี้
1. ขอให้ผู้จัดประชุมถามความคืบหน้าจากรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในปี 2561 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการดำเนินคดีเพื่อขัดขวางการปกป้องสิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิทั้งหญิงและชาย
2 .ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การคุ้มครองหรือรับรองการทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นผล แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และมติที่ให้ความคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่มีสถานะเป็นเพียงกฎ ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักในแง่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่สามารถบังคับใช้ได้
3. แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลสามารถยกฟ้องคดี หรือห้ามบุคคลเอกชนฟ้องคดีใหม่ กรณีที่เห็นว่าเป็นการฟ้องคดี “โดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้บทบัญญัติตามมาตรา 161/1 และ 165/2 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี้ให้เป็นผล อีกทั้งในกฎหมายไม่มีการให้นิยามคำว่า “โดยไม่สุจริต” ส่งผลให้ตกเป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งจนถึงปัจจุบัน การร้องขอต่อศาลให้ใช้อำนาจตามมาตรา 161/1 ในคดีต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มักถูกปฏิเสธ
4. ตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีในลักษณะที่เป็นการคุกคาม ข่มขู่ หรือตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรืออื่น ๆ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าการสั่งไม่ฟ้องคดีไม่ได้เป็นอำนาจเฉพาะของอัยการสูงสุด หากมีขั้นตอนปฏิบัติที่ยาวนาน และไม่เป็นที่ชัดเจนว่าที่ผ่านมามีการให้ทรัพยากรและความช่วยเหลืออย่างเพียงพอต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ใช้อำนาจของตนได้อย่างเป็นผลและมีประสิทธิภาพหรือไม่
5. นอกจากนี้ยังไม่มีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติ หรือข้อบทที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสั่งปรับ หรือการลงโทษหน่วยงานธุรกิจที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ฐานคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
6. ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งแม้พิสูจน์ว่าเป็นจริง แต่ไม่ได้เป็นความผิดที่สร้างอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน จึงไม่ควรถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งมีบทลงโทษจำคุก และมีค่าปรับจำนวนมาก การลงโทษเช่นนี้ควรมาใช้เฉพาะกับอาชญากรรมร้ายแรง จึงขอเรียกร้องให้คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่น ๆ สนับสนุนให้รัฐบาลไทยลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท และให้ยกเลิกบทลงโทษทางอาญาใด ๆ กับความผิดฐานหมิ่นประมาท
และ7. เรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำงานในประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ให้ใช้ทรัพยากรและอำนาจที่มีอยู่เพื่อประกันว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที โดยเฉพาะต่อผู้หญิง และให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ดีและมีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงใจ โดยเครือข่ายหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน
///////////////
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 080-970-7492 ,096-913-3983
05 Nov 2024
09 Oct 2024
09 Oct 2024
20 Sep 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
05 Nov 2024
ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม